เนื้อหาวันที่ : 2008-12-16 16:28:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1660 views

ผู้ว่าฯกทม. กับการบริการสาธารณะ

ประเทศไทยจัดเป็นรัฐเดี่ยวที่จัดระเบียบราชการบริหารแผ่นดินโดยแบ่งระดับการปกครองของตนเองออกเป็น 3 ระดับ คือ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เหมือนดังเช่นประเทศฝรั่งเศส และแล้วใครจะมาเป็นพ่อเมืองคนใหม่ของกรุงเทพฯ คนต่อไป

.

โดย สุชาย จอกแก้ว

 .

ประเทศไทยจัดเป็นรัฐเดี่ยวที่จัดระเบียบราชการบริหารแผ่นดินโดยแบ่งระดับการปกครองของตนเองออกเป็น 3 ระดับ คือ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เหมือนดังเช่นประเทศฝรั่งเศส

.

แต่แตกต่างไปจากประเทศอังกฤษและประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นรัฐเดี่ยวเหมือนกัน แต่ได้มีการแบ่งระดับการปกครองประเทศของตนเพียง 2 ระดับเท่านั้น คือ ราชการส่วนกลาง และราชการส่วนท้องถิ่น ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค

.

แต่อย่างไรเสีย ไม่ว่าจะมี 2 ระดับ หรือมี 3 ระดับ หรือรัฐรวม (แบบรัฐรวมสองรัฐหรือหลายรัฐ) ต่างก็มีราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเหมือนกันทั้งนั้น และไม่ว่าจะจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินกันรูปแบบใด อย่างไรก็ตามต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น ในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์จริงๆ น่ะ

.

กรุงเทพมหานคร จัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเหมือนเมืองพัทยา เหตุที่พิเศษก็เพราะว่ากรุงเทพฯและเมืองพัทยามีลักษณะของเมืองที่พิเศษแตกต่างจากท้องถิ่นอื่น ทำให้ไม่อาจนำรูปแบบการปกครองท้องถิ่นตามที่มีอยู่มาปรับใช้ได้  กรุงเทพฯมีฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เริ่มแรกปกครองแบบเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา

.

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดการปกครองรูปแบบใหม่ มีการจัดตั้งกระทรวงเมืองขึ้น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงนครบาล มีเสนาบดีดูแลทั้งพระนครธนบุรีและหัวเมืองใกล้เคียง รวมเรียกว่ามณฑลกรุงเทพ ใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่และข้อบังคับหัวเมืองโดยอนุโลม

.

ต่อมาปี 2476 มีการยกเลิกมณฑลแล้วจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ จังหวัดระนครและจังหวัดธนบุรี รวมกันเป็นจังหวัดเดียวเรียกว่า "นครหลวงกรุงเทพธนบุรี"

.

ต่อมาปี 2515 คณะปฏิวัติได้ออกประกาศฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 เรียกนครหลวงของไทยเราว่า "กรุงเทพมหานคร" ยังมีฐานะเป็นจังหวัด โดยมีการกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ส่วนสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน

.

แต่ต่อมาก็ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเช่นเดียวกันกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

.

และต่อมาก็ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ซึ่งใช้บังคับมาจนถึงปัจจุบัน และในปี 2542 ก็ได้มีการกำหนดให้กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นนิติบุคคลเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ปี 2540

.

ปัญหา...กรุงเทพฯ ชาวบ้านบ่นกันอยู่เสมอว่า กี่ปี กี่สมัย ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่ปัญหาเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นปัญหายอดฮิต รถติดตลอดกาล น้ำท่วมน้ำเน่าตลอดปีตลอดชาติ ฝุ่นควันพิษทั้งปีทั้งชาติ ทุกๆ อย่าง ทุกๆ สิ่ง ล้วนยังคงเหมือนเดิม แก้ปัญหาไม่ได้สักที

.

เลือกผู้ว่าฯกี่ครั้ง กี่ยุค กี่สมัย ก็ไม่อาจที่จะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ ที่ทำได้ก็เป็นแค่เพียงยาบรรเทาอาการปวดก็แค่นั้น เลือก พ.ก็แล้ว เลือก ส.ก็แล้ว เลือก อ.ก็แล้ว แล้วต่อไปก็เลือก...(ก็แล้ว ไปอีกเช่นเดิม) ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็น่าที่จะมีการชี้แจงปัญหาให้แก่ชาวบ้านให้ได้รับทราบว่า เพราะอะไร เหตุใด จึงแก้ปัญหาไม่ได้ แต่ละปี ผู้ว่าฯน่าจะแถลงถึงผลงานประจำปี ออกสู่สาธารณะเพื่อให้รับทราบโดยทั่วกัน ก็น่าจะดีนะ

.

ถ้าทำไม่ได้อย่างที่พูด ก็ควรพิจารณาตนเองได้ ไม่ควรที่จะสะสมแต้มสะสมคะแนน เหมือนการเมืองระดับชาติประเภทที่ว่า งบประมาณทั้งหลายจะทยอยออกมาช่วงก่อนเลือกตั้ง ถนนหนทาง ท่อระบายน้ำ จะดีที่สุดก็คือก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง ถนนพัง ท่อตัน ไม่มีงบฯ แต่งบฯจะไปลง ณ สถานที่หรือบริเวณที่ผู้ว่าฯ หรือสมาชิกเขาสนใจเอาใจใส่ดูแลเท่านั้น

.

ใครจะไปรู้ว่า กรุงเทพฯเมืองน่าอยู่ เมืองน่าเที่ยวที่สุดในโลก บางพื้นที่ถนนยังไม่มีท่อระบายน้ำ ยังไม่มีน้ำประปาใช้ ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ไม่มีความปลอดภัย คนต่างจังหวัดเข้ามากรุงเทพฯ ถึงกับต้องตะลึง! อ๋อ...กรุงเทพฯก็ขือเหมือนบ้านเฮา (ไม่น่าอยู่) นี่คือเสียงสะท้อนของคนกรุง มุมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ เพราะเขาไม่มีความสำคัญอะไร

.

สำหรับผู้เขียนเองเห็นว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่จริงๆ มาอยู่ตั้งยี่สิบปีแล้ว ยังไปไหนไม่ทั่วเลย แค่ออกจากปากซอยก็หลงทางแล้ว ยูเทิร์นแล้วยูเทิร์นอีกแทบจะทุกวัน ถนนเปลี่ยนแปลงทุกวัน ถามคนต่างจังหวัด ไม่มีใครอยากไปอยู่กรุงเทพฯ ถามคนอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่มีใครอยากอยู่กรุงเทพฯ แต่มันก็หนีกรุงเทพฯไม่พ้น เพราะว่าเป็นเมืองหลวง เมืองที่อะไรๆ ทุกอย่างก็อยู่กรุงเทพฯเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาระดับสูง สถานที่ทำงาน สถานที่ประกอบธุรกิจ สถานที่หาเช้ากินค่ำ ก็อยู่ที่นี่หมด การได้ไปกรุงเทพฯ คือการไปเที่ยวสวรรค์ (นรกสำหรับคนไม่ชอบกรุงเทพฯ)

.

ปัญหากรุงเทพฯที่ผู้เขียนเห็นว่าถ้าแก้ปัญหาได้จะเป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก ก็คือแก้ปัญหาจราจร แก้ปัญหาสถานศึกษาให้มีคุณภาพเท่าเทียมกันให้ได้ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ได้ แก้ปัญหาถนนหนทาง ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า ประปา ให้สะดวกสบายโดยทั่วกันให้ได้ และที่สำคัญรักษาความปลอดภัยให้แก่ชีวิตของทุกคนให้ได้ ก็จะทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองสวรรค์ เมืองที่น่าเที่ยว ได้อย่างแท้จริง

.

ระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ควรทำอย่างต่อเนื่อง และต่อขยายไปยังชานเมืองโดยเร็ว เพื่อลดปัญหารถยนต์เข้าเมืองมากเกินไป หากจะรณรงค์ให้ขี่รถจักรยาน ก็ต้องจัดช่องจราจรให้ขับขี่ด้วย หรือหากจะรณรงค์ให้ทำอะไร ก็ควรต้องทำอย่างต่อเนื่อง มิใช่ทำเหมือนไฟไหม้ฟาง ทุกถนน ทุกซอย ควรมีกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย

.

สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อมิให้คนกรุงเทพฯเครียดมากจนเกินไป ก็ควรจัดให้มีสวนสาธารณะทุกๆ 5 กิโลเมตร หรือ 10 กิโลเมตร เหมือนต่างประเทศ เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือออกกำลังกาย หรือแต่ละเขตควรมีสวนสาธารณะ

.

หากปัญหาทั้งหลาย ผู้ว่าฯ หรือสมาชิกสภาทำได้ แต่ติดขัดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยหรือว่ารัฐบาล ก็ควรที่จะหาทางออกด้วยกันโดยเร็ว อย่าล่าช้า ควรมีองค์กรหรือมีกฎหมายที่ให้อำนาจในการตรวจสอบและถ่วงดุลกันได้ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะพัฒนาตนเองได้ด้วยตัวองค์กรท้องถิ่นเอง

.

หากรัฐบาลไม่สนับสนุน องค์กรท้องถิ่นก็อาจจะมีทางเลือกอื่นที่จะสามารถจัดการเองได้ มิใช่ว่าผู้ว่าฯอยู่พรรคโน้น รัฐบาลอยู่พรรคนี้ จึงไม่ต้องให้การสนับสนุน (เพราะไม่ได้คะแนน) มัวแต่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องจัดให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและไม่ต้องให้ประชาชนเลือกตั้งโดยตรงให้เสียความรู้สึก เสียความเป็นประชาธิปไตยไปเปล่าๆ

.

หลักกฎหมายที่สำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะ (Public service) มีอยู่ว่า การบริการสาธารณะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ให้ทันต่อความต้องการของประชาชนอยู่เสมอ

.

และที่สำคัญต้องมีความเสมอภาค (ก็มีประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอยู่เหมือนกันว่า นโยบายหกมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนนั้น เป็นไปตามหลักบริการสาธารณะหรือไม่..!)

.

ท้ายนี้ ก็ขอให้ผู้สมัครผู้ว่าฯทั้งหลายเมื่อได้รับการเลือกตั้งแล้วโปรดจงสู้ จงพัฒนากรุงเทพมหานครให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าต่อไป ให้เป็นเมืองสวรรค์ เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ที่สุดในโลก) ตลอดไป ขอให้ทำ (ให้ได้) ตามที่ได้หาเสียงต่อประชาชนเอาไว้

.

ขออย่าได้เสียสัจจะ...

.
ที่มา : หนังพิมพ์มติชน