เนื้อหาวันที่ : 2008-11-20 16:05:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1528 views

สนพ. เดินหน้าอนุมัติ ไบโอแก๊ส เพิ่มอีก 8 แห่ง

สนพ. ปลื้ม โรงงานอุตสาหกรรมแห่เข้าร่วมโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ เกินเป้าที่วางไว้ พร้อมอนุมัติเพิ่มอีก 8 รวมยอดปี 51 มี 46 ราย ผลิตก๊าซชีวภาพได้กว่า 300 ล้านลบ.ม./ปี คิดเป็นเงิน 1,842 ล้านบาท

.

สนพ. ปลื้ม โรงงานอุตสาหกรรมแห่เข้าร่วมโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ เกินเป้าที่วางไว้  พร้อมอนุมัติเพิ่มอีก 8  รวมยอดปี 51 มี 46 ราย ผลิตก๊าซชีวภาพได้กว่า 300 ล้านลบ.ม./ปี คิดเป็นเงิน 1,842 ล้านบาท

.

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากผลสำเร็จของการสนับสนุน "โครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม" โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2551 มีโรงงานที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจำนวน 38 ราย  โดยครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมแป้ง น้ำมันปาล์ม น้ำยางข้น เอทานอล อาหารและอื่นๆ คิดเป็นวงเงินลงทุนรวม 4,264.5 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ รวม 390.5 ล้านบาท หรือประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ถึง 1,614 .5  ล้านบาท/ปี

.

และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรม ได้นำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพไปใช้ให้มากขึ้น สนพ. จึงได้สนับสนุนอีก 8 ราย เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1. บริษัท มามาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (บริษัท เพชรธารา จำกัด )  2. บริษัท มามาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (บริษัท ลพบุรีสตาร์ช จำกัด)  3. บริษัท กิจการร่วมค้าเอ็นทีแอลไบโอเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด  4. บริษัท เชียงราย พลังงานเพื่อชุมชน จำกัด 5. บริษัท ท่าชนะน้ำมันปาล์ม จำกัด

.

6. บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด 7. บริษัท พี แอนด์ ปภพ  รีนิวเอเบิล จำกัด และ 8. บริษัท ปภพ รีนิวเอเบิล จำกัด (บริษัท ไทยซานมิเกลลิเคอร์  จำกัด)  โดยทั้ง 8 โรงงานจะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ รวมทั้งสิ้น 87,270,000 บาท  และคาดว่าจะประหยัดพลังงานได้ 228 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปี 2551 มีทั้งหมด 46 ราย คิดเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ รวม 478 ล้านบาท หรือประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ถึง 1,842 ล้านบาท/ปี

.

อนึ่ง ประเทศไทยมีน้ำเสียหรือของเสียจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งในภาคการเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดการและบำบัดให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้กระทรวงพลังงานในฐานะหน่วยงานหลักที่ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีการบำบัดของเสียแบบไร้อากาศ เพื่อให้ได้ก๊าซชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานทดแทน และยังมีผลพลอยได้คือปุ๋ยอินทรีย์  ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในปัจจุบัน  ช่วยอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน