เนื้อหาวันที่ : 2006-09-15 09:44:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1231 views

ไทยออยล์ไขข้อเท็จจริงเรื่องราคาก๊าซหุงต้ม เร่งทำความเข้าใจทุกฝ่าย

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เผยถึงกระแสข่าวเรื่องการลดราคาก๊าซหุงต้มกำลังได้รับความสนใจ เพราะก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีการใช้กันเกือบทุกครัวเรือน แต่ข่าวสารที่ออกมาเข้าใจว่าน่าจะเป็นมุมมองเฉพาะด้าน ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับราคาก๊าซหุงต้มในปัจจุบัน

นายสมชัย วงศ์วัฒนศานต์  บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เผยถึงกระแสข่าวเรื่องการลดราคาก๊าซหุงต้มกำลังได้รับความสนใจ เพราะก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีการใช้กันเกือบทุกครัวเรือน แต่ข่าวสารที่ออกมาเข้าใจว่าน่าจะเป็นมุมมองเฉพาะด้าน ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวได้ ผมในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงพลังงานมานาน จึงอยากขอเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาเพื่อให้พิจารณาประกอบกัน

.

ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้มที่เราคุ้นเคยนี้ รัฐเป็นผู้ควบคุมราคา โดยใช้กองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือในการรักษาระดับราคา หรือพูดง่าย ๆ ว่าคุมที่ราคาขายส่ง ถ้าราคาขายส่งเปลี่ยนแปลงก็จะมีผลให้ราคาขายปลีกเปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยราคาขายของผู้ผลิตจะเปลี่ยนตามตลาด ราคาตลาดสูงขึ้นกองทุนน้ำมันจ่ายเงินให้ แต่ถ้าราคาตลาดต่ำลงผู้ผลิตก๊าซจ่ายเงินให้กองทุน

.

ในอดีตรัฐกำหนดราคาผู้ผลิตก๊าซหุงต้มตามราคาตลาดโลก คือ ราคาเปโตรมินของซาอุดิอาระเบีย เพราะหากกำหนดต่ำกว่าราคาตลาดโลก ผู้ผลิตหรือผู้ค้าก็จะพอใจที่จะส่งออกมากกว่าขายในประเทศ เพราะกำไรมากกว่าเห็น ๆ จนอาจเกิดการขาดแคลนในประเทศขึ้นได้ หรือถ้ากำหนดราคาสูงกว่าตลาดโลก พ่อค้าก็ได้กำไรมากแต่ผู้บริโภครับเคราะห์ไป สรุปแล้วราคาตลาดโลก คือ ราคาที่เหมาะสม

.

แต่พอหลังปี 2545 เมื่อกองทุนน้ำมันติดลบ รัฐได้ขอร้องให้ผู้ผลิตก๊าซหุงต้มช่วยรับภาระ โดยขอกำหนดเพดานราคาก๊าซหุงต้มที่ผลิต ณ โรงกลั่น/โรงแยกก๊าซต่ำกว่าตลาดนอกประเทศ คือที่ 315 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ก็เพื่อให้ภาระการชดเชยกองทุนไม่สูงขึ้นตามราคาตลาดโลก โดยจากวันนั้นถึงวันนี้ ราคาเปโตรมินได้สูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 400-600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันแล้ว ผู้ผลิตก๊าซหุงต้มต่างอยากส่งออก จนกรมธุรกิจพลังงานต้องเข้ามาดูแลเพื่อป้องกันการขาดแคลนในประเทศ

.

การตรึงราคาผลิตก๊าซหุงต้ม สำหรับโรงแยกก๊าซที่มีสัดส่วนการผลิต 60% โดยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบมีราคาประมาณ 200 บาทต่อล้านบีทียู เทียบได้กับราคาก๊าซหุงต้มประมาณ 240 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน จึงยังพอรับได้กับราคาผลิตที่ตรึงไว้ที่ 315 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน แต่สำหรับกลุ่มโรงกลั่นสถานการณ์จะผิดกัน

.

โรงกลั่นน้ำมันใช้น้ำมันดิบเป็นวัตถุดิบ ซึ่งราคาน้ำมันดิบที่สูงในระดับ 50-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบได้กับราคาก๊าซหุงต้มที่ 480-590 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาเปโตรมิน และสูงกว่าราคาที่ตรึงไว้ในประเทศ (315 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) มาก การขายก๊าซหุงต้มของโรงกลั่นจึงเป็นราคาที่ขาดทุนเมื่อเทียบกับน้ำมันดิบทั้งส่งออกและในประเทศ โรงกลั่นต้องแบกรับภาระในการตรึงราคาในประเทศถึงปีละ 6,000 – 7,000 ล้านบาท

.

เช่นนี้แล้ว หากรัฐเรียกเก็บเงินพิเศษหรือพรีเมี่ยมจากผู้ส่งออกตามที่มีนักวิชาการเสนอแนะ โดยอ้างว่าเพื่อเอาเงินนั้นมาลดราคาขายก๊าซหุงต้มในประเทศ เท่ากับโรงกลั่นต้องแบกภาระขาดทุนซ้ำซากเพิ่มขึ้นอีกรวมเป็น 2 เท่า และอาจจะหาทางออกเพื่อลดต้นทุน โดยใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่นแทนน้ำมันเตาได้ เกิดปัญหาตามมา คือ การผลิตก๊าซหุงต้มอาจไม่พอสำหรับใช้ในประเทศ และประเทศต้องส่งออกน้ำมันเตาที่มีมูลค่าต่ำแทนการส่งออกก๊าซหุงต้มที่มีมูลค่าสูง

.

ที่กล่าวมาเป็นปัญหาของการตรึงราคาในส่วนของการผลิต สำหรับการตรึงราคาในส่วนของการบริโภค คือ ราคาขายปลีก นั้น ได้นำไปสู่สู่ปัญหาการบริโภคที่ไม่เหมาะสมและไม่มีประสิทธิภาพ ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินแพงขึ้นตามตลาด แต่ราคาก๊าซหุงต้มไม่ปรับขึ้น ปรากฏว่าคนไทยได้หันมานิยมดัดแปลงรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินมาใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงแทน

.

สถิติการใช้ก๊าซหุงต้มในรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเพียง 7% ในปี  2547 กลับเพิ่มเป็น 34% และ 48% ในปี 2548 และ 2549 โดยลำดับ สถิติดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณโอกาสของความเสี่ยงภัยบนท้องถนนที่เพิ่มขึ้น

.

จากการติดตั้งถังก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐาน และคุณสมบัติก๊าซหุงต้มที่หนัก เมื่อรั่วไหลแล้วจะเกิดการสะสมอยู่ด้านล่าง ซึ่งหากมีประกายไฟก็อาจเกิดไฟไหม้หรือระเบิดได้ ราคาที่ไม่ปรับขึ้นยังเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนการใช้ก๊าซ NGV ในรถยนต์ เพราะค่าติดตั้งถังก๊าซหุงต้มที่มีต้นทุนเพียง 7,000 – 9,000 บาท และสามารถคุ้มทุนได้ภายใน 3 – 4 เดือนเท่านั้น

.

ส่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้น นับจากช่วงที่น้ำมันเตามีราคาสูงขึ้นกว่าราคาก๊าซหุงต้มที่ตรึงไว้ ตั้งแต่กลางปี 2548 โรงงานอุตสาหกรรมได้หันมาใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 8% และเพิ่มขึ้นเป็น 12% ในปี 2549 โครงสร้างการบริโภคถูกบิดเบือนไปอย่างนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดโดยตรง เพราะกลายเป็นว่าเราต้องส่งออกน้ำมันเตาซึ่งมีราคาถูกในตลาดโลกแทนก๊าซหุงต้ม หรือเป็นการส่งออกของถูกแทนของแพง ขณะเดียวกันก็มีการลักลอบนำก๊าซหุงต้มบรรจุถังไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร เวียดนาม ซึ่งกำหนดราคาขายก๊าซหุงต้มตามราคาตลาดโลก เท่ากับว่าเราต้องสูญเสียเงินกองทุนน้ำมันไปช่วยเพื่อนบ้านให้ได้ใช้ของถูกอีกด้วย