ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ปี 52 ต้องเน้นหารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมในการประคับประคองผลประกอบการ เนื่องจากการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ปีนี้เติบโตชะลอตามภาวะเศรษฐกิจ เร่งตั้งสำรองเพิ่ม เพราะหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในปี 52 คงต้องเน้นหารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมในการประคับประคองผลประกอบการ เนื่องจากการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้คงเติบโตชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารอาจต้องมีการตั้งสำรองเพิ่ม เพราะหนี้ด้อยคุณภาพ(NPL)มีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และเงินฝากคงชะลอตัวลดลงตามไปด้วย |
. |
ทั้งนี้ การขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 52 คงจะได้รับผลกระทบหลักจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะบั่นทอนความต้องการสินเชื่อจากภาคเอกชน ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์เองก็คงจะเพิ่มความระมัดระวังในการขยายสินเชื่อมากขึ้นด้วย ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาคุณภาพหนี้ที่เพิ่มขึ้น |
. |
ภายใต้เงื่อนไขที่คาดว่าเศรษฐกิจในปี 52 จะขยายตัวได้เพียงประมาณร้อยละ 1.5-2.5 เทียบกับของปี 51 ที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.6 นั้น การขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศในปี 52 ดังกล่าวอาจชะลอลงมาเหลือเพียงร้อยละ 4-6 เท่านั้น เทียบกับที่คาดว่าน่าจะเติบโตประมาณร้อยละ 10.5 ณ สิ้นปี 51(ณ สิ้นเดือน ต.ค.51 สินเชื่อดังกล่าวขยายตัวร้อยละ 13.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) ตามการชะลอตัวของทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย |
. |
ขณะที่ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าจะสร้างข้อจำกัดด้านรายได้ให้กับทั้งธุรกิจและครัวเรือน อันจะบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ และนำมาสู่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ หรือปัญหาเอ็นพีแอลที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากระดับประมาณร้อยละ 6.5-7.0 ณ สิ้นปี 51(ณ สิ้นเดือน ก.ย.51 สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ร้อยละ 6.63) |
. |
จากสภาวะดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยย่อมจะให้น้ำหนักกับการติดตามและบริหารคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะสินเชื่อในพอร์ตของตนเองมากขึ้น โดยอาจปรับกลยุทธ์ให้มีลักษณะเชิงรุกมากขึ้น เช่น การเตือน หรือติดต่อไปยังลูกค้าที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ การให้ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าติดตามสถานการณ์ด้านการเงิน หรือกระแสเงินสดของธุรกิจลูกค้าอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น รวมถึงการให้คำปรึกษาเพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจของลูกค้า เป็นต้น |
. |
นอกจากนี้ แม้การประเมินความสามารถในการตั้งรับกับปัญหาหนี้เสียจากสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเอ็นพีแอล(Loan Loss Coverage) บ่งชี้ในเบื้องต้นว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความสามารถในการรองรับปัญหาหนี้เสียที่ดีขึ้น โดยสัดส่วนดังกล่าว ณ สิ้นเดือน ก.ย.51 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ณ สิ้นปี 50 มาที่ร้อยละ 73 แต่การพิจารณารายธนาคารยังพบว่ามีความแตกต่างของสัดส่วนดังกล่าวค่อนข้างมาก |
. |
โดยมีธนาคารพาณิชย์ 4 แห่งที่มีสัดส่วนดังกล่าวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบ ขณะที่สัดส่วนที่ต่ำที่สุดนั้นมีอยู่ประมาณร้อยละ 40 เท่านั้น ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์ไทยบางแห่งยังคงมีความจำเป็นในการกันสำรองเพิ่มเติมอยู่ในช่วงระหว่างปี 2552 อันจะเป็นปัจจัยที่กดดันผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปีนี้ได้ |
. |
ขณะที่ความจำเป็นในการแข่งขันระดมเงินฝากระหว่างธนาคารพาณิชย์ในปี 52 คงจะลดความรุนแรงลง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา หลังจากที่คาดว่าการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะชะลอตัวลง กอปรกับ การบริหารสภาพคล่องเผชิญข้อจำกัดมากขึ้นดังที่กล่าวไปแล้ว ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะมีแรงจูงใจในการระดมเงินฝากลดลง นั่นหมายความว่า จุดประสงค์หลักของการระดมเงินฝากในปี 2552 นี้ จึงน่าจะเน้นไปที่การรักษาฐานลูกค้าเงินฝาก ควบคู่กับการปรับโครงสร้างเงินทุนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มากกว่าการเร่งระดมทุนเพื่อรุกตลาดสินเชื่อเหมือนในช่วงต้นปี 2551 |
. |
อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ยังคงมีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ผู้มีเงินออมบางส่วนอาจยังเลือกที่จะฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อเหตุผลด้านสภาพคล่อง ประกอบกับ คาดว่าจะมีเงินออมจากกองทุนรวมที่ลงทุนในพันธบัตรประเทศเกาหลีใต้ที่คงจะครบกำหนด โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อีกจำนวนนับแสนล้านบาท ซึ่งเงินออมดังกล่าวบางส่วนอาจไหลกลับมาเป็นเงินฝาก หรือเพิ่มสภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ได้ ท่ามกลางช่องทางการลงทุนที่ค่อนข้างจำกัดและความไม่แน่นอนในการลงทุน อาทิ ในตลาดหุ้น ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง |
. |
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า เงินฝากจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2552 แต่ด้วยอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากประมาณร้อยละ 7.5 ณ สิ้นปี 2551 มาที่ประมาณร้อยละ 3-6 |
. |
นอกจากนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 2552 ถูกคาดหมายว่าจะปรับตัวลดลงจากประมาณร้อยละ 3.66 ในปี 2551 มาที่ประมาณร้อยละ 3.48-3.53 ซึ่งคิดเป็นการลดลงในช่วงประมาณร้อยละ 0.13-0.18 โดยแม้ในระหว่างปี ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของระบบธนาคารพาณิชย์จะทยอยปรับลดลงจากการคาดการณ์ว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเพิ่มเติม ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย |
. |
ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 1.5-1.75 แต่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยก็น่าจะเผชิญปัจจัยลบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม(แม้คาดว่าจะมีการปรับลดในสัดส่วนที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ตาม) อัตราผลตอบแทนจากพอร์ตสินทรัพย์สภาพคล่องที่ยังจะปรับตัวลดลงอีกตามแนวโน้มดอกเบี้ย การขยายสินเชื่อที่คาดว่าจะชะลอตัวลง และเอ็นพีแอลที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น |