เนื้อหาวันที่ : 2008-11-26 17:21:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2395 views

นิด้า ออกโรงจี้รัฐลดจ่ายเงินประกันสังคมหนุนแรงงานมีเงินออมใช้จ่ายรับวิกฤติว่างงาน

นิด้า กระทุ้งรัฐลดจ่ายเงินประกันสังคมจาก 5% เหลือ 4% และ ขยับฐานเก็บภาษี ภงด.90-91 เป็น 1.2-1.3 แสนบาท หวังช่วยลดภาระให้กับผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเงินในระบบ แนะนักศึกษาจบใหม่เร่งเสริมทักษะทางคอมพิวเตอร์และภาษาจีน-ญี่ปุ่น เชื่อปี 52 คนตกงานไม่ถึง 1 ล้านคน

นิด้า กระทุ้งรัฐลดจ่ายเงินประกันสังคมจาก 5% เหลือ 4% และ ขยับฐานเก็บภาษี ภงด.90-91 เป็น 1.2-1.3 แสนบาท หวังช่วยลดภาระให้กับผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเงินในระบบ แนะนักศึกษาจบใหม่เร่งเสริมทักษะทางคอมพิวเตอร์และภาษาจีน-ญี่ปุ่น เชื่อปี 52 คนตกงานไม่ถึง 1 ล้านคน หลังประเมินเศรษฐกิจมะกันเริ่มฟื้นราวไตรมาส 3 ปีหน้า

. 

รศ.ดร.บุญอนันต์ พินัยทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยถึงวิกฤติการว่างงานที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ภาครัฐมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือกับแรงงานที่ตกอยู่ในภาวะว่างงาน แต่ยังไม่มีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือแรงงานในระบบที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติไม่แพ้กัน

 .

ดังนั้น จึงขอเสนอให้ภาครัฐช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ โดยลดวงเงินประกันสังคมที่แรงงานต้องจ่ายลงจากเดิม 5% เหลือ 3.5-4% พร้อมปรับฐานผู้ที่ต้องเสียภาษี ภงด.90 และ ภงด.91 ให้ผู้มีเงินได้ 1.2-1.3 แสนบาทถึงเข้าเกณฑ์เสียภาษี จากเดิมกำหนดไว้ที่ 1 แสนบาท ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้มากพอที่จะนำไปออมได้มากขึ้น และสามารถนำมาใช้จ่ายหากเกิดกรณีถูกเลิกจ้างงาน

 .

"ที่จริงเราเห็นด้วยกับการที่ภาครัฐพยายามกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็คท์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า โครงการดังกล่าวเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานบางส่วนเท่านั้น ขณะที่การลดการจ่ายเงินประกันสังคมลงหรือการปรับฐานผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะสามารถช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานทั้งระบบให้มีเงินเพิ่มขึ้น และเมื่อมีความเสี่ยงที่ตัวเองจะตกงาน  ผู้ใช้แรงงานก็สามารถที่จะเก็บออมเงินได้มากขึ้น เพื่อใช้จ่ายในยามที่ตกงานหรือในระหว่างที่หางานใหม่ โดยไม่เป็นภาระต่อภาครัฐมากนัก" รศ.ดร.บุญอนันต์ กล่าว

 .

ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ยังนำเสนอการบริหารจัดการองค์กรที่กำลังประสบภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่มีปัญหาคำสั่งซื้อหดหาย จนหลายๆ กิจการอาจจะกำลังตัดสินใจลดพนักงานลงด้วยว่า ก่อนที่จะใช้วิธีปลดหรือลดพนักงาน ซึ่งควรจะใช้เป็นขั้นตอนสุดท้ายนั้น

 .

ผู้ประกอบการอาจจะเลือกใช้วิธีการลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงลง 10-20% หรือลดเงินค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) หรือจำนวนวันทำงานลง เพื่อให้สอดคล้องกับการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและต้นทุนค่าใช้จ่าย แทนการลดจำนวนพนักงานในองค์กรหรือแรงงานที่มีทักษะในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ เนื่องจากในอนาคต เมื่อมีคำสั่งซื้อสินค้ากลับเข้ามา การหาแรงงานที่มีทักษะในการทำงานจะทำได้ยากขึ้น ภายใต้ต้นทุนที่เท่าเดิม และย่อมส่งผลกระทบต่อตัวผู้ประกอบการในที่สุด

 .

ขณะที่กลุ่มนักศึกษาที่จบใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติการว่างงาน โดยเฉพาะคณะสังคมศาสตร์และคณะศิลปศาสตร์ นับว่าเป็นคณะที่มีการหางานทำได้ยากที่สุด เนื่องจากจำนวนบัณฑิตจบใหม่มีจำนวนมากกว่าความต้องการของตลาดนั้น ในระหว่างที่กำลังหางานทำ นักศึกษาจบใหม่เหล่านี้ควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์และทางด้านภาษาที่ตลาดแรงงานยังมีความต้องการ โดยในขณะนี้ นอกจากภาษาอังกฤษซึ่งนับว่าเป็นภาษามาตรฐานแล้ว ตลาดแรงงานยังมีความต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญภาษาที่ 3 โดยเฉพาะภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นอีกเป็นจำนวนมาก

 .

ด้าน รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มจะปรับลดพนักงานมากที่สุดในขณะนี้ คือกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ เนื่องจากคำสั่งในการผลิตสินค้าชะลอตัวลงได้อย่างชัดเจน และหลายโรงงานได้ปรับลดจำนวนพนักงานลงไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

 .

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในปี 2552 ซึ่งจะเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกจะมีคนตกงานไม่ถึง 1 ล้านคนอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2552 ที่มีคาดการณ์ว่าจะเติบโต 3% รวมทั้งการอัดฉีดเม็ดเงินของภาครัฐจะช่วยพยุงเศรษฐกิจของไทย เพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่า จะกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552