เนื้อหาวันที่ : 2008-12-25 14:49:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1648 views

ศูนย์ฯกสิกรไทยคาดธุรกิจอสังหาฯปี 52 หดตัว14.8-19.9% ตามภาวะศก.ชะลอตัว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยรวมในปี 52 หือขึ้นคอ แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่สามารถผลักดันนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และฟื้นฟูความเชื่อมั่นก็ตาม โครงการอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ๆ ชะลอตัวลงกว่าปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยรวมในปี 52 ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงครึ่งแรกปี 52 โดยเฉพาะสภาวะตลาดที่ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อทั้งด้านกำลังซื้อและการลงทุนโครงการใหม่ๆ ทำให้การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ๆ น่าจะชะลอตัวลงกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหม่ หรือรายย่อย คงจะชะลอการเปิดโครงการ  ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่อาจจะยังคงมีการเปิดโครงการใหม่ออกมาเป็นระยะ แต่ไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมา

.

พร้อมทั้งคาดการณ์ แนวโน้มที่อยู่อาศัยประเภทโครงการที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในปี 52 มีจำนวน 57,500-60,500 หน่วย หดตัวจากปี 51 จำนวน14.8-19.9% แบ่งเป็นโครงการ บ้านจัดสรร 21,500-22,500 หน่วย โครงการคอนโดมิเนียม 18,000-19,000 หน่วย และบ้านปลูกสร้างเอง 18,000-19,000 หน่วย จากที่คาดว่าโครงการที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพและปริมณฑลปี 51 จะมี 71,000 หน่วย

.

และภายใต้ข้อสมมติ กรณีพื้นฐาน (Base Case) แม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่สามารถผลักดันนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ภาคเอกชนและผู้บริโภค ผู้ประกอบการอาจจะหันกลับมาลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งหลังปี 52 แต่คาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 52 จะหดตัวลง14.8%  

.

สำหรับกรณีเลวร้าย (Worst Case) เป็นสถานการณ์ที่ปัจจัยลบทางการเมืองส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค วิกฤตการเงินที่อาจจะกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้งเป็นอุปสรรคการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในปี 52 จะหดตัวลง 19.9%

.

ทั้งนี้ ท่ามกลางแนวโน้มต้องเผชิญกับปัจจัยลบ ทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ต้องปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า เช่น ชะลอการเปิดโครงการใหม่ จนกว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น หรืออาจต้องเปิดโครงการใหม่ เพื่อให้มีรายได้เข้าบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  ผู้ประกอบการได้จะต้องบริหารจัดการระบบการก่อสร้างภายใต้การบริหารต้นทุนอย่างเคร่งครัด  มีการบริหารการจัดการด้านระยะเวลาการก่อสร้างเข้มงวดมากขึ้น พร้อมกับการควบคุมคุณภาพในการก่อสร้างให้มีมาตรฐาน เพื่อให้งานก่อสร้างเสร็จตามเวลาที่กำหนด

.

แม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยังคงมีปัจจัยบวกสนับสนุนบ้าง เช่น การขยายระยะเวลามาตรการภาษีอสังหาริมทรัพย์ ไปอีก 1 ปี แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะผ่านขั้นตอนตามกฎหมาย  นอกจากนี้รัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะออกมาตรการ  ได้แก่ มาตรการหักลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อที่อยู่อาศัย และสถาบันการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง ตามดอกเบี้ยนโยบาย

.

แต่ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง และมีผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายภายในประเทศโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 52 อยู่ที่ 1.5-2.5% ชะลอตัวลง ปี 51 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว  4.1%  และทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปัญหาการจ้างงาน ทำให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 52 จะเป็นปีที่มีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะการใช้กลยุทธ์ด้านราคา อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพื่อเร่งระบายสินค้า ลดภาระต้นทุนและเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ในภาวะที่ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงกำลังซื้อผู้บริโภคบางกลุ่มลดลง โดยกลยุทธ์ด้านราคาที่ยังคงมีการใช้อย่างต่อเนื่อง เช่น การลดราคาบ้าน การใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย เช่น ตกแต่งฟรี หรือการสมนาคุณเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน  นอกจากนี้ยังมีการทำตลาดระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันการเงินในการนำเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย

.

ขณะที่แนวโน้มความต้องการที่อยู่อาศัยในปี 52 คาดว่า กำลังซื้อที่อยู่อาศั ยอาจยังคงไม่ปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็วนัก โดยความต้องการที่อยู่อาศัยน่าจะมีแรงซื้อมาจากความต้องการที่อยู่อาศัยพื้นฐานเพื่อการที่อยู่อาศัยจริง ที่เป็นตลาดกลุ่มที่มีกำลังซื้อ มีความจำเป็นในการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้

.

สำหรับการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในขณะนี้ได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาวะของตลาด โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันสูง และมีสินค้าออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคมีข้อเปรียบเทียบในแต่ละสินค้ามากขึ้น รวมถึงสามารถที่จะเลือกซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาที่ถูกลง (รวมถึงการได้รับส่วนลดจากมาตรการภาษีอสังหาริมทรัพย์ที่ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้บริโภคได้ระดับหนึ่ง) และมีเวลาในการเลือกที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องเร่งตัดสินใจ