เนื้อหาวันที่ : 2008-10-31 11:02:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1516 views

บีโอไอ อนุมัติลงทุน 47 โครงการ ยักษ์ใหญ่ชิ้นส่วนอิเล็กฯ สหรัฐขยายลงทุนในไทย

บีโอไอ ไฟเขียวส่งเสริมการลงทุนอีก 47 โครงการ กว่า 2 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ บริการ และสาธารณูปโภค ยังครองแชมป์สูงสุด 19 โครงการ คาดสิ้นปีนี้พิจารณาได้ 400 โครงการ บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เดินหน้าขยายลงทุนในไทยกว่า 7 พันล้านบาท

.

คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการบีโอไอ ประชุมครั้งที่ 2 ไฟเขียวส่งเสริมการลงทุนอีก 47 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ บริการ และสาธารณูปโภค ยังครองแชมป์สูงสุด 19 โครงการ คาดภายในสิ้นปีนี้พิจารณาได้หมดทั้ง 400 โครงการ บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เดินหน้าขยายลงทุนในไทยกว่า 7 พันล้านบาท

.

พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เร่งรัดการพิจารณาให้การส่งเสริมการลงทุนแก่โครงการที่ค้างพิจารณาอยู่นั้น เมื่อวันอังคารที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ

.

นาง อรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการบีโอไอเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการทั้งสิ้น 47 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 22,132.71 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่ม อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก และกิจการบริการ สาธารณูปโภค จำนวน 19 โครงการ กลุ่ม อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร เหล็ก จำนวน 14 โครงการ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบาจำนวน 13 โครงการ และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 1 โครงการ

.

ทั้งนี้ การอนุมัติให้การส่งเสริมในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ภายหลังจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ และได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนไปในครั้งแรกแล้ว 45 โครงการมูลค่ากว่า 19,600 ล้านบาท อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และ สาธารณูปโภค ได้รับส่งเสริมมากที่สุด

.

การอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในครั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก และกิจการบริการ สาธารณูปโภค ได้รับการส่งเสริมมากที่สุดจำนวน 19โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 6,090 ล้านบาท โดยมีกิจการที่น่าสนใจ ได้แก่ บริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค 7 จำกัด ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการขยายกิจการเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ 1,600 ไร่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี

.

โดยบริษัทมีแผนในการพัฒนาโครงการระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2554 เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสหากรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมกระดาษ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

.
นอกจากนี้ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้แก่ บริษัท จุฑานาวี จำกัด ( มหาชน ) จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนเพื่อขยายกิจการ การให้บริการเดินเรือ เพื่อขนส่งสินค้าเทกองสินค้าทั่วไปทางทะเลระหว่างประเทศลักษณะประจำเส้นทาง มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 511.5 ล้านบาท โดยบริษัทจะให้บริการขนส่งสินค้าประจำเส้นทางไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ โดยสินค้าหลักที่จะให้บริการขนส่ง ได้แก่ เหล็ก ถ่านหิน และสินค้าเกษตร
.

และยังให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล ของ บริษัท สันทัดและบุตร จำกัด โดยจะมีการขนถ่ายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ปีละประมาณ 96,000 ทีอียู ขนถ่ายสินค้าทั่วไป สินค้าเทกอง และสินค้าเหลว ปีละประมาณ 3,144,000 ตัน วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 493 ล้านบาท ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อสร้างท่าเทียบเรือจำนวน 5 ท่า พร้อมลานพักสินค้าและคลังเก็บสินค้ายักษ์ใหญ่จากสหรัฐ-อินโดนีเซียเดินหน้าลงทุนขนาดใหญ่ในไทย

.

ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแก่ บริษัท ไมโครชิพ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็น บริษัทในเครือของไมโครชิพ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในการขอรับการส่งเสริมขยายกิจการผลิต IC ,IC TESTING และ IC MODULES TESTING มูลค่าเงินลงทุนรวม 7,390.1 ล้านบาท

.

 ซึ่งการลงทุนต่อเนื่องภายหลังบริษัทได้เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 5 โครงการตั้งแต่ปี 2538 และไทยนับเป็นฐานการผลิต IC (IC ASSEMBLY & PACKAGING) ที่ใหญ่ที่สุดของไมโครชิพ โดยตามแผนการลงทุน บริษัทจะใช้วัตถุดิบ และชิ้นส่วนจากประเทศไทยทั้งหมด โดยในช่วง 3 ปีแรก จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 621 ล้านบาท

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติ ส่งเสริมการลงทุนให้แก่ MR.TJIO SIANG MIN นักลงทุนจากอินโดนีเซีย ในการขอรับการส่งเสริมผลิตรถจักรยานยนต์ประเภท 4 จังหวะ ขนาดตั้งแต่ 500 ซีซี ขึ้นไป โดยมีกำลังผลิต ปีละประมาณ 25,000 คัน มูลค่าเงินลงทุน 200 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ. ระยอง โดยมีแผนที่จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เช่น ชิ้นส่วนระบบเบรก ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ท่อโลหะเพื่อมาขึ้นรูปโครงรถ รวมถึงชิ้นส่วนยาง และพลาสติก ซึ่งคาดว่า จะมีมูลค่ารวม 1,117.5 ล้านบาทต่อปี

.

อุตสาหกรรมการเกษตรลงทุนต่อเนื่อง ที่ประชุมยังเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทไพโอเนีย ไฮ-เบรด (ไทยแลนด์) จำกัด ในการขอรับส่งเสริมขยายกิจการ ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดคัดคุณภาพ ปีละประมาณ 24,000 ตัน มูลค่าเงินลงทุน 380 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ จ.ลำพูน โดยจะเป็นการพัฒนาสายพันธุ์คุณภาพ ของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในไทย เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรนำไปปลูกเพื่อจำหน่ายต่อให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ มีการใช้วัตถุดิบในประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาทต่อปี

.

รวมทั้งให้การส่งเสริมการลงทุนแก่ บริษัท ร่วมเจริญพัฒนาการข้าว จำกัด ในกิจการข้าวคัดคุณภาพ มูลค่าเงินลงทุน 600 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่ จ.พิจิตร มีกำลังผลิตปีละประมาณ 84,000 ตัน โดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด ได้แก่ ข้าวสาร และข้าวกล้อง มูลค่าประมาณ 1,671 ล้านบาทต่อปี