เนื้อหาวันที่ : 2008-11-22 09:48:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1154 views

พาณิชย์ เผย ต.ค.51 ส่งออกโต 5.2% นำเข้าโต 21.7% ขาดดุลฯ 558 ล้านดอลล์

ก.พาณิชย์ เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ต.ค.51 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 15,266 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.2% การนำเข้ามีมูลค่า 15,824 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.7% ทำให้ขาดดุลการค้า 558 ล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศในเดือน ต.ค.51 ว่า การส่งออกมีมูลค่า 15,266 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.2% การนำเข้ามีมูลค่า 15,824 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.7% ทำให้ขาดดุลการค้า 558 ล้านเหรียญสหรัฐ

.

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน ต.ค.ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี 3 เดือน(75 เดือน) นับตั้งแต่เดือน ก.ค.45 ที่การส่งออกขยายตัว 4.7% เนื่องจากฐานในเดือนต.ค.50 อยู่ในระดับที่สูงมาก คือ 14,508 ล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับ อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศผู้นำเข้ามีความผันผวน จึงทำให้ผู้นำเข้าชะลอคำสั่งซื้อในระยะนี้

.

อย่างไรก็ดี แม้อัตราการขยายตัวจะต่ำแต่ไม่ถือว่าผิดปกติ เพราะในเชิงมูลค่าแล้วยอดส่งออกที่ 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน ถือว่าอยู่ในอัตราที่สูง คงจะต้องรอดูแนวโน้มการส่งออกในเดือนหน้าด้วยว่าจะมีทิศทางไปในทางใดเพื่อให้เห็นแนวโน้มในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

.

"ฐานตัวเลขปีก่อนสูงมาก แต่เชิงมูลค่าก็ยังสอดคล้องกัน คือ 15,000 ล้านเหรียญ และเชื่อว่าจะยังอยู่ที่ระดับ 15,000 ล้านเหรียญ/เดือน ไปจนถึงสิ้นปีนี้...ยังไม่ขอพูดเฉพาะเดือน ขอดูเดือนหน้าเพราะหากตัวเลขกลับมาดี เราจะดูว่า trend จะไปทางไหน" อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก ระบุ

.

ในเดือน ต.ค.การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 19.3% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญชะลอตัวลงค่อนข้างมากโดยเพิ่มขึ้นเพียง 1.2% โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และสินค้าอาหาร เช่น กุ้ง ผัก ผลไม้ และไก่ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกเติบโตสูง คือ วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันดิบ และเลนส์ เป็นต้น

.

ด้านตลาดส่งออก พบว่าชะลอตัวลงทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดหลักขยายตัวเพียง 1.9% ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 7.8% สหภาพยุโรเพิ่มขึ้น 5.8% และสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.4% ส่วนอาเซียนลดลง 3.9% ขณะที่ตลาดใหม่ขยายตัว 8.9% โดยตลาดที่อัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นสูง เช่น อินเดีย 40.5% แอฟริกา 27.8% ยุโรปตะวันออก 22.9% ออสเตรเลีย 21.8%

.

สำหรับการนำเข้ายังเพิ่มขึ้นทุกหมวด โดยกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น 25.6% คิดเป็นมูลค่า 3,119 ล้านเหรียญสหรัฐ กลุ่มสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 34.7% คิดเป็นมูลค่า 7,227 ล้านเหรียญสหรัฐ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เพิ่มขึ้น 15.3% คิดเป็นมูลค่า 1,280 ล้านเหรียญสหรัฐ และกลุ่มสินค้าทุน เพิ่มขึ้น 5.8% คิดเป็นมูลค่า 3,705 ล้านเหรียญสหรัฐ

.

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าช่วง 10 เดือนแรกของปี 51 การส่งออกมีมูลค่า 151,192 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.7% การนำเข้ามีมูลค่า 154,493 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 34.2% ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 3,301 ล้านเหรียญสหรัฐ

.

นายราเชนทร์ กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 52 น่าจะประกาศได้อย่างเป็นทางการในเดือนหน้า แต่เบื้องต้นเชื่อว่าจะสามารถขยายตัวได้ถึง 10% แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตเพียง 2.2% โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกปีหน้าคือเศรษฐกิจโลกผันผวนส่งผลให้ความต้องการสินค้าลดลง นอกจากนี้ระบบการเงินของโลกมีปัญหา ดังนั้นการให้เครดิตในการซื้อขายสินค้าจึงมีความคล่องตัวน้อยลง