เนื้อหาวันที่ : 2009-01-07 23:18:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1117 views

อภิสิทธิ์ แบ่ง 9 กลุ่ม ศก.จัดสรรงบกลางปี-ต่ออายุ 6 มาตรการฯอีก 6 เดือน

คณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจวันนี้มีมติจะจัดสรรงบกลางปี 52 ราว 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ครอบคลุม 9 กลุ่ม ทั้งกลุ่มแรงงาน, ผู้สูงอายุ, เกษตรกร, ภาคธุรกิจเอกชน, โครงการเรียนฟรี, ผู้มีรายได้น้อย, ภาครัฐ, ผู้มีรายได้ประจำ และการประชาสัมพันธ์ประเทศอย่างบูรณาการ

คณะกรรมการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจวันนี้มีมติจะจัดสรรงบกลางปี 52 ราว 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ครอบคลุม 9 กลุ่ม ทั้งกลุ่มแรงงาน, ผู้สูงอายุ, เกษตรกร, ภาคธุรกิจเอกชน, โครงการเรียนฟรี, ผู้มีรายได้น้อย, ภาครัฐ, ผู้มีรายได้ประจำ และการประชาสัมพันธ์ประเทศอย่างบูรณาการ โดยคาดว่างบประมาณดังกล่าวจะเริ่มใช้จ่ายได้อย่างช้าที่สุดในวันที่ 1 เม.ย.52

 .

พร้อมกันนั้นยังให้ต่ออายุมาตรการส่วนใหญ่ใน "6 มาตรการ 6 เดือน" ออกไปอีก 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.52 ยกเว้นการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่จะยกเลิกทันทีที่สิ้นสุดมาตรการในช่วงแรก(31 ม.ค.52) แต่ให้หาแนวทางดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในทันทีเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ขณะที่จะมีการปรับปรุงมาตรการลดรายจ่าย ทั้งค่าน้ำค่าไฟ ค่ารถเมล์ ค่ารถไฟ เพื่อเน้นไปที่ผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง

 .

"(คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ)ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่ามี 7 กลุ่ม แต่นายกรัฐมนตรีอยากให้เพิ่มอีก 2 กลุ่ม...ช่วงวิกฤติเศรษฐกิตมีเพียงตำราเดียวเท่านั้นที่จะทำอย่างไรให้เงินถึงมือประชาชนเร็วที่สุด" นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

 .

โดยในภาคการเกษตรจะเข้าไปดูแลเรื่องการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ซึ่งมีงบประมาณเหลือจากรัฐบาลก่อนราว 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่ใช้ในโครงการรับจำนำพืชผลเกษตร ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลนี้มีแนวคิดจะขยายประเภทการรับจำนำพืชผลเกษตรให้ครอบคลุมไปถึงยางพารา และปาล์มน้ำมันด้วย ส่วนโครงการเรียนฟรีจะมีงบประมาณราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งสามารถช่วยเหลือเด็กนักเรียนได้ราว 13 ล้านคน

 .

สำหรับการต่ออายุ 6 มาตรการฯ จะเริ่มดำเนินการต่อเนื่องไปได้ทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.52 แต่จะยกเลิกการลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งมีมาตรการดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนค่าไฟฟ้าฟรีนั้นจะปรับลดปริมาณมาที่ 80-100 ยูนิต และรถโดยสารประจำทางจะให้บริการฟรีตามเดิม ทั้งนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดเรื่องการปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล  

 .

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 9 ม.ค.นี้ ส่วนการประชาสัมพันธ์ประเทศอย่างบูรณาการนั้น จะให้กระทรวงการต่างประเทศ ประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และบีโอไอ เพื่อดำเนินการร่วมกัน

 .

ทั้งนี้ คาดว่า มาตรการต่างๆ จะสามารถเริ่มทยอยดำเนินการได้ทันที และอย่างช้าไม่เกินวันที่ 1 เม.ย.52 โดยจะใช้งบกลางมาใช้ไปพลางก่อน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำรายละเอียดมาเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

 .

ด้านนายพุฒิพงษ์ ปุณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือภาคเอกชนซึ่งได้หารือในที่ประชุมครม.เศรษฐกิจวันนี้ จะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องผ่านการให้สินเชื่อ โดยที่รัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยแทนภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว และกลุ่มธุรกิจ SMEs ในเบื้องต้นที่ 2-3%

 .

ส่วนภาคการส่งออกนั้น รัฐบาลจะให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) ค้ำประกันเงินกู้ด้านการส่งออก รวมถึงธุรกิจ SMES จะมีการค้ำประกันเงินกู้ให้ด้วย แต่คงไม่ใช่รูปแบบการให้สินเชื่อ Soft Loan เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย

 .

พร้อมกันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่มีนักลงทุนที่เข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่มีวงเงินลงทุนสูงมากแต่กลับพบว่าการลงทุนจริงยังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งจะมีการวางแนวทางเพื่อเอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนโดยตรง ทั้งที่มีการลงทุนแล้วและเตรียมที่จะเข้ามาลงทุน

 .

ส่วนภาคแรงงานนั้นรัฐบาลจะจัดงบประมาณเข้าไปช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานและบัณฑิตจบใหม่ภายใน 6 เดือน โดยวางเป้าการช่วยเหลือไว้ที่ 5 แสนคน โดยคาดว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 ม.ค.จะมีรายละเอียดของการจัดสรรงบกลางปี 1 แสนล้านบาทที่แยกมาตรการความช่วยเหลือออกเป็น 9 กลุ่ม มีเป้าหมายการใช้งบประมาณภายใน 3-6 เดือน