เนื้อหาวันที่ : 2008-12-11 15:12:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1357 views

สศอ.เผยดัชนีอุตฯ ซึมติดลบครั้งแรกในรอบปี

สศอ. เผยภาคอุตฯเริ่มซึม หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กระทบชิ่ง ฉุดดัชนีอุตฯ ต.ค. 51 ติดลบเฉียด 1% แนะผู้ประกอบการ เตรียมพร้อมตั้งรับ อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สามารถฝ่าผ่านสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้ในที่สุด

สศอ. เผยภาคอุตฯเริ่มซึม หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กระทบชิ่ง ฉุดดัชนีอุตฯ ต.ค. 51 ติดลบเฉียด 1% แนะผู้ประกอบการ เตรียมพร้อมตั้งรับ

.

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่เป็นปัจจัยภายนอกที่ยากต่อการควบคุม และปัจจัยการเมืองภายในที่ยังไม่สามารถคลี่คลายลงได้ในเร็ววัน เริ่มส่งผลกระทบอย่างชัดเจนต่อภาคอุตสาหกรรมไทย จากตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม ที่ลดลง -0.90% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2550

.

 โดยเป็นตัวเลขติดลบครั้งแรกในรอบปี 2551ซึ่งถือว่าปัจจัยแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในเริ่มส่งผลต่อภาคการผลิตอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามหากพิจารณาภาพรวมเมื่อเทียบกับปีก่อนจะเห็นได้ว่า ปีก่อนภาคอุตสาหกรรมมีความคึกคักจากการขยายโรงงาน และการเดินเครื่องผลิตสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างฐานตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมในช่วงเดียวกันของปีก่อนไว้สูง  

.

สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม ได้แก่ เครื่องประดับเพชรพลอย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเหล็ก   เครื่องประดับเพชรพลอย เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีการผลิตลดลง -34.8% โดยเป็นผลมาจากตลาดส่งออกสำคัญ คือสหรัฐอเมริกามีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ทำให้สินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัด

.

ส่งผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้อย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ปัจจัยความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ผันผวนทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเริ่มที่จะหันไปเปิดตลาดใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่นเพื่อเกิดพลัง สำหรับการประคองธุรกิจในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นทุกวันนี้

.

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนพบว่า ทั้งการผลิตและจำหน่ายลดลง ใกล้เคียงกัน คือ -10% โดยสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเช่นกัน และเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีอัตราการผลิตและจำหน่ายอย่างคึกคัก ทำให้ตัวเลขฐานการคำนวณสูงจึงส่งผลต่อการลดลงที่ชัดเจนในเดือนนี้ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ได้มีการปรับตัว โดยการเปิด

.

ตลาดใหม่ รวมทั้งเจรจาขอเพิ่มสัดส่วนออร์เดอร์จากลูกค้าหลักให้สูงขึ้น เพื่อเป็นการพยุงสถานการณ์ ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถฝ่าผ่านสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้ในที่สุด

.

การผลิตเหล็ก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าสัดส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลังต่อการจำหน่ายในผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศที่ชะลอลง โดยผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดนั้นมาจากภาคธุรกิจการก่อสร้างไม่มีความคึกคัก และยังไม่สามารถคาดหวังกับการลงทุนเมกกะโปรเจ็คของรัฐบาลได้

.

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะชะลอตัว จากปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศ แต่สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนให้ภาพรวมดัชนีอุตสาหกรรมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงบ้าง ก็คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Hard Disk Drive) เสื้อผ้าสำเร็จรูป และ อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้

.

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง หากสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสในการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบการ พัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเพิ่มทักษะของบุคลากรให้สูงขึ้นก็จะสามารถยืนหยัดสู้กับปัญหาต่างๆ และพร้อมที่จะก้าวกระโดด เมื่อภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว

.

สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 180.21 ลดลง -0.90% จากระดับ 181.84 ดัชนีผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 183.84  ลดลง -1.40% จากระดับ 186.46  ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 177.40 ลดลง -4.15 จากระดับ 185.07  ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 116.06 ลดลง -2.96 จากระดับ 119.53

.

ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 135.82 ลดลง -2.11 จากระดับ 138.75 ขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 210.54 เพิ่มขึ้น 10.71% จากระดับ 190.18 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 187.74 เพิ่มขึ้น 8.48% จากระดับ 173.07 ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 60.80