เนื้อหาวันที่ : 2008-10-31 10:01:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1216 views

โพลล์หอการค้าฯ จี้รัฐแก้ปัญหาการเมืองตัวหลักกดเศรษฐกิจไทยทรุด

ม.หอการค้าไทย เผย ผลสำรวจการประเมินสถานการณ์ธุรกิจไทยในไตรมาส 4/51 พบว่า ภาคธุรกิจเห็นว่าความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโดยตรง โดยเฉพาะต่อภาคการท่องเที่ยว

นาย ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจการประเมินสถานการณ์ธุรกิจไทยในไตรมาส 4/51 พบว่า ภาคธุรกิจเห็นว่าความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจโดยตรง โดยเฉพาะต่อภาคการท่องเที่ยว

.

ทั้งนี้ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขโดยเร็วมากกว่าผลกระทบจากวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจโลกที่ขณะนี้กระทบเฉพาะการส่งออกและทุกประเทศกำลังเร่งแก้ไข แต่ปัญหาการเมืองไทยที่ยืดเยื้อขณะนี้กระทบต่อความเชื่อมั่น ทำให้ประชาชนและนักลงทุนชะลอการใช้จ่าย และการลงทุน จนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำลงได้อีก

.

 "เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวขณะนี้ได้รับผลกระทบหนักสุดจากปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งกระทบชัดเจนต่อการท่องเที่ยว เพราะทำให้นักท่องเที่ยว ยอดขาย ยอดจองห้องพัก สภาพคล่อง และผลประกอลการลดลง แต่ภาคธุรกิจ 49.2% ระบุว่า ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกในระดับปานกลาง และเฉพาะภาคการส่งออกเท่านั้น ส่วนอีก 33.9% ระบุว่าได้รับผลกระทบมาก และมากที่สุดเพียง 1.3% เท่านั้น ซึ่งต้องปรับตัวรองรับผลกระทบ โดยขอสินเชื่อล่วงหน้า รักษาเงินสดให้เพียงพอ และควบคุมต้นทุน" นายธนวรรธน์กล่าว

.

สำหรับปัญหาหนักของภาคธุรกิจในขณะนี้คือ การขาดสภาพคล่อง โดย 36.7% ระบุว่ามีสภาพคล่องลดลง ขณะที่อีก 15.8% ระบุความสามารถในการชำระหนี้ลดลง เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูง และธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จึงต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารรัฐ ลดดอกเบี้ยลงอีก 1-2%

.

ส่วนค่าเงินบาทนั้น ภาคธุรกิจต้องการให้ค่าเงินบาทในปีหน้าเฉลี่ยอยู่ที่ 35-37 บาท/ดอลลาร์ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออก ภาคการเกษตร และการท่องเที่ยว ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ภาคธุรกิจต้องการให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลงเหลือลิตรละ 22 บาท เพราะจะทำให้ธุรกิจมีกำไรจากการที่ต้นทุนการผลิตลดลง แต่หาก 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐสิ้นสุดลงในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ ต้องการให้ราคาน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 26 บาท

.

ผลการสำรวจของผู้ประกอบการยังระบุว่า เมื่อต้นทุนการผลิตลดลงแล้ว ภาคธุรกิจก็พร้อมที่จะลดราคาสินค้าลงในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะลดแรงกดดันเงินเฟ้อ และคาดว่าเงินเฟ้อปีหน้าอาจขยายตัวที่ 3-4% ตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ และจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สามารถใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำดูแลเศรษฐกิจได้ และน่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 0.5-1% ในเดือน ธ.ค.51 เพื่อพยุงเศรษฐกิจ และเป็นไปตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่อยู่ในช่วงขาลง หลังจากที่เฟดได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5%

.

สำหรับสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน อันดับแรกคือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รองลงมาคือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ราคาวัตถุดิบที่สูง อัตราดอกเบี้ย สถานการณ์การเงินโลก ราคาน้ำมัน ความเชื่อมั่น และอัตราแลกเปลี่ยน

.

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศูนย์ฯ กำลังสำรวจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในปีหน้า รวมถึงมาตรการแก้ปัญหา ซึ่งยังระบุไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะขยายตัวในอัตราต่ำกว่า 4% หรือติดลบเหมือนวิกฤติปี 40 หรือไม่ โดยแถลงข่าววันที่ 13 พ.ย.นี้ จากนั้นจะจัดทำเป็นสมุดปกขาวเสนอรัฐบาล ผลการสำรวจดังกล่าว เป็นการสำรวจจากภาคเกษตร ภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการผลิต จำนวน 800 ราย ระหว่างวันที่ 20-24 ต.ค.51