เนื้อหาวันที่ : 2008-11-22 09:35:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1295 views

คลัง เสนอเกลี่ยงบแสน ลบ.ใช้ปีงบ 52-53,คาด GDP โตไม่เกิน 4%ใน Q3/51

รมว.คลัง เตรียมเสนอให้รัฐบาลเกลี่ยการใช้จ่ายงบกลางปีที่อนุมัติเพิ่มเติมอีก 1 แสนล้านบาทให้มีการใช้ต่อเนื่องในปี 52-53 โดยบางส่วนอาจจัดทำเป็นงบประมาณผูกพันไปถึงปีต่อไป เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในระดับโลกที่อาจเกิดยาวนานขึ้น

การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจไทยเห็นได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/51 ซึ่งเศรษฐกิจจะเติบโตเหลือไม่เกิน 4% แต่ทั้งปียังน่าจะเติบโตได้ในระดับ 5% ตามเป้าหมาย จากผลดีของการขยายตัวในช่วงต้นปี ส่วนในปีหน้ายังหวังว่าจะได้เห็นการเติบโตในระดับ 4% แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโลก 

.

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.คลัง กล่าวว่า เตรียมเสนอให้รัฐบาลเกลี่ยการใช้จ่ายงบกลางปีที่อนุมัติเพิ่มเติมอีก 1 แสนล้านบาทให้มีการใช้ต่อเนื่องในปี 52-53 โดยบางส่วนอาจจัดทำเป็นงบประมาณผูกพันไปถึงปีต่อไป เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในระดับโลกที่อาจเกิดยาวนานขึ้นขณะที่ค่าเงินบาทในระดับ 35 บาทกว่าๆ /ดอลลาร์ในระยะนี้ นายสุชาติ มองว่า ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ 

.

รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังจากการหารือร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ว่า ที่ประชุมมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น

.

จากวิกฤติการเงินโลกที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งมองว่าจะต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปี จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไปด้วย แต่ยังหวังว่า ปี 52-53 เศรษฐกิจไทยยังจะขยายตัวได้ถึง 4% แม้หลายสำนักจะคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพียง 2-3% ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนดูแลเศรษฐกิจให้นานขึ้น เพราะต่อจากนี้เศรษฐกิจคงจะขยายตัวในอัตราไม่สูงมาก

.

นายสุชาติ กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินงบประมาณกลางปี 1 แสนล้านบาทจะต้องมีการจัดกรอบการใช้เงินให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและนานเพียงพอ ดังนั้น งบทั้ง 1 แสนล้านจึงไม่จำเป็นต้องใช้ให้หมดทั้งก้อนภายในปีงบประมาณ 52 แต่ควรนำมาใช้เพียง 60,000-70,000 ล้านบาท ที่เหลืออีก 30,000-40,000 ล้านบาทให้ใช้เป็นงบผูกพันในปีงบประมาณ 53 จะส่งผลดีมากกว่า

.

"แนวทางที่มองกันคือเศรษฐกิจโลกถดถอยคงไม่ได้เป็นแค่ช่วงสั้นๆ ดังนั้น จึงจะเสนอครม.วางกรอบแนวคิดดูแลเศรษฐกิจที่นานขึ้น ..เช่นเดียวกับเม็ดเงินใช้จ่ายแสนล้านบาท อยากให้ฝ่ายต่างๆ ดูเม็ดเงินที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่จำเป็นต้องใช้งบให้หมดในปีเดียว อาจเป็นงบเหลือจ่ายปีต่อไป เพราะรายได้ภาษีเราอาจเก็บได้ไม่ดี" รมว.คลัง กล่าว

.

รมว.คลัง กล่าวยอมรับว่า ปีงบประมาณ 52 การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอาจต่ำกว่าเป้าหมายที่ 1.565 ล้านล้านบาท ดังนั้น แนวทางการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมากขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งจะต้องอยู่ภายใต้เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีพอ เพราะอัตราภาษีแต่ละประเภทจะต้องเป็นไปตามเป้าหมาย การปรับลดภาษีด้านหนึ่งก็จะต้องมีภาษีอีกด้านหนึ่งเข้ามาเพิ่มขึ้นทดแทน

.

"ข้อเสนอของภาคเอกชนที่ลดภาษีนิติบุคคล 5% จะกระทบการจัดเก็บรายได้ปีละ 50,000 ล้านบาท ไม่รวมการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรื่องนี้เราศึกษาอยู่แล้ว ส่วนการให้เวลาศึกษา 2 เดือนนั้น ไม่ใช่เป็น committ แต่เป็นความเห็นของรองนายกรัฐมนตรี" นายสุชาติ กล่าว

.

รมว.คลัง กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก โดยเน้นดูแลเรื่องการจ้างงานมากขึ้น หลังจากนโยบายเรื่องเฟ้อไม่มีแรงกดดันแล้ว ขณะที่ยังยึดกรอบความยั่งยืนทางการคลัง แม้สถาการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องไปอีก 3 ปี ขณะนี้ หนี้สาธารณะต่อจีดีพี ในปี 51 อาจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 38-39% และปี 52 เพิ่มเป็น 40% ของจีดีพี

.

"สถานการณ์ที่เกิดขึ้น หนักใจต่อประชาชนที่จะมีฐานะความเป็นอยู่ไม่ดี แต่รัฐบาลยังยึดความยั่งยืนทางการคลัง" รมว.คลัง กล่าวในที่สุด