เนื้อหาวันที่ : 2008-11-26 09:27:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1435 views

ธปท.ส่งซิกอาจลดดอกเบี้ยนโยบายไม่แรง เก็บกระสุนรอใช้จังหวะเหมาะ

ธปท.ส่งสัญญาณการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ อาจจะปรับลงไม่มาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หากจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาก เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีไม่มาก

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ส่งสัญญาณการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ อาจจะปรับลงไม่มาก เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หากจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาก เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีไม่มาก

.

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

.

"ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยภายนอก ผลที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ กระสุนหากใช้ผิดจังหวะอาจจะเสียเปล่า เราจำเป็นต้องเก็บกระสุนเพื่อเล็งในจังหวะที่เหมาะๆ ให้ได้ผลที่ดีกว่า"นางธาริษา กล่าว

.

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ขณะที่ต่างประเทศสามารถใช้นโยบายการเงินเชิงรุก เนื่องจากเป็นปัญหาเฉพาะหน้าจึงต้องการให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรมในเวลารวดเร็ว ซึ่งการใช้นโยบายการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงคราวละมากๆ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบ เพราะอาจเกิดผลเสียทางจิตวิทยาที่รุนแรงได้ เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางมีข้อมูลเชิงลึกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิด

.

ขณะที่การใช้นโยบายการเงินจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่านโยบายการเงิน และภายหลังจากที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ธปท.อยากเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระบบลง เพื่อช่วยลดภาระหนี้ของประชาชน และเกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างแท้จริง

.

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการ ธปท.ปฏิเสธที่จะระบุว่า กนง.จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากน้อยเพียงใด เพราะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุมฯ

.

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวอีกว่า ประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจในระยะยาว เพื่อความไม่ประมาทและเตรียมพร้อมที่จะรองรับสถานการณ์ในอนาคต เช่น การเข้าไปซื้อสินทรัพย์ราคาถูกในต่างประเทศเพื่อขยายฐานและรองรับการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว

.

สำหรับในปี 51 เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับสูงถึง 15.5% ซึ่งถือว่ามีมากเพียงพอที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อ เพียงแต่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น และในระยะต่อไปภาคเอกชนรายใหญ่อาจเข้ามาแย่งการกู้เงินของรายย่อยมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อย และตั้งกองทุนช่วยเหลือเรื่องสินเชื่อแก่รายย่อย