เนื้อหาวันที่ : 2006-09-13 10:26:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2164 views

วศ.คอมพิวเตอร์ มจธ. จับมือสำนักข่าวกรองแห่งชาติเปิดตัวระบบตรวจค้นวัตถุระเบิด

ภาควิชาวิศวกรรมคอมฯ มจธ. พัฒนาระบบตรวจใต้ท้องรถ โดยทางสำนักข่าวกรองแห่งชาติเป็นผู้สนับสนุนด้านงบประมาณ สามารถตรวจจับวัตถุระเบิดได้หลายชนิด

 

ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พัฒนาระบบตรวจใต้ท้องรถ โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณจากทางสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์กลิ่นหรือไอระเหย มีประสิทธิภาพ ใช้ตรวจจับวัตถุระเบิดได้หลายชนิด รวมทั้งสารเสพติด สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ทันทีเพียงแต่ปรับอุปกรณ์ประกอบเท่านั้น

 

ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าหลายประเทศกำลังประสบปัญหาความขัดแย้งในเรื่องดินแดน ลัทธิความเชื่อทางศาสนาและการเมืองระหว่างประเทศ และก่อให้เกิดความรุนแรง และปัญหาผู้ก่อการร้าย ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ต้องระมัดระวัง และให้ความสนใจกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งมักมาในรูปแบบการใช้วัตถุระเบิดเป็นเครื่องมือ ทำให้หน่วยงานที่มีความเสี่ยง ต้องเฝ้าระมัดระวังเป็นพิเศษ และเสริมมาตรการในการตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะที่จะผ่านเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งโดยทั่วไปที่เห็นกันนั้น จะเป็นการตรวจโดยใช้อุปกรณ์ตรวจใต้ท้องรถที่เป็นกระจกเงาเพื่อสะท้อนภาพวัตถุต่าง ๆ ที่อยู่ใต้ท้องรถ

 

ซึ่งมักทำให้เกิดความล่าช้าในกรณีมีรถเข้าออกมาก จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย รศ.ดร.ธำรงรัตน์ อมรรักษา คิดค้นระบบตรวจค้นวัตถุระเบิดใต้ท้องรถขณะขับเคลื่อน โดย รศ.ดร.ธำรงรัตน์ กล่าวว่า ช่วงแรกเราพัฒนาตรวจใต้ท้องรถ โดยใช้กล้องวีดีโอวงจรปิด แต่มีจุดอ่อน เช่น ถ้าเจ้าหน้าที่ที่คอยเฝ้าดูภาพวีดีโอวงจรปิดไม่มีความชำนาญเพียงพอเกี่ยวกับการซ่อนวัตถุระเบิด ก็อาจจะทำให้ระเบิดเล็ดลอดเข้าไปได้ ดังนั้น เราจึงได้ร่วมมือสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พัฒนาระบบต้นแบบเพื่อนำไปใช้งานจริงได้ และเราได้นำไปทดสอบจริงโดยได้รับความร่วมมือทั้งทางด้านเครื่องมือและบุคลากร จากทางกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบัญชาการตำรวจนครบาล และบริษัท แอปเปิลไซเอ็นทิฟิค จำกัด

 

ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้จะใช้ส่วนประกอบหลัก คือ อุปกรณ์ตรวจค้นวัตถุระเบิดที่ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์กลิ่นหรือไอระเหยและส่วนประกอบสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ งบประมาณ และสิ่งที่หาได้ในท้องตลาด ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนอุปกรณ์ตรวจค้นไอระเหยวัตถุระเบิด มาเป็นอุปกรณ์ตรวจค้นสารเสพติดที่ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์กลิ่นหรือไอระเหย ระบบที่ได้จะเปลี่ยนเป็นระบบตรวจค้นสารเสพติดที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ท้องรถขณะขับเคลื่อน เป็นต้น รายละเอียดของระบบตรวจค้นวัตถุระเบิดใต้ท้องรถขณะขับเคลื่อนที่ติดตั้งบริเวณทางเข้าอาคารที่จอดรถ

 

รศ.ดร. ธำรงรัตน์ อธิบายว่า จากรูป รถยนต์ทุกคันที่จะวิ่งเข้าอาคารที่จอดรถ จะถูกบังคับโดยกรวยยางที่ตั้งวางไว้เป็นแนวเพื่อให้วิ่งผ่านบริเวณที่ใช้ตรวจค้น เมื่อรถยนต์วิ่งเข้ามาในบริเวณดังกล่าวแล้ว จะถูกบังคับให้วิ่งผ่านแนวลูกระนาดที่วางเรียงซ้ายขวาสลับกันไป ขณะที่รถวิ่งผ่านแนวลูกระนาด ตัวรถจะเกิดการสั่นสะเทือน (ความรุนแรงของการสั่นสะเทือนจะขึ้นอยู่กับความสูงของลูกระนาดที่ใช้) วัตถุระเบิดที่ถูกแอบติดตั้งไว้ใต้ท้องรถก็จะถูกสั่นสะเทือนไปด้วย ไอระเหยของวัตถุระเบิดที่สะสมอยู่ภายในวัสดุห่อหุ้มก็จะเล็ดลอดออกมา

 

ในเวลาเดียวกันกับที่รถวิ่งผ่านแนวลูกระนาด ที่ด้านข้างของตัวรถจะใช้พัดลมสร้างกระแสลมที่มีความแรงสูงเป่าไปที่ใต้ท้องรถเพื่อให้ไอระเหยของวัตถุระเบิดที่เล็ดลอดออกมาเกิดการฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ อีกฝั่งหนึ่งของตัวรถจะมีท่อรับลมเพื่อคอยดักลมที่ถูกเป่ามาจากพัดลมและส่งผ่านไปยังตัวตรวจจับ (Sensor) ของอุปกรณ์ตรวจค้นวัตถุระเบิดที่ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์กลิ่นหรือไอระเหย ที่ท่อรับลมจะใช้พัดลมขนาดเล็กอีกตัวช่วยดูดอากาศในบริเวณนั้น เพื่อเพิ่มอัตราเร็วและปริมาตรของอากาศขณะที่วิ่งผ่านตัวตรวจจับข้างต้น หลังจากนั้นรถยนต์จะมารอที่จุดรอรับบัตร เพื่อรับบัตรจอดรถจากเจ้าหน้าที่ ระหว่างที่รอรับบัตร ถ้าอุปกรณ์ตรวจค้นวัตถุระเบิดตรวจไม่พบวัตถุระเบิดใด ๆ แผงกั้นก็จะเปิดขึ้นเพื่อให้รถคันดังกล่าววิ่งผ่านไปตามปกติ ในกรณีที่มีการตรวจพบวัตถุระเบิด อุปกรณ์ตรวจค้นวัตถุระเบิดก็จะส่งสัญญาณเตือนขึ้นมา แผงกั้นจะไม่เปิด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรถยนต์คันดังกล่าวอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

 

ผู้สนใจระบบระบบตรวจค้นวัตถุระเบิดใต้ท้องรถขณะขับเคลื่อน ของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.ธำรงรัตน์ อมรรักษา โทร. 02-470-9083