ด้วยความเชื่อมั่นใน "นวัตกรรม" ว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ดี ๆ ให้กับองค์กร แนวนโยบายของ บมจ. ซีเอ็ดยูเคชั่น กุมบังเหียนโดย "ทนง โชติสรยุทธ์" จึงเน้นหนักที่นวัตกรรมมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ "หลังบ้าน" ตั้งแต่การคิดสร้างสินค้าและบริการใหม่ ตลอดจนนวัตกรรมบริหารคน
. |
ผู้เขียน : ปานใจ ปิ่นจินดา |
. |
ด้วยความเชื่อมั่นใน "นวัตกรรม" ว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ดีๆ ให้กับองค์กร แนวนโยบายของ บมจ. ซีเอ็ดยูเคชั่น กุมบังเหียนโดย "ทนง โชติสรยุทธ์" จึงเน้นหนักที่นวัตกรรมมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ "หลังบ้าน" ตั้งแต่การคิดสร้างสินค้าและบริการใหม่ ตลอดจนนวัตกรรมบริหารคน |
. |
เริ่มต้นที่วัฒนธรรมองค์กร ซึ่งว่าด้วยเรื่อง "คน" อันเป็นแกนหมุนสำคัญของกงล้อธุรกิจหนังสือ ซึ่งต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้โดยเด็ดขาด เบื้องหลังความสำเร็จของ ซีเอ็ดยูเคชั่น ที่ ทนง พร้อมเปิดเผยเคล็ด (ไม่) ลับ จึงอยู่ที่เรื่องการบริหาร "หลังบ้าน" นั่นเอง |
. |
"พนักงานของ ซีเอ็ด ไม่มีคำว่า "เสียหน้า" เพราะเราเปิดโอกาสให้พนักงานทุกระดับได้มีส่วนแสดงความคิดเห็น ตลอดจนเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหาร สามารถขายไอเดียได้เต็มที่ และพนักงานก็มีสิทธิเต็มที่ที่จะไม่เห็นด้วยกับเจ้านายและโต้แย้งได้โดยที่เจ้านายก็ไม่รู้สึกเสียหน้า" คือคำยืนยันของ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีเอ็ดยูเคชั่น นามว่า "ทนง โชติสรยุทธ์" |
. |
นอกจากบรรยากาศเป็นกันเองที่ทำให้คนกล้าคิดกล้าพูดแล้วยังกล้าแย้งได้ การเปิดกว้างรับฟังเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือ สร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ หากว่าความคิดนั้นไม่ได้ "ลงมือทำ" ในนิยามของคำว่า "ไร้กรอบ" โดยไม่ยึดติดเอาสิ่งเก่าหรือสิ่งที่มีอยู่มาเป็นข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงว่าเปลี่ยนไม่ได้ |
. |
"ไร้กรอบ" ที่ ทนง เอ่ยนั้น หมายถึงความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ยึดติดกับสิ่งเก่า ซึ่งหากว่าคิดไตร่ตรองแล้วเชื่อมั่นว่าถ้าเปลี่ยนแล้วจะดีขึ้น ต่อให้ต้องรื้อใหม่ทั้งหมดก็คุ้มค่า นั่นเท่ากับว่า วัฒนธรรมภายใต้ชายคาบ้านหลังนี้ ต้องมีคำว่า "ยืดหยุ่น" เป็นหัวใจสำคัญอีกประการ |
. |
ทนง โชติสรยุทธ์ |
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) |
. |
"กฎระเบียบทุกข้อ กระบวนการทำงานทุกเรื่อง เปลี่ยนแปลงได้หมด หากว่ามีเหตุผลที่ดีเพียงพอ แล้วยิ่งถ้าเปลี่ยนแล้วเกิดสิ่งดีๆ ได้โดยไม่กระทบกับคนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่พนักงาน พาร์ทเนอร์ ซัพพลายเออร์ ฯลฯ ให้หมดความสุขในการทำงานลงไป ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เปลี่ยน" คือ ความเชื่อพื้นฐานในการบริหาร "คน" ของ ทนง |
. |
คำว่ายืดหยุ่นนั้นยังครอบคลุมไปถึงเรื่อง "งบประมาณ" ซึ่ง ทนง ยึดถือหลักการที่ว่า "Zero Base" เป็นแก่นคิดสำคัญในการบริหารงบประมาณการใช้จ่าย |
. |
อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า "Zero Base Budgeting" ที่ ทนง พูดถึงนั้นหมายถึง "ไม่มีงบ" เพราะตามความหมายของผู้บริหารท่านนี้ หมายถึง แต่ละโปรเจคที่พนักงานคิดสร้างสรรค์ คิดได้เต็มที่โดยไม่มีการตั้งงบไว้ล่วงหน้าว่า ห้ามใช้เงินเกินเท่าไรต่างหาก ถือเป็นการคิดอิสระโดยไร้เงื่อนไขการเงินมาเป็นกรอบคิดงาน |
. |
"ทุกๆ เรื่องที่ให้โจทย์พนักงานไปคิด ถ้าคิดอย่างรอบด้าน ครอบคลุมแล้ว พบว่ามีประโยชน์และคุ้มค่าจริง เรื่องงบก็ไม่เกี่ยงเลย ถ้าเราต้องลงทุนไป 10 ล้านแล้วผลที่ได้รับมันคุ้มค่าจริง เราก็พร้อมจ่าย แต่สำหรับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ต่อให้จ่ายแค่บาทเดียว ก็ไม่มีทาง" ทนง กล่าว |
. |
เมื่อบวกเข้ากับ "โอกาส" ที่พร้อมจะยื่นให้กับพนักงานทุกคน ทุกระดับชั้นให้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง จะพบว่า ทนง ขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ที่ไม่ธรรมดาเลย |
ในทุกๆ ครั้งที่ ทนง ตั้งโจทย์เพื่อแก้ปัญหา หรือ ตั้งใจจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้น ณ บ้าน ซีเอ็ด แห่งนี้ จะทำการแต่งตั้ง "โปรเจค ลีดเดอร์" ซึ่งจะเป็นผู้กุมชะตาของโปรเจคนั้นๆ โดยไม่เกี่ยงลำดับชั้นของพนักงาน |
. |
เท่ากับว่า พนักงานธรรมดาๆ ก็สามารถรับผิดชอบโปรเจคพิเศษได้ ทำให้พนักงานทุกคนในองค์กรเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะคิด อยากจะอาสา และ กล้าทดลอง โดยคนที่ได้รับเลือกจะรู้สึกภูมิใจที่องค์กรเห็นความสำคัญ และมุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานให้เจ้านายเห็น เท่านี้ก็เป็นแรงกระตุ้นให้ทุกคนอยากทำงานเต็มที่เพื่อพิสูจน์ตัวเอง |
. |
การเปิดกว้างให้พนักงานทุกคนได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่นี่เอง ที่ส่งผลสะท้อนออกมาผ่านสินค้าและบริการของซีเอ็ด ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นจากความคิดที่หลากหลาย ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงจนถึงเด็กจบใหม่ที่อยากโชว์กึ๋น ไม่เกี่ยงวุฒิปริญญาบัตรระดับใดที่ห้อยท้าย หากว่าตั้งใจจริง ทุกคนย่อมมีโอกาส จากวัฒนธรรมหลังบ้านที่เปิดกว้าง จึงเป็นกระบวนการที่ส่งผลตรงถึง "นวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์" ทั้งในรูปของสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ในที่สุด |
. |
หากพิจารณาแล้วจะพบว่าสินค้าจากซีเอ็ดมักจะมาจากโจทย์เรื่องความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก โดย ทนง เปิดเผยถึง "เทคนิค" ที่ปฏิบัติจริง และควรค่าแก่การเรียนรู้ หัวใจอยู่ที่การแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค ด้วยการหมั่นเช็คว่า อะไร คือ สิ่งที่ผู้บริโภคหงุดหงิด ซึ่งซีเอ็ดจะเข้าไปนำเสนอโปรดักท์ที่แก้ปัญหาความหงุดหงิดของผู้บริโภคให้ได้ |
. |
นอกจากนี้ "ความต้องการที่ซ่อนเร้น" เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราะแม้กระทั่งตัวผู้บริโภคเองยังมีหลายครั้งที่ไม่รู้แม้กระทั่งความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง "ถามเท่าไรก็ตอบไม่ได้ ว่าต้องการอะไร จนกว่าจะได้เห็นหรือสัมผัสนั่นแหละ ถึงจะรู้ว่านี่คือสินค้าหรือบริการอยากได้มานาน" หนังสือชุด "วิทยาศาสตร์น่าสนุก" จึงถือเป็นเคสตัวอย่างของนวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์ ที่ ทนง กล่าวถึง |
. |
"เมื่อก่อนคนส่วนมากไม่เชื่อว่าเด็กไทยจะสนใจอ่านหนังสือความรู้ แต่ซีเอ็ดกลับมองตรงกันข้าม ว่าไม่ใช่เพราะเด็กไทยไม่ชอบอ่านหนังสือความรู้ แต่เป็นเพราะวิธีการนำเสนอของหนังสือความรู้ที่มีอยู่เดิมไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กต่างหาก เราเลยคิดนำเสนอเรื่องราวความรู้ผ่านการ์ตูนซึ่งถูกกับรสนิยมของเด็กๆ มากกว่าหนังสือทั่วไป" |
. |
ยังไม่รวมถึงเคสอื่นๆ ที่ว่าด้วยนวัตกรรมเชิงผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น พจนานุกรมที่มีคำศัพท์อัพเดทใหม่ หรือ จะเป็น หนังสืออ่านนอกเวลาภาษาอังกฤษที่ห้อยท้ายคำแปลของศัพท์ยากๆ ไว้ด้านล่าง ต่างก็เกิดขึ้นจากวัตถุประสงค์ตั้งต้นสมัยก่อตั้งบริษัท ซึ่งประกาศไว้ว่า "ซีเอ็ดจะเป็นผู้นำในการทำให้คนไทยหาความรู้ได้ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้น" โดยเอาวิธีการจัดการด้านธุรกิจมาทำให้เป็นผลนั่นเอง |
. |
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ |