เนื้อหาวันที่ : 2008-11-07 09:16:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1404 views

กฟผ.จ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมสร้าง รฟ.นิวเคลียร์ในไทย

กฟผ. ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท Burns and Roe Asia, Ltd. ศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยใช้เวลา 20 เดือน ก่อนเสนอให้รัฐบาลตัดสินจะเดินหน้าหรือไม่ ขณะที่ กฟผ. เตรียมพร้อมด้านบุคลากร ส่งอบรมและศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

กฟผ. ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท  Burns and Roe Asia, Ltd.  ศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย โดยใช้เวลา 20 เดือน ก่อนเสนอให้รัฐบาลตัดสินจะเดินหน้าหรือไม่ ขณะที่ กฟผ. เตรียมพร้อมด้านบุคลากร ส่งอบรมและศึกษาทั้งในและต่างประเทศ

.

เมื่อวันที่ (5 พ.ย.)  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดพิธีลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กับบริษัท  Burns and Roe Asia, Ltd.  โดยมีนายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. และผู้แทนจากบริษัท ฯ ร่วมลงนาม ซึ่งได้รับเกียรติจากนายณอคุณ  สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นสักขีพยาน ณ  ห้องกมลทิพย์  ชั้น 2 โรงแรมสยามซิตี้ ถ.ศรีอยุธยา กรุงเทพฯ

.

นายสมบัติ กล่าวว่า  บริษัทที่ปรึกษา Burns and Roe Asia, Ltd.  จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการคัดเลือกจากคณะทำงานเพื่อดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการประสานงานด้านวางแผนการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้เป็นผู้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study) โดยจะศึกษาด้านความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การจัดการกากกัมมันตรังสี และการคัดเลือกสถานที่ก่อสร้าง

.

รวมทั้ง การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การศึกษาเชิงเศรษฐศาสตร์และการเงิน และการวางแผนพัฒนาบุคลากร โดยจะใช้เวลาศึกษา 20 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ก่อนจะนำเสนอให้รัฐบาลตัดสินว่าประเทศไทยจะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ ช่วงปลายปี 2553

.

ขณะเดียวกัน  ผู้ว่าการ กฟผ.  ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของ กฟผ. ว่าขณะนี้ได้เตรียมพร้อมด้านบุคลากร โดยได้รับความร่วมมือจากภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดอบรมให้ความรู้พื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ ให้ผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งไปเรียนในหลักสูตรก้าวหน้าในประเทศที่พัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไป

.

ทั้งนี้ กฟผ. ได้พิจารณาแล้วว่าการเตรียมความพร้อมทุกด้าน เพื่อรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นับได้ว่าเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันนี้ปริมาณสำรองน้ำมันในโลกมีเหลือใช้ได้อีกประมาณ 40 ปี ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้มากถึง ร้อยละ 70  แหล่งก๊าซในประเทศก็จะหมดไปในระยะเวลาอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า  ดังนั้นอนาคตของเชื้อเพลิงที่พึ่งพาได้

.

นอกเหนือจากการนำเข้าถ่านหินซึ่งจะมีแหล่งสำรองใช้ไปได้อีก 200 ปี พลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นพลังงานทางเลือกอีกทางหนึ่งของประเทศไทย  โดยต้องมีการศึกษาและติดตามเทคโนโลยีเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตเช่นกัน