ใครจะรู้ว่าเด็กน้อยๆ วัยน่ารัก สดใส ไร้เดียงสา ที่พ่อแม่รักและถนุถนอมดั่งแก้วตาดวงใจนั้น ก็เกิดความเครียดได้เหมือนกัน
จะทำอย่างไรเมื่อลูกเครียด! จิตแพทย์แนะ 4 วิธีป้องกัน นอกจากผู้ใหญ่ที่มักจะเกิดความเครียดแล้ว ใครจะรู้ว่าเด็กน้อยๆ วัยน่ารัก สดใส ไร้เดียงสา ที่พ่อแม่รักและถนุถนอมดั่งแก้วตาดวงใจนั้น ก็เกิดความเครียดได้เหมือนกัน ส่วนจะเป็นเพราะสาเหตุใดที่ทำให้เด็กๆ เหล่านั้นเครียด ลองไปฟังจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่นกันดีกว่าว่า ความเครียดของเด็กๆ เกิดจากอะไร และมีอาการอย่างไรบ้าง
พ.ญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า วิธีการสังเกตอาการของเด็กที่เข้าข่ายว่าจะเกิดความเครียดนั้นสามารถสังเกตได้จากอาการหลายๆอย่างแตกต่างกันไปแล้วแต่วัยของเด็ก เด็กวัยก่อนเข้าเรียน ก็มักจะมีอาการปวดทางร่างกาย ปวดหัว ปวดท้อง รับประทานอาหารไมได้ หรือไม่ก็นอนไม่หลับ เด็กในวัยเรียน นั้นให้สังเกตว่าเด็กมีอาการที่ผิดปกติหรือไม่ สังเกตได้จากการ พูดน้อยลง หรือไม่ก็พูดอะไรในด้านลบ
ตัวอย่างก็คือ เด็กอาจจะพูดอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก หรือ เพื่อนๆไม่รัก อาจจะตีความออกมาในลักษณะว่าเด็กรู้สึกผิดทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ผิดอะไร คิดว่าพ่อแม่จะไม่ให้อภัย สำหรับเด็กวัยรุ่น ก็จะมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีวิธีสังเกตอาการก็คือ เด็กมักจะไปทำกิจกรรมที่เพลิดเพลิน สนุกสนาน หรือให้ความบันเทิงมากขึ้น เช่น การแชดผ่านอินเตอร์เน็ต เล่นเกมส์ หรือ การออกจากบ้านไปหลายๆวัน เพื่อไปเที่ยวสนุกกับเพื่อนๆ เพราะวัยรุ่นมักจะใช้กิจกรรมที่สร้างความสนุกสนานเมื่อเกิดความเครียด
อย่างไรก็ตามทุกปัญหาย่อมมีทางออก ซึ่ง พ.ญ.เพียงทิพย์ แนะนำว่า ก่อนอื่นพ่อแม่จะต้องรับรู้ถึงปัญหาเสียก่อน โดยการสังเกตลักษณะอาการของลูกๆ อย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าหากทราบถึงปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะสามารถทำให้แก้ไขได้ง่ายอย่าปล่อยให้เด็กเครียดเป็นเวลานาน พ่อแม่ต้องคอยให้คำแนะนำปรึกษากับลูก ยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดี
ยกตัวอย่างกรณีที่ลูกเครียดที่ครูให้ออกไปพูดหน้าชั้นเรียนเป็นคนแรก เพราะครูเห็นว่าลูกขาดความมั่นใจและเพื่อเป็นการฝึกในด้านบุคลิกภาพ ตรงนี้เด็กอาจจะเกิดความเครียดที่ต้องออกไปพูดเป็นคนแรกหน้าชั้นเรียน ดังนั้นพ่อแม่ควรที่จะสื่อสารกับลูกโดยการช่วยพูดกับครูว่าอาจจะขอให้ลูกของตนออกไปพูดเป็นคนที่สองได้หรือไม่ ซึ่งก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความเครียด นอกจากนั้นทางออกสำหรับเด็กวัยรุ่นอีกทางหนึ่งก็คือ การให้คำแนะนำ และคอยเป็นที่ปรึกษา
โดยจะเน้นให้ลูกฝึกคิดด้านบวกให้เป็นด้านลบ และคิดด้านลบให้กลายเป็นด้านบวก เน้นสอนให้เด็กคิดว่าบางเรื่องเป็นด้านบวกแล้วถ้าลองคิดให้เป็นลบผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น และจะรู้สึกอย่างไร วิธีการนี้เป็นการฝึกให้ลูกได้รู้การจักยอมรับความแตกต่าง โดยพ่อแม่จะต้องหมั่นตั้งคำถาม แล้วก็คอยรับฟังความคิดเห็น เช่น เด็กอาจจะเครียดเพราะว่าเพื่อนที่โรงเรียนไม่ชอบเนื่องจากว่าจบโรงเรียนนานาชาติมาก็เลยรู้สึกว่าตัวเองแตกต่าง
ตรงนี้พ่อแม่จะต้องตั้งคำถามให้เด็กได้คิดว่า นอกจากการจบนานาชาติมาแล้วยังมีสาเหตุอื่นหรือเปล่าที่เพื่อนๆ อาจจะไม่ชอบ หรือบอกไปว่า การคิดแบบนั้นจะทำให้ไม่มีความสุข เพราะแก้ไขอะไรไม่ได้ และในบางทีเด็กอาจจะถามย้อนกลับว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วพ่อแม่จะทำอย่างไร เพราะตามธรรมชาติของเด็กวัยรุ่นต้องการเพียงแค่คำปรึกษาเท่านั้น
หากว่ายังไม่ได้ผล ก็อาจจะต้องพาไปพบจิตแพทย์ เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย เพราะเด็กบางรายอาจจะมีสาเหตุของความเครียดมาจากเรืองของพันธุกรรม เป็นโรควิตกกังวล บางคนอาจจะมีอาการขั้นรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคม การเรียน การกิน และการนอน ส่วนวิธีการรักษาก็อาจจะต้องใช้ยาในความดูแลของแพทย์เพื่อเพิ่มสมดุลให้กับสมอง และระบบประสาท ด้วยยาคลายกังวล และ ยาต้านความเศร้า ซึ่งยาทั้งสองจะไปช่วยกระตุ้นในส่วนของระบบประสาทอัตโนมัติ
สำหรับการป้องกัน พ.ญ.เพียงทิพย์ แนะนำว่า
1. ผู้ปกครองควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูให้เหมาะสมและสอดคล้องกับเด็กแต่ละคน เพราะเด็กจะมีพัฒนาการ ความสามารถ ระเบียบวินัย นิสัยใจคอ และอารมณ์ที่แตกต่างกัน
2. ควรมีความสมดุลในความคาดหวังของพ่อแม่และเด็ก
3. ควรที่จะปลูกฝังแต่สิ่งดีๆ ให้กับเด็ก เปรียบเสมือนเป็นวัคซีนทางใจ
4. ไม่ควรที่จะปกป้องเด็กมากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กอ่อนแอได้
จะว่าไปแล้วผลกระทบที่เกิดจากความเครียดที่มักจะเกิดขึ้นก็คือ อาการ ปวดหัว ปวดข้อ ระบบการย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ การทำงานของประสาทสมอง หัวใจทำงานไม่ปกติ ภูมิคุ้มกันที่ต่ำ หรืออาจจะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเช่น หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า บางทีเด็กไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนตกต่ำ มีสัมพันธภาพไม่สมดุลกัน แต่ที่แย่และอันตรายไปกว่านั้นหากเด็กมีความเครียดสะสมมากก็อาจจะถึงขั้นทำร้ายร่างกาย หรือฆ่าตัวตายเลยก็ได้
จากสถิติพบว่าความเครียดมักจะเกิดขึ้นกับเด็กทั้งชายและหญิงอัตราเท่าๆกันในลักษณะความวิตกกังวล แต่สำหรับความเครียดที่เกิดอาการซึมเศร้านั้นพบว่าเด็กผู้หญิงมีอัตราเครียดมากกว่าเด็กชาย 2-3 เท่า เพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น ฮอร์โมนทางเพศของผู้หญิง เพราะบางทีผู้หญิง มักจะเครียด หรือ หงุดหงิดในช่วงที่มีประจำเดือน จึงทำให้เด็กหญิงมีอัตราความเครียดมากกว่าเด็กผู้ชาย
โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางแห่งแรกในประเทศไทย ที่ให้บริการและดูแลด้านสุขภาพจิตแนวใหม่สำหรับทุกเพศทุกวัย ได้ตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นกับเด็กในยุคปัจจุบัน จะจัดบรรยายเรื่อง จะทำอย่างไรเมื่อลูกเครียด โดย น.พ.จอม ชุมช่วย พ.ญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ และ พ.ญ.พัชรี พรรณพานิช
ซึ่งทั้ง 3 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชวัยรุ่นและเด็ก จะมาช่วยระดมความคิดเทคนิคและวิธีการแก้ปัญหาเมื่อเวลาลูกๆ ของผู้ปกครองเกิดความเครียด ในวันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2551 นี้ เวลา 8.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลมนารมย์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 02-725-9595, 02-399-2822 www.manarom.com