เนื้อหาวันที่ : 2009-01-13 09:31:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1227 views

คมนาคม เล็งลดค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายภาคเอกชนหนุนฟื้นขนส่งทางอากาศ

สายการบินขอลดค่าธรรมเนียมการให้บริการระบบไฟฟ้าบนเครื่องบินลง 30% โอดหลังปิดสนามบินผู้โดยสารหดไปกว่าครึ่ง วอนช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อง่ายต่อการแข่งขัน เร่งฟื้นฟูและพัฒนาเครือข่ายการขนส่งทางอากาศเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินพลเรือน

สายการบินขอลดค่าธรรมเนียมการให้บริการระบบไฟฟ้าบนเครื่องบินลง 30% โอดหลังปิดสนามบินผู้โดยสารหดไปกว่าครึ่ง วอนช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อง่ายต่อการแข่งขัน เร่งฟื้นฟูและพัฒนาเครือข่ายการขนส่งทางอากาศเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินพลเรือน

.

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "เรื่องการฟื้นฟูและพัฒนาเครือข่ายการขนส่งทางอากาศเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินพลเรือนในภูมิภาค" ว่า ที่ประชุมได้รับฟังปัญหาของผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งธุรกิจสายการบินและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนกับผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

.

ทั้งนี้ มาตรการระยะสั้นจะมีการช่วยเหลือลดค่าใข้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ เช่น ลดค่าธรรมเนียมการบิน, Landing Fee  หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ

.

ส่วนแผนระยะยาว ภาครัฐจะดูกฎระเบียบเพื่อปรับปรุงและสนับสนุนให้กับสายการบิน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เกี่ยวข้องมีความกังวลเรื่องการปิดสนามบินซึ่งต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการสำรองกรณีมีการปิดสนามบินเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งรัฐจะนำกลับไปเป็นการบ้านเพื่อกำหนดออกมาเป็นนโยบายต่อไปในอนาคต

.

ขณะที่ นายชัยวัฒน์ นวราช ประธานคณะกรรมการการดำเนินงานธุรกิจการบิน กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สายการบินต้องการคือ ความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีก รวมทั้งได้เสนอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือด้านการเงิน และช่วยลดต้นทุนของสายการบิน

.

โดยแบ่งเป็นมาตรการระยะเร่งด่วน คือ ขอลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงและการจอดอากาศยานลง 50% จากเดิมที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) หรือ ทอท.ปรับลดลงให้ 5%, ขอลดค่าเช่าพื้นที่ทั้งในอาคารผู้โดยสารและพื้นที่คลังสินค้าลง 30%, ขอลดค่าธรรมเนียมการนำร่องอากาศยานในส่วนที่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด(บวท.) จัดเก็บในอัตรา 5% และขอขยายเวลาการผ่อนชำระเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็น 60 วัน จากเดิม 30 วัน ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้จะขอใช้ระหว่างเดือน ม.ค.-ต.ค.52

.

ส่วนมาตรการระยะยาวที่จะเสนอให้รัฐบาลช่วย ได้แก่ ขอลดค่าธรรมเนียมการให้บริการระบบไฟฟ้าบนเครื่องบินลง 30%, ขอยกเลิกการจัดพิมพ์เอกสารผ่านเข้าเมืองที่ปัจจุบันสายการบินรับผิดชอบค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 30 ล้านบาท,

.

ขอให้ ทอท. รับผิดชอบค่าธรรมเนียมตรวจพาหนะนอกเวลาราชการแทนสายการบิน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจัดเก็บในอัตราเที่ยวบินละ 200 บาท  และผู้โดยสารคนละ 10 บาท โดยให้ ทอท.หักค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากค่าธรรมเนียมการใช้ท่าอากาศยานที่ ทอท.จัดเก็บสำหรับผู้โดยสารต่างประเทศ 700 บาทต่อคน, ทอท.จะต้องเร่งแก้ปัญหาพื้นผิวทางขับเครื่องบิน รถเข็นสัมภาระ รวมทั้งเร่งขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 และ ทอท.ต้องไม่ปรับขึ้นค่าบริการต่างๆ โดยที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาต้า)

.

ด้าน นายสมบัติ เดชาพานิชกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ กล่าวว่า ผู้โดยสารที่ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลดลงต่อเนื่อง โดยเริ่มลดลงตั้งแต่เดือน ส.ค.51 และหลังจากเกิดเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิผู้โดยสารในเดือน พ.ย.51 ลดลง 20% และเดือน ธ.ค.51 ลดลง 40% ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบร้านค้าในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ลดลง ขณะเดียวกันยังทำให้ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยเสียโอกาสในการประกอบธุรกิจ ทำให้การคืนทุนในการประกอบธุรกิจน้อยลง ดังนั้นจึงต้องขอให้ ทอท.ขยายเวลาสัมปทานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการออกไปอีก 2 ปี

.

ขณะเดียวกันยังขอให้ชะลอการเพิ่มผลตอบแทนรายได้ขั้นต่ำที่ ทอท.จะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ ซึ่งตามสัญญาสัมปทานจะต้องมีการปรับเพิ่มผลตอบแทนรายได้ขั้นต่ำทุกปีๆ ละ 10% แต่เนื่องจากปีนี้ผู้โดยสารลดลง หากมีการปรับเพิ่มผลตอบแทนอีกจะทำให้เกิดความไม่สมดุล และทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยประสบปัญหาขาดทุน พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้ ทอท.บริหารจัดการหลุมจอดให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพบว่ารายได้ของร้านค้าที่อยู่ด้านทิศตะวันออก มีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเพียง 35% ซึ่งถือว่าน้อยว่าร้านค้าฝั่งตะวันตกที่มีสินค้าเหมือนกับร้านค้าฝั่งตะวันออกทุกประการ

.

ส่วนนายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้อำนวยการใหญ่โครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บมจ.การบินไทย(THAI) กล่าวว่า การบินไทยสนับสนุนนโยบายการบริหารท่าอากาศยานเดียว เพราะทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการของการบินไทยลดลง เนื่องจากการใช้ 2 ท่าอากาศยานเช่นในปัจจุบันทำให้การบินไทยมีค่าใช้จ่ายมากกว่าสายการบินอื่นถึง 2 เท่า ขณะเดียวกันหากเกิดผลกระทบใดๆ ในประเทศไทย การบินไทยจะเสียหายมากกว่าสายการบินอื่นถึง 10 เท่า เพราะการบินไทยมีเที่ยวบินมากที่สุด 

.

"การใช้ท่าอากาศยานเดียวจะทำให้ค่าใช้จ่ายของการบินไทยลดลงอย่างมาก รวมทั้งยังง่ายต่อการแข่งขันและการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค เพราะปัจจัยในการแข่งขันนั้นส่วนหนึ่งก็คือความรวดเร็วในการต่อเครื่องบิน" นายโชคชัย กล่าว