โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป เตรียมระงับการผลิตในโรงงานทุกแห่งในญี่ปุ่นเป็นเวลา 11 วันในเดือนก.พ.และ มี.ค. เนื่องจากความต้องการรถยนต์โตโยต้าทั่วโลกร่วงลงอย่างหนัก
โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป เตรียมระงับการผลิตในโรงงานทุกแห่งในญี่ปุ่นเป็นเวลา 11 วันในเดือนก.พ.และ มี.ค. เนื่องจากความต้องการรถยนต์โตโยต้าทั่วโลกร่วงลงอย่างหนัก |
. |
เมื่อปีที่แล้วทางบริษัทเผยว่าจะระงับการผลิตในโรงงาน 12 แห่ง เป็นเวลาเพียง 3 วันในเดือนม.ค. อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาหนักกดดันให้ทางบริษัทต้องขยายเวลาในการปิดโรงงาน โดยทางบริษัทจะระงับการผลิต 6 วันในเดือนก.พ. และอีก 5 วันในเดือนมี.ค. |
. |
"เรากำลังรับมือกับยอดขายที่ลดลงทั่วโลก" ฮิเดอากิ ฮอมมะ โฆษกของโตโยต้า กล่าว เมื่อเดือนที่แล้วโตโยต้าประกาศว่า ทางบริษัทกำลังเข้าสู่ภาวะขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ด้วยมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านเยน (1.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนมี.ค.2552 |
. |
โตโยต้าคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีกำไรสุทธิเพียง 5 หมื่นล้านเยน (555 ล้านดอลลาร์) ในปีงบการเงินปัจจุบัน ลดลงจาก 1.7 ล้านล้านเยนในปีงบการเงินก่อนหน้า ทั้งนี้ โรงงานโตโยต้าในญี่ปุ่นมีทั้งหมด 12 แห่ง เป็นโรงงานผลิตยานยนต์ 4 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นโรงงานผลิตเครื่องยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สำนักข่าวเอพีรายงาน |
. |
ยอดขายรถในสหรัฐเดือนธ.ค.ทรุดฮวบ 36% ฉุดยอดขายโดยรวมดิ่งหนักในรอบ 16 ปี |
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ฉุดรั้งความต้องการของผู้บริโภคได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ของสหรัฐประจำเดือนธ.ค. 2551 จนดิ่งร่วงลง 36% และฉุดรั้งปริมาณยอดขายรถยนต์โดยรวมตลอดทั้งปีจนร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี |
. |
โดยยอดขายโดยรวมของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) ในปี 2551 ร่วงลง 31% อยู่ที่ 2.95 ล้านคัน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบ 49 ปี เช่นเดียวกับยอดขายของฟอร์ดที่ดิ่งลง 32% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 47 ปี และไครสเลอร์ แอลแอลซี มียอดขายที่ตกลง 53% ขณะที่โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และฮอนด้า มอเตอร์ โค ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นรายงานยอดขายในสหรัฐประจำปี 2551 ที่ร่วงลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางปี 2533 ส่วนนิสสัน มอเตอร์ก็มียอดขายที่ร่วงลง 31% เช่นกัน |
. |
สเตฟานี บรินเลย์ นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษาออโต้แปซิฟิก อิงค์ ในรัฐมิชิแกนกล่าวผ่านทางบลูมเบิร์กว่า ปี 2551 นับเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยมีมา และในปีนี้จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ราคาน้ำมันหรือตลาดสินเชื่อ แต่อยู่ที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่เงินกู้ของรัฐบาลที่ออกให้กับจีเอ็มและไครสเลอร์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2551 ไม่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดยานยนต์ได้ อีกทั้งยังไม่ช่วยคลายวิกฤตสินเชื่อตึงตัวในตลาดยานยนต์รายใหญ่ของโลกได้ด้วย |
. |
โตโยต้ามียอดส่งมอบรถยนต์ในสหรัฐดิ่งลง 37% โดยยอดขายรถยนต์ไฮบริดจ์รุ่น Prius ซึ่งเป็นรุ่นที่ขายดีในสหรัฐนั้นทรุดฮวบลง 45% ส่วนรถหรูรุ่นเล็กซัสร่วงลง 32% ขณะที่ฮอนด้า ค่ายรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่นมียอดขายในสหรัฐที่ลดลง 35% ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐโดยรวมตลอดทั้งปี 2551 อยู่ที่ 13.2 ล้านคัน ซึ่งลดลงจากยอดขายในปี 2550 ที่ระดับ 16.1 ล้านคัน |