เนื้อหาวันที่ : 2009-01-12 10:23:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2372 views

ปางอุ๋ง....เมื่อสายหมอกหยอกสายน้ำ

ยามเช้าริมทะเลสาบกว้างใหญ่ท่ามกลางทิวเขาสูง สายหมอกขาวลอยอ้อยอิ่งเหนือผิวน้ำ ทิวสนสะบัดใบตามสายลมเย็นจากขุนเขาที่พัดผ่าน

.

ยามเช้าริมทะเลสาบกว้างใหญ่ท่ามกลางทิวเขาสูง สายหมอกขาวลอยอ้อยอิ่งเหนือผิวน้ำ ทิวสนสะบัดใบตามสายลมเย็นจากขุนเขาที่พัดผ่าน ผู้คนจากแดนไกลพากันเดินตามทางเดินลาดซีเมนต์ไม่กว้างนักที่ตัดลัดเลาะริมทะเลสาบเพื่อดื่มด่ำกับอากาศบริสุทธิ์ และอิ่มเอมกับธรรมชาติยามเช้าที่ไม่สามารถหาได้ในสังคมเมือง บ้างก็หยุดยืนเพื่อบันทึกภาพบรรยากาศรอบกายเก็บไว้ระลึกถึงในวันข้างหน้า รอยยิ้มและเสียงหัวเราะท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นมีให้เห็นอยู่ทั่วไป บรรยากาศสวยงามแบบนี้มีให้เห็นได้ที่นี่ ปางอุ๋ง สุดยอดของทะเลสาบอันดับหนึ่งของเมืองไทยที่นักท่องเที่ยวใฝ่ฝันว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปเยือนให้ได้

.

ปางอุ๋ง ปัจจุบันมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ศูนย์โครงการจัดหมู่บ้านรวมไทย ตามพระราชดำริ ชื่อเดิมคือ โครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า บ้านรวมไทย เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ของบ้านรวมไทย แต่นักท่องเที่ยวมักจะคุ้ยเคยกับชื่อ ปางอุ๋ง มากกว่า

.

ว่า ปาง หมายถึงหมู่บ้าน ชุมชน ส่วน อุ๋ง หมายถึงอ่างเก็บน้ำ ด้วยเหตุนี้ ปางอุ๋ง จึงหมายถึง ชุมชนริมอ่างเก็บน้ำ หมู่บ้านรวมไทยประกอบด้วยชาวไทยภูเขาหลากหลายเผ่าทั้ง กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ ปะโอ ม้ง มีการทำสวนทำไร่ โดยเฉพาะไร่กาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่นี่ถือว่าขึ้นชื่อทีเดียว หลาย ๆ คนเมื่อมาพักที่นี่ก็จะถือโอกาสหากาแฟสดจิบคู่ไปด้วย หรือใครอยากจะไปดูการเพาะเลี้ยงกบภูเขาหรือเขียดแลวที่นี่ก็มีให้ดู

.

เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม เนื่องจากชาวบ้านที่นี่ปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอยเป็นหลัก จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเยือนในปี พ.ศ. 2522 พระองค์ท่านได้มีพระราชดำรัสให้จัดทำโครงการพระราชดำริขึ้น โดยอาศัยความสมัครใจของชาวบ้าน และให้ทหารเป็นผู้ดูแลเพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นชายแดน เริ่มแรกมีผู้สมัครใจเข้าโครงการ 23 ครัวเรือน เท่านั้น แต่ต่อ ๆ มาเมื่อชาวบ้านเห็นเพื่อนบ้านที่เข้าร่วมโครงการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการเข้าร่วม ก็มาเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น

.

โครงการปางอุ๋งนั้นเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับโครงการมากขึ้น ทั้งการเป็นผู้ดูแลบ้านพัก ดูแลสวน ขายกาแฟ สินค้าทางการเกษตร ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะมีนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวจะมีนักท่องเที่ยวมาพักที่ปางอุ๋งกันเป็นจำนวนมาก เพื่อชมสายหมอกและสัมผัสกับอากาศหนาวเหนือทะเลสาบแห่งนี้

.

รถเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวเขาหลากเผ่า ชิมกาแฟสดจากสวน ชมธรรมชาติและ ทัศนียภาพของป่าสนสองใบ สนสามใบล้อมรอบอ่างเก็บน้ำอันกว้างใหญ่ และโอบล้อมด้วยขุนเขาที่เขียวชอุ่ม

.

.

การเดินทางสู่ปางอุ๋ง

ออกจากเมืองแม่ฮ่องสอนไปตามเส้นทาง แม่ฮ่องสอน-ปางมะผ้า-ปาย ไปสัก 10 กม. จะมีป้ายบอกว่าเลี้ยวซ้ายไป บ้านรวมไทย น้ำตกผาเสื่อ พระตำหนักปางตอง ซึ่งอยู่บนเส้นทางเดียวกัน เดินทางขึ้นไปเรื่อย ๆ ผ่านน้ำตกผาเสื่อ ผ่านพระตำหนักปางตอง สังเกตุทางแยกซ้ายมือ จะมีป้ายเล็ก ๆ เขียนบอกว่าไป "บ้านรวมไทย" ให้เลี้ยวซ้ายตรงไปจนถึงหมู่บ้านห้วยมะเขือส้ม ซึ่งจะมีทางแยกรูปตัว T เลี้ยวขวาตรงแยก ตรงไปเรื่อย ๆ ก็จะถึง บ้านรวมไทยหรือ ปางอุ๋ง รวมระยะทางจากแม่ฮ่องสอนถึงปางอุ๋ง ประมาณ 44 กิโลเมตร

.

เส้นทางจากแม่ฮ่องสอน-ปางอุ๋งนอกจากเส้นทางจะคดโค้งขึ้นเขาชันจัด ๆ และถนนแคบมาก ๆ แล้ว ยังมีหมอกเป็นอุปสรรคอีกต่างหาก หากไม่ชำนาญเส้นทางควรเดินทางในช่วงกลางวันจะปลอดภัยกว่ามากครับ

.

กรณีที่ไม่ได้ขับรถไปเอง นั่งรถทัวร์ กทม.-แม่ฮ่องสอน จากนั้นก็ไปที่หน้าตลาด ถามหาคิวรถปางอุ๋ง รถสองแถวประจำทางขึ้นไปยังปางอุ๋ง (บ้านรวมไทย) เป็นสาย แม่ฮ่องสอน-ห้วยมะเขือส้ม 

- เที่ยวไป    9.00 น. และ 14.00 น.
- เที่ยวกลับ
 6.00 น. และ11.00 น.
.
ที่พัก

สำหรับที่พักภายใน โครงการพระราชดำริ ปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) มีบริการบ้านพักเป็นหลังและบริการจุดกางเต็นท์โดยมีเต็นท์ให้เช่าหรือนักท่องเที่ยวเตรียมไปเอง ติดต่อ โทร. 053-692056

.

นอกจากนี้ยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านรวมไทยอย่างใกล้ชิด ทานอาหารพื้นบ้านจิบกาแฟสดยามเช้า ชมชาวบ้านเก็บเมล็ดกาแฟสดและพืชผลทางการเกษตร ติดต่อที่พักได้ที่บ้านรวมไทยครับ

.
บันทึกเดินทาง

ปี 2550 โครงการพระราชดำริ ปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) มีนโยบายที่จะจำกัดนักท่องเที่ยวที่เข้าพัก โดยกำหนดให้สามารถกางเต็นท์ได้คืนละไม่เกิน 80 หลังครับ ที่บ้านรวมไทย หรือ ปางอุ๋ง แห่งนี้เกิดขึ้นได้โดยพระประสงค์ของ องค์ราชินีของเราที่ทรงต้องการให้ "ชาวปางอุ๋ง มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข ตามวิถีของตนเอง

.

เนื่องเพราะวิถีของชาวเขา ทั้งหลายนั้นไม่มีความฟุ้งเฟ้อ ไม่มีความอยากได้อยากมีในวัตถุ มีแต่ความสงบและความสุขตามอัตภาพ การเข้าพักในปางอุ๋ง ซึ่งเป็นเขตพื้นที่พระราชทานนั้น ควรจะเคารพในพระประสงค์ของพระองค์ และนำตัวเองเข้าสัมผัส "วิถี" ของเขา และกรุณาอย่าสอบถามมากความกับ ไฟฟ้า หรือว่า น้ำอุ่น หรือแม้กระทั่ง ทีวีซึ่งเป็นวิถีคนเมือง ภายในปางอุ๋งอีกเลย

.

และที่ลืมไม่ได้กับการท่องเที่ยวทุกครั้ง เก็บมาแต่ภาพถ่าย ทิ้งไว้แต่รอยเท้า ขอให้ทุก ๆ คนสนุกและประทับใจกับการท่องเที่ยวทุก ๆ ทริปครับ

.

.

เรื่องและภาพโดย : ลุงฅิต {http://kitphoto.multiply.com}