เนื้อหาวันที่ : 2008-11-18 12:09:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1237 views

สศอ. ถก ญี่ปุ่น ยกระดับอุตฯ เหล็ก

สศอ. หารือญี่ปุ่น วางแผนพัฒนาร่วมอุตฯ เหล็ก ตามกรอบ JTEPA มั่นใจเป็นแนวทาง เสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน ชี้ศักยภาพไทย เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

สศอ. หารือญี่ปุ่น วางแผนพัฒนาร่วมอุตฯ เหล็ก ตามกรอบ JTEPA มั่นใจเป็นแนวทาง เสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน ชี้ศักยภาพไทย เติบโตอย่างแข็งแกร่ง    

.

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับผู้แทนของประเทศญี่ปุ่น ในการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมืออุตสาหกรรมเหล็กไทย-ญี่ปุ่น (ประจำปี2551) เพื่อหารือเรื่องการดำเนินโครงการความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ภายใต้ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) รวมทั้งกำหนดแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กสำหรับปี 2552 การติดตามความก้าวหน้าในโครงการความร่วมมือที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว หลังจากข้อตกลงมีผลบังคับใช้ และนอกจากนี้ยังมีการหารือเรื่องปริมาณโควตาเหล็กที่จะเสนอกระทรวงพาณิชย์ในการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ JTEPA ด้วย

.

หลังจาก JTEPA มีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2550 ฝ่ายไทย โดยสศอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายญี่ปุ่นได้ร่วมกำหนดแนวทางและการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องกับแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งแผนงานที่สำคัญมีด้วยกัน 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ การเสริมสร้างรากฐานเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมเหล็กไทย การเสริมสร้างเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมเหล็กไทยให้เข้มแข็ง การพัฒนาความเชี่ยวชาญ

.

สำหรับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล็กไทย และความร่วมมือด้านการศึกษาในการพัฒนาทักษะของวิศวกรในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยที่ผ่านมาไทยและญี่ปุ่นมีการขยายความร่วมมือกันมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเหล็กของไทยและญี่ปุ่น เช่น โครงการจัดสัมมนาเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมเหล็ก  การฝึกอบรมและให้วิทยากรดูงานในญี่ปุ่น เป็นต้น

.

"ในปี 2552 ไทยได้หารือในหลายประเด็น โดยเฉพาะเกี่ยวกับประเด็นการนำตำราวิชาการที่เป็นลิขสิทธิ์ของประเทศญี่ปุ่น มาแปลเพื่อเผยแพร่ให้กับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการสั่งสมความรู้และเป็นการช่วยเพิ่มทักษะในมิติการพัฒนาขั้นสูงขึ้นต่อไป เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นถือว่ามีอุตสาหกรรมเหล็กที่แข็งแกร่งเป็นที่ยอมรับในระดับโลก อีกทั้งการที่ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรม- ยานยนต์"

.

"ซึ่งการพัฒนาทักษะความรู้และเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยจะทำให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งตำราวิชาการที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวมีกว่า 40 เล่ม ซึ่งปี 2551 ญี่ปุ่นได้ดำเนินการแปลเป็นภาษาอังกฤษ แล้วมอบมาให้ประเทศไทยได้พียง 1 เล่ม โดยจะทะยอยแปลให้ปีละ 1 เล่ม ซึ่งกว่าจะแปลครบทั้งหมดต้องใช้เวลานานมาก ดังนั้น ไทยจึงได้เสนอขอลิกสิทธิ์มาจัดแปลเป็นภาษาไทยเอง โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้"

.

นายอาทิตย์ กล่าวว่า  ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าด้านการถ่ายทอดความรู้ โดยการจัดทำเป็นวีดีโอ ซึ่งมีการเผยแพร่ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการเองเป็นการส่งต่อความรู้ซึ่งกันและกัน ตลอดจนการใช้วิดีโอเพื่อเผยแพร่สำหรับสาธารณะ ให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นการปูพื้นฐานความรู้เรื่องอุตสาหกรรมหลักที่เข้าใจง่าย

.

ซึ่งไทยได้หารือเพื่อนำวีดีโอดังกล่าวมาใช้เผยแพร่ที่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอง ตลอดจนเผยแพร่อย่างเป็นสาธารณะเพื่อเป็นการให้ความรู้สำหรับประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความร่วมมือด้านวิชาการ โดยการเตรียมจัดทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยไทยกับญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันและเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆสำหรับใช้ในการพัฒนาและยกระดับให้กับอุตสาหกรรมเหล็กให้มีความทันสมัยต่อไป