เนื้อหาวันที่ : 2008-12-01 18:53:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1169 views

ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดเงินเฟ้อกลางปี 52 อาจติดลบหลังราคาน้ำมันดิ่ง-ศก.ไทยชะลอ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในช่วง 6 เดือนถัดไป อาจยังอยู่ในแนวโน้มขาลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย.51 อยู่ที่ 2.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในช่วง 6 เดือนถัดไป อาจยังอยู่ในแนวโน้มขาลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย.51 อยู่ที่ 2.2% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน

.

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มในปี 52 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะต่ำลงมาอยู่ในช่วง 1.8-2.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.4-2.0% เนื่องจากคาดว่าราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะคงอยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

.

สำหรับเหตุผลที่คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่องไป 6 เดือน มาจาก 3 เหตุผลสำคัญ คือ มาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นอาจจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออาจปรับตัวเข้าใกล้ 0% หรือติดลบในช่วงกลางปีหน้า

.

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งหากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลดลงหรือทรงตัวอยู่ใกล้ระดับปัจจุบัน จะส่งผลให้ราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้อง เช่น หมวดยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามไปด้วย โดยราคาสินค้าในหมวดดังกล่าวอาจมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ติดลบเกือบจะตลอดทั้งปี 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 51

.

สาเหตุสำคัญประการสุดท้ายคือ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะถัดไปจะผ่อนคลายลงตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/2551 และอาจต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552  

.

"อัตราเงินเฟ้อที่ลดต่ำลงจะเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากขึ้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ในรอบถัดๆ ไป โดยความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่คลายตัวลงอย่างมากดังกล่าว อาจเป็นปัจจัยที่เอื้อให้ กนง.สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

.

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ในจุดที่เปราะบาง โดยผลกระทบจากวิกฤติการเงินและปัญหาเศรษฐกิจโลกเริ่มปรากฏให้เห็นผ่านการผลิตและการจ้างงานที่ลดลง ขณะที่ปัญหาทางการเมืองในประเทศที่เลวร้ายมากขึ้นกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยในสายตาของต่างชาติและจะยิ่งส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 52 อ่อนแอลงมากยิ่งขึ้น สภาวะเช่นนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดให้แก่เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อบางเดือนในปี 52 อาจจะเป็นตัวเลขติดลบได้