เนื้อหาวันที่ : 2008-10-30 08:21:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1211 views

หอการค้าฯ มองไทยยังต้องพึ่งส่งออกดันศก.ปี 52 ทีดีอาร์ไอ วอนอย่าหยุดลงทุน

หอการค้า คาดส่งออกปี 52 โต 7-9% แม้จะชะลอภาวะเศรษฐกิจไทยต้องประสบทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในโดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง ส่วนมองว่าเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้จะอยู่ในช่วงถดถอย แต่ไม่ต้องการให้เอกชนหยุดการลงทุน

หอการค้า คาดส่งออกปี 52 โต 7-9% แม้จะชะลอภาวะเศรษฐกิจไทยต้องประสบทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในโดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง ส่วนมองว่าเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้จะอยู่ในช่วงถดถอย แต่ไม่ต้องการให้เอกชนหยุดการลงทุน

.

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุว่า ในปี 52 ปัจจัยภายนอกจะมีผลสำคัญอย่างมากต่อการส่งออกของไทย ขณะที่การพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศคงจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นกับการจับจ่ายใช้สอย โดยคาดว่าการส่งออกปี 52 จะเติบโตได้ราว 7-9% ซึ่งแม้จะชะลอตัวลงจากปีนี้ที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโตได้ราว 20% นั้น แต่ก็ถือว่าโชคดีมากแล้วในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไทยต้องประสบทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในโดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง

.

เศรษฐกิจในประเทศอย่าไปหวังมาก ผู้บริโภคหวาดระแวงไม่เชื่อมั่นต่อการใช้เงิน ช่วง 1-2 ปีก่อนเราได้อานิสงค์จากตลาดต่างประเทศมาก แต่ปีหน้าอย่าหวัง หากส่งออกปีหน้าโตได้ 7-9% ก็ถือว่าโชคดีมากแล้ว และคงต้องออกแรงกันมาก" นายประมนต์ กล่าวในงานสัมมนา The Future of Thai Economy

.

ทั้งนี้ มองว่าวิกฤติปัญหาที่ไทยต้องเจอซึ่งมาจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ คงต้องใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนจะทำได้คือการพึ่งพาตัวเอง ประสานการทำงานระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ พิจารณาว่าภาคธุรกิจใดจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเพื่อเตรียมการรับมือ เพราะหากจะหวังพึ่งนโยบายของรัฐบาลคงจะลำบาก เนื่องจากมาตรการที่ถูกผลักดันออกมาใช้ไม่มีความต่อเนื่องเท่าใดนักซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการเมืองภายใน

.

ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ปีหน้า คาดว่าจะอยู่ในระดับ 3% เศษเท่านั้น คงไม่เท่ากับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ประเมินไว้ที่ระดับ 3.8-5.0% ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่เหมาะสมและเอื้อต่อภาคส่งออกนั้น ภาคเอกชนขอเพียงให้ ธปท.ช่วยดูแลให้ค่าเงินบาทเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับค่าเงินของประเทศคู่แข่ง เพื่อให้การส่งออกไทยยังสามารถคงศักยภาพทางการแข่งขันไว้ได้

.

"เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ตราบใดที่เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งของเราแล้วใกล้เคียงกัน เราก็ไม่ห่วง...การที่บาทแข็งไปแม้จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งไม่ใช่เรื่องหลัก เพราะหลัก ๆ คือเราจะสามารถสนองความต้องการของผู้บริโภคได้หรือไม่ เรื่องราคาก็เป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้น"นายประมนต์ กล่าว พร้อมเชื่อมั่นว่าไม่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปี 51 และ 52 จะรุนแรงเพียงใด แต่ศักยภาพของภาคเอกชนไทยยังมีความแข็งแรงพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปได้

.

ด้านนายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า แม้จะมีการมองว่าเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนต่อจากนี้จะอยู่ในช่วงถดถอย แต่ไม่ต้องการให้เอกชนหยุดการลงทุน โดยการลงทุนในระยะสั้นที่น่าสนใจไม่ใช่การเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น แต่เป็นการเข้าไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรืออาจจะเข้าไปลงทุนในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งจะได้ประโยชน์ในระยะยาว

.

ขณะที่ภาครัฐจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีให้แก่เอกชน รวมไปถึงโครงการเมกะโปรเจ็คต์ต่างๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเฉพาะระบบขนส่งมวลชนเท่านั้น แต่ควรเน้นไปที่ด้านการศึกษา และสาธารณสุข เพื่อเป็นการวางพื้นฐานในอนาคตที่ดีให้แก่ประเทศในระยะยาว

.

"รัฐบาลน่าจะใช้เงินเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลในระยะยาว เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานเสมอไป ควรไปทุ่มในเรื่อง LAB เรื่องครู เพื่อให้มีผลในระยะยาว เพราะถ้ารัฐบาลกล้าทำ เมื่อเราผ่านวิกฤติไปแล้ว 2-3 ปี เราจะโตเร็วกว่า และโตได้อย่างมีคุณภาพ" นายสมชัย กล่าว

.

นายสมชัย ยังคาดว่า GDP ปี 52 อาจเติบโตได้เพียง 2-3% เพราะการส่งออกที่ปัจจัยหลักช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่มีสัดส่วนราว 60-80% ก็อาจจะไม่ขยายตัวได้ในปีหน้า เนื่องจากการส่งออกในปีนี้มีฐานที่สูงผิดปกติ ดังนั้นปัจจัยที่เหลือจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่มีสัดส่วนราว 20% ซึ่งหมายถึงการขาดดุลภาครัฐ ก็คงเป็นกลไลเข้ามาช่วยการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้ไม่มากนัก