เนื้อหาวันที่ : 2008-11-24 15:03:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1192 views

สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 51 เหลือ 4.5%,ปี 52 โต 3-4%

สภาพัฒน์ฯ ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 51 เหลือเติบโตแค่ 4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 5.2-5.7% และในปี 52 จีดีพีน่าจะเติบโตได้ 3-4% หลังจากที่ได้แถลงจีดีพีไตรมาส 3/51 เติบโตเพียง 4.0% ต่ำกว่าที่คาดไว้

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ปี 51 เหลือเติบโตแค่ 4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 5.2-5.7% และในปี 52 จีดีพีน่าจะเติบโตได้ 3-4% หลังจากที่ได้แถลงจีดีพีไตรมาส 3/51 เติบโตเพียง 4.0% ต่ำกว่าที่คาดไว้

.

"เศรษฐกิจในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวมาเติบโต 3-4% จากที่คาดว่าในปี 51 เศรษฐกิจจะโต 4-5% แต่เศรษฐกิจปี 52 มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 4% กรณีที่การดำเนินมาตรการของรัฐบาลภายใต้กรอบทิศทางการบริหารเศรษฐกิจในปี 52 มีประสิทธิภาพ และราคาน้ำมันไม่สูงเกินกว่า 75 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล รวมถึงเศรษฐกิจโลกขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2%"เอกสารของสภาพัฒน์ ระบุ

.

ทั้งนี้ ข้อสมมติฐานประมาณการเศรษฐกิจของปี 52 อยู่ภายใต้สมติฐานเศรษฐกิจโลกเติบโต 2.0-2.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 55-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ในระดับ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

.

เศรษฐกิจในปีหน้าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจการเงินโลกชะลอตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น และทำให้การส่งออกชะลอตัวมาก ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศยังขยายตัวต่ำ ดังนั้น การบริหารเศรษฐกิจจึงต้องเน้นการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศนำ โดยใช้งบประมาณรายจ่ายรัฐบาลและการดำเนินโครงการภาครัฐ และดำเนินมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ

.

ได้แก่ การดูแลแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างงาน ให้มีสวัสดิการรองรับที่เหมาะสมและได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและจัดหางานใหม่ การดูแลสาขาการผลิตและบริการที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และวางกลไกช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเผชิญราคาผลผลิตลดลงให้สามารถวางแผนการผลิต และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม รวมทั้งการดูแลด้านสภาพคล่องให้มีเพียงพอ    

.

"ปัจจัยภายนอกเราควบคุมลำบาก การดำเนินนโยบายปีหน้า(52) ต้องอาศัยการพยุงตัวและระบบเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก" นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ ระบุ

.

ส่วนการว่างงานในปี 52 คาดว่าหากจีดีพีโต 3% สถานการณ์การว่างงานที่เลวร้ายสุดก็ไม่น่าจะเกิน 1 ล้านคน เพราะยังเชื่อว่าภาคเกษตรจะสามารถรองรับการว่างงานได้ส่วนหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งดูแลภาคการเกษตรและให้เงินถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง