เนื้อหาวันที่ : 2006-09-13 09:30:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1588 views

สุริยะ ดันอุตฯ อาหารรุกตลาดอินเดีย ชูเอฟทีเอโกยรายได้เข้าไทย

สุริยะ ลุยแดนภารตะ ดันอุตสาหกรรมอาหารส่งออก แนะผู้ประกอบการโชว์ฝีมือผลิตสินค้าอาหารแนวใหม่ ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออก มั่นใจอินเดียตลาดใหญ่ เพิ่มยอดออเดอร์ให้ไทย

สุริยะ ลุยแดนภารตะ ดันอุตสาหกรรมอาหารส่งออก แนะผู้ประกอบการโชว์ฝีมือผลิตสินค้าอาหารแนวใหม่ ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มการส่งออก มั่นใจอินเดียตลาดใหญ่ เพิ่มยอดออเดอร์ให้ไทยในอนาคต เผยผลการเปิดเอฟทีเอ ไทย-อินเดีย เอื้อประโยชน์ไทยได้ดุลการค้า ระบุอุตสาหกรรมประมง อาหารทะเล และผลไม้โกยรายได้เข้าประเทศ

.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ฯพณฯเอกอัคราชทูตพิเศษผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทย  ได้เข้าพบ เพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-อินเดีย ในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากเล็งเห็นว่าทั้งสองประเทศมีศักยภาพในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก ซึ่งประเทศอินเดียสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ขณะเดียวกันไทยต้องการที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารไปอินเดียมากขึ้น ซึ่งอินเดียนับเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน

.

อุตสาหกรรมอาหารของไทยถือว่าเป็นที่ยอมรับในตลาดทั่วโลก ด้วยกระบวนการผลิตที่สะอาด และปลอดภัยตามหลักมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามด้วยกระบวนการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น เห็นว่า ผู้ประกอบการควรเร่งปรับกลยุทธ์ธุรกิจ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาด เพื่อชิงความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าถ้าเทียบในระดับฝีมือการผลิตและแปรรูปไทยถือว่าไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่แล้ว นายสุริยะกล่าว

.

ทั้งนี้ จากการที่ไทยเปิดเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย ได้เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล รวมถึงอุตสาหกรรมผลไม้มากขึ้น โดยจากสถิติตั้ง 1 กันยายน 2547 ถึง 31 สิงหาคม 2548 สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น 11 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 15.41 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเปิดเอฟทีเอ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 64 ซึ่งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งให้ทุกหน่วงงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสถาบันอาหาร เร่งพัฒนาระบบงานวิจัยและทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารให้เป็นที่ยอมรับในตลาดประเทศคู่ค้าทั่วโลกมากขึ้น เพื่อลดข้ออุปสรรคทางการที่ที่ไม่ใช่ภาษี อันจะนำไปสู่การขยายตลาดการค้าใหม่ ๆ ในอนาคต

.

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ไทยควรเร่งสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอินเดีย เพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากร และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอินเดียมีความก้าวหน้ามาก ประกอบกับกระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายที่จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานระดับสากลมากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าทางความรู้ ให้สินค้าอุตสาหกรรมให้สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้น

.

สำหรับในปี 2548 ที่ผ่านมาไทยนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าไขมัน น้ำมันและผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าวัตถุดิบเพื่อการแปรรูป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากน้ำมัน และสินค้าประมง ขณะที่สินค้าที่ไทยส่งออกไปอินเดีย ได้แก่ คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก รถยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ เคมีภัณฑ์ ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกล และเส้นใยประดิษฐ์