เนื้อหาวันที่ : 2009-01-05 12:30:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2022 views

เวียดนาม -ญี่ปุ่น EPA: ความตกลงการค้าเสรีสองฝ่ายฉบับแรกของเวียดนาม

เมื่อปี 2546 เวียดนามและญี่ปุ่นได้ลงนามในความตกลงการเปิดเสรีการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุน ทำให้การค้าระหว่างสองประเทศได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 19% ต่อปี และญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเวียดนาม

เมื่อปี 2546 เวียดนามและญี่ปุ่นได้ลงนามในความตกลงการเปิดเสรีการส่งเสริมและการคุ้มครองการลงทุน ( Agreement for iberalization, Promotion and Protection of  Investment ) ทำให้การค้าระหว่างสองประเทศได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 19% ต่อปี และญี่ปุ่นกลายเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของเวียดนาม

.

 

.

ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2549 นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ( นายเหวียน เติ๊น  หยุม) ได้เยือนประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกและนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศตกลงที่จะยกระดับความสัมพันธ์ความตกลงปี 2546 มาเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อความผาสุกและความมั่งคั่งในเอเชีย ( Strategic Partnership for Peace and Prosperity in Asia ) โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าทั้งสองฝ่ายเป็น 15 พันล้าน USD   ภายในปี  2553

 .

การเจรจาเริ่มต้นเมื่อเดือนมกราคม 2550 ใช้เวลาเจรจา 9 รอบก็สามารถสรุปผลการเจรจาได้ในเดือนตุลาคม 2551 และลงนามใน  ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเวียดนาม-ญี่ปุ่น ( - Japan Economic Partnership Agreement: VJEPA) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นโอกาสที่ทั้งสองประเทศได้ฉลองครบรอบ 35 ปีของความสัมพันธ์ทางการทูต ( 21 กันยายน 251621 กันยายน 2551 )

 .

เดิมทั้งสองประเทศวางแผนจะลงนามใน VJEPA ระหว่างการประชุม ASEAN Summit ( 15- 18  ธันวาคม 2551) ณ จังหวัดเชียงใหม่ประเทศไทย แต่เมื่อการประชุมครั้งนั้นได้เลื่อนออกไปจึงได้เปลี่ยนวันลงนามเป็นวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ณ กรุงโตเกียว  ประเทศญี่ปุ่น แทน

 .

คาดว่า VJEPA ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ( นายฮิโรฟูมิ นากาโซเน ) และรัฐมนตรีกระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ( นายฟู๊ ฮวี ฮว่าง) จะมีผลในต้นปี 2552 *ภายหลังที่ทั้งสองประเทศได้ผ่านกระบวนการให้สัตยาบัน (ratification) ในประเทศสมบูรณ์แล้ว และจะทำให้ VJEPA เป็นความตกลงการค้าเสรีสองฝ่ายฉบับแรกของเวียดนาม  ซึ่งก่อนหน้านั้นเวียดนามได้ร่วมกับอาเซียนลงนามในความตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 และเริ่มมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551

.

* แต่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเวียดนาม ( นายมิตซูโอะ ซากามะ) ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Vietnam News ว่าคาดว่ามีผลกลางปี 2552 เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้เวลาในการให้สัตยาบันความตกลง

 .
ขอบเขตของ VJEPA

VJEPA เป็นความตกลงสองฝ่ายที่มีความครอบคลุมอย่างกว้างขวางและสอดคล้องกับกฏระเบียบของ WTO โดยมุ่งหวังส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเวียดนาม ญี่ปุ่นในสาขาต่าง ๆ  ได้แก่ การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ กระบวนการทางศุลกากรทรัพย์สินทางปัญญาการปรับปรุง สภาพบรรยากาศทางธุรกิจ  นโยบายการแข่งขันทางการค้า มาตรการสุขอนามัย (SPS) และอื่นๆ  

 .

หลังการให้สัตยาบันแล้ว VJEPA จะมีผลให้ 90% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งสองไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และทั้งสองประเทศต้องเริ่มดำเนินการปรับปรุงบรรยากาศทางกฏหมาย บรรยากาศทางธุรกิจและสิ่งอำนวยความสะดวกด้าน software ตามแผนการทันทีเพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับการเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างสองประเทศ

 .

VJEPA ประกอบด้วยข้อผูกพันการเปิดเสรีและความร่วมมือทั้งด้านการเกษตร อุตสาหกรรม บริการ การค้าและการลงทุน การจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ สิ่งแวดล้อมและการขนส่ง

 .
ความร่วมมือ

ในระยะแรกของความตกลงญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือเวียดนามหลายโครงการอาทิ การฝึก / อบรมนางพยาบาลเวียดนามในประเทศญี่ปุ่น การพัฒนาระบบการประเมินผลทางอาชีพ การจัดตั้งกลไกการหารือสำหรับผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มของทั้งสองประเทศ การพัฒนาการส่งเสริมอุตสาหกรรมและการปรับปรุงระบบการจัดทำมาตรฐาน ( Standardization  system)

 .
การเปิดเสรีการค้า

VJEPA  จะมีผลให้ญี่ปุ่นยกเลิกภาษีนำเข้าจำนวน 86% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่เวียดนามส่งไปจำหน่ายในญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นการลดภาษีมากที่สุดที่ญี่ปุ่นได้เสนอต่อประเทศอาเซียนและ97% ของสินค้าอุตสาหกรรมได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อส่งออกไปญี่ปุ่นส่วนสินค้าญี่ปุ่น เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิค และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น จะได้รับการอำนวยความสะดวกเมื่อเข้ามาในตลาดเวียดนาม

 .

ในบรรดาผลผลิตการเกษตรของเวียดนาม 30 รายการที่มีมูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่นสูงสุดมีจำนวน 23 รายการที่จะได้ประโยชน์จากการที่ญี่ปุ่นลดภาษีเป็น 0% ภายในเวลา 10 ปี ส่วนสินค้าอาหาร คือ ปู กุ้ง ทุเรียน ลิ้นจี่และน้ำผึ้ง จะได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับสินค้าเดียวกันจากอาเซียนที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น

 .

ก่อนหน้านี้ ( เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 ) เวียดนามได้ร่วมมือกับสมาชิกอาเซียนลงนามกับญี่ปุ่นในความตกลง ASEAN -  Comprehensive Economic Partnership (AJCEP) ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551 โดยเวียดนามตั้งความหวังจะสามารถส่งออกสินค้าไปตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้นเพราะตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่กำหนดมาตรฐานสุขอนามัยของสินค้าที่จะนำเข้าประเทศไว้สูง

 .

รวมทั้งมีความเข้มงวดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้าซึ่งทั้งสองประการล้วนเป็นข้อด้อยของเวียดนาม เวียดนามจึงได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในการแต่งตั้งคณะผู้แทนร่วม (joint commission) เพื่อกำหนดคุณภาพและสุขอนามัยความปลอดภัยด้านอาหาร และญี่ปุ่นจะช่วยเหลือเวียดนามในการจัดตั้งศูนย์มาตรฐานสุขอนามัยระหว่างประเทศ  

 .

ตามความตกลง AJCEP เวียดนามจะลดภาษีให้ญี่ปุ่น 82% ของสินค้าที่นำเข้าภายใน 16 ปี และญี่ปุ่นจะลดภาษีให้เวียดนามเป็นจำนวนเกือบ  94% ของสินค้าที่เวียดนามส่งไปยังตลาดญี่ปุ่นภายใน 10 ปีปริมาณการค้าของเวียดนาม - ญี่ปุ่น

 .

ปัจจุบันสินค้าของเวียดนามที่ส่งเข้าไปจำหน่ายในตลาดญี่ปุ่นมีน้อยมาก โดยในระยะ 10 เดือนแรก ( มค.ตค.) ของปี 2551 เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.2% ของการนำเข้าทั้งหมดของญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดของจีนซึ่งมีถึง 18.4% ไทย 2.7%  มาเลเซีย 2.9% และฟิลิปปินส์ 1.4%  

 .

แต่ในด้านตลาดส่งออกของเวียดนามแล้ว  ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อันดับสาม ( สัดส่วนการส่งออก  13.0 % )  รองจากสหรัฐอเมริกา (17.4%) และสหภาพยุโรป (16.4%) คาดว่ามูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศในปี 2551 จะมีประมาณ 16 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นมูลค่าการค้าที่สูงกว่าระดับที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้ตั้งเป้าหมายสำหรับการเพิ่มขึ้นของการค้าของทั้งสองประเทศเป็น 15 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2553

 .

 

 .

ข้อสังเกตุ

1. โดยข้อเท็จจริงแล้ว อัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงนัก แต่มาตรการ SPS  ที่เข้มงวดเป็นอุปสรรคต่อการเข้าตลาด ดังนั้นการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของญี่ปุ่น ( ยกเว้นข้าวและข้าวสาลี ซึ่งญี่ปุ่นจัดไว้ใน sensitive list ) จึงไม่ได้ทำให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากอัตราภาษีเป็น 0% เท่าใดนักแต่ประโยชน์ที่เวียดนามได้รับมากกว่าการเปิดตลาดคือความร่วมมือจากญี่ปุ่นในการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและที่สำคัญคือ

 .

ผลทางจิตวิทยาที่รัฐบาลเวียดนามออกมากระตุ้นให้ผู้ประกอบการในประเทศได้ร่วมมือกันปรับปรุง corporate governance ความสามารถในการแข่งขันและคุณภาพของสินค้า ทั้งนี้ผู้ประกอบการเวียดนามก็ให้การตอบรับต่อโอกาสจาก VJEPA โดยมีการเรียกร้องให้ร่วมมือกันปรับปรุงความสามารถในการผลิตแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางด้านธุรกิจระหว่างกัน  และให้มีการแนะนำลูกค้าซึ่งกันและกัน

 .

2. ปัจจุบันสินค้าเวียดนามหลายรายการยังไม่สามารถเข้าตลาดญี่ปุ่นได้ไม่เฉพาะสินค้าเกษตรเท่านั้น แม้แต่สินค้าอุตสาหกรรมก็เช่นกัน สินค้าอุตสาหกรรมที่สามารถนำเข้าญี่ปุ่นได้ส่วนมากจะเป็นสินค้าจากโรงงานที่เป็นการลงทุนร่วมและบริหารโดยบริษัทญี่ปุ่นหรือเป็นบริษัทญี่ปุ่น 100%

 .

ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของเวียดนามจึงไม่เน้นเฉพาะการเติบโตของการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น เท่านั้น แต่ยังต้องการยกระดับความน่าเชื่อถือของสินค้าในตลาดโลกด้วย เพราะหากสินค้าเวียดนามสามารถบรรลุเงื่อนไขที่ญี่ปุ่นกำหนดไว้ได้ก็ย่อมเป็นหลักประกันถึงคุณภาพของสินค้า

 .

3. แม้ว่าขณะนี้จะมีสินค้าของไทยหลายรายการที่ต้องแข่งกับเวียดนามในตลาดญี่ปุ่น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลสำเร็จรูป และมีบางรายการ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์ไม้  ที่เวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่าไทยและมีอัตราขยายตัวของการนำเข้าของญี่ปุ่นจากเวียดนามเพิ่มขึ้นมากก็ตาม

 .

แต่คาดว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเวียดนาม-ญี่ปุ่น ดังกล่าวจะไม่ทำให้ฐานะการแข่งขันของสินค้าไทยกับเวียดนามในตลาดญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากญี่ปุ่นได้เปิดตลาดให้ไทยภายใต้ JTEPA และ AJCEP แล้วในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยก็ควรคำนึงถึงการที่ญี่ปุ่นจะให้การปฏิบัติเป็นพิเศษกับสินค้าของเวียดนาม บางรายการ เช่น  อาหารทะเลและผลไม้  ด้วย

 .
สคต.นครโฮจิมินห์

ที่มา: http://www.depthai.go.th