เนื้อหาวันที่ : 2008-11-06 14:48:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1253 views

10 เดือน ลงทุนขยายตัวร้อยละ 4.2 อุตฯบริการ สาธารณูปโภค อิเล็กทรอนิกส์ ลงทุนมากที่สุด

บอร์ดบีโอไอ เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 10 เดือน จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 21 อุตสาหกรรมบริการ สาธารณูปโภค อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังครองแชมป์ลงทุนต่อเนื่อง

บอร์ดบีโอไอ เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 10 เดือน จำนวนโครงการเพิ่มขึ้น ส่วนมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 21 อุตสาหกรรมบริการ สาธารณูปโภค อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า  ยังครองแชมป์ลงทุนต่อเนื่อง

.

นายโอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า บีโอไอได้รายงานถึงสถานการณ์ภาวะการลงทุนในช่วง 10 เดือน (ม.ค. ต.ค. 51) ของปีนี้ ว่า มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,080 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.24  เมื่อเทียบกับจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมในช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 1,036 โครงการ  ส่วนมูลค่าเงินลงทุนของช่วง 10 เดือนปีนี้ มีมูลค่า 376,900 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21 ของช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 477,900 ล้านบาท  

.

"การที่มูลค่าการขอรับส่งเสริมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีโครงการด้านสาธารณูปโภค และปิโตรเคมี เป็นมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท" นายโอฬารกล่าว

.

สำหรับกิจการที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงสุดคือ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภค มีมูลค่าการลงทุนรวม 139,900 ล้านบาท โดยมีโครงการลงทุนที่สำคัญ   เช่น  กิจการโรงแรม โรงไฟฟ้า กิจการขนส่งทางอากาศ   เป็นต้น รองลงมาคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า  มีมูลค่าการลงทุนรวม 69,300 ล้านบาท มีโครงการสำคัญ คือการผลิตแผ่น เวเฟอร์ สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์  โครงการผลิตหลอด LED เป็นต้น  

.

รองลงมาคือ กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง  มีมูลค่าการลงทุนรวม 56,200 ล้านบาท มีโครงการสำคัญ คือ การผลิตรถจักรยานยนต์และเครื่องยนต์  โครงการผลิตเกียร์รถขับเคลื่อน 4 ล้อ โครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ Mould & Die ที่มีกว่า 20 โครงการ  เป็นต้น

.

ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วง 10 เดือน มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุน 712 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนมูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ 35 ค่ากว่า 247,000 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 378,000 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ยังคงเป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น มูลค่าเงินลงทุนรวม 72,863 ล้านบาท ยุโรป มูลค่าเงินลงทุนรวม 61,652 ล้านบาท  และอาเซียน มูลค่าเงินลงทุน 43,940 ล้านบาท