เนื้อหาวันที่ : 2008-11-20 13:08:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1257 views

พาณิชย์เผย 3 มาตรการ กู้วิกฤติเศรษฐกิจปี 52

ก.พาณิชย์ เตรียมรับมือวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเงินในสหรัฐอเมริกา ที่ได้ลุกลามไปยังภูมิภาคยุโรปหลายประเทศ (อังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ฯลฯ) ในเอเชียมี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศใน ASEAN

นายไชยา  สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแนวทางรับมือวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเงินในสหรัฐอเมริกา ที่ได้ลุกลามไปยังภูมิภาคยุโรปหลายประเทศ (อังกฤษ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ฯลฯ) ในเอเชียมี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศใน ASEAN เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ตลอดจนตลาดใหม่อย่างจีนและอินเดีย ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงมีแผนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2552 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

.

กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหนึ่งในกระทรวงหลักทางเศรษฐกิจ ได้กำหนดมาตรการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสหลังของปี 2552 เพื่อเป็นกลไกในการช่วยผลักดัน GDP ของประเทศ โดยการใช้เงินเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2552 อีก 1,720 ล้านบาทเข้าในระบบเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวทางดำเนินการใน 3 มาตรการที่สำคัญ คือ

.

1. เพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศอีก 6,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการส่งอออกของประเทศ (6.6 ล้านล้านบาท) โดยการจัดกิจกรรมเพิ่มภายในวงเงิน 370 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ จัดคณะผู้แทนด้านการค้า/การลงทุน/การท่องเที่ยว (Thailand Trade Team) การพัฒนาย่านการค้าเพื่อการส่งออก และเร่งรัดเจาะขยายตลาดต่างประเทศรายภูมิภาค (Regional Hub)

.

2. เพิ่มรายได้ภาคเกษตรอีกจำนวน 12,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 ของมูลค่าภาคเกษตร (1.2 ล้านล้านบาท) โดยการจัดกิจกรรมเพิ่มภายในวงเงิน 600 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ พัฒนา/เพิ่ม  คุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร ส่งเสริมตลาดกลางชุมชน และส่งเสริมการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า

.

3. กระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคของประเทศจำนวน 5,700 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ของ GPP ของจังหวัด (5.386 ล้านล้านบาท) โดยการจัดกิจกรรมเพิ่มภายในวงเงิน 750 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสมรรถนะธุรกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกของประเทศ สร้างพลังธุรกิจเพื่อการอยู่รอดให้กับธุรกิจไทย พัฒนาย่านการค้าในภูมิภาคโดยจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้าและสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าจากโรงงาน (Factory Outlet)  จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างจังหวัด (Inter Provincial Business Matching) รวมถึงการจัดมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญากระตุ้นเศรษฐกิจไทย

.

นอกจาก 3 มาตรการดังกล่าวข้างต้นแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะได้ผลักดันกิจกรรมส่งเสริมด้านการตลาดสินค้า OTOP และส่งเสริมกิจกรรมครัวไทยสู่ครัวโลก ที่จะเร่งดำเนินการทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าและบริการมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 24,300 ล้านบาท และเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแบบทวีคูณอย่างต่อเนื่อง 3-4 รอบ อันจะทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท