วิกฤตอาหารและวิกฤตพลังงาน อหนทางการเป็นมหาอำนาจของไทยในอนาคต ที่จะต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารที่ดินและน้ำให้ดี ทั้งนี้การที่จะเป็นมหาอำนาจได้จะไม่ใช่เพียงประเทศไทยประเทศเดียว แต่ต้องมีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน คิด และร่วมมือกันทำเป็นกลุ่มประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีเขตแดน
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน และภาคใต้ เครือข่ายป่าชุมชนและโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินและป่าทั้งในภาคอีสานและภาคใต้ ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกันจัดสัมมนา รณณรงค์เผยแพร่และการขับเคลื่อนทางนโยบาย "นโยบายพืชพลังงานและพืชยางพารา : โอกาส & ความเสี่ยงของเกษตรกร" เพื่อสร้างฐานองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรทั้งสองภาคและสังคมไทย ณ ห้องประชุมศรีเมืองใหม่ ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีผู้เข้าร่วมจากภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสาน กว่า 100 คน |
. |
นางศยามล ไกยูรวงศ์ โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา ตัวแทนคณะทำงานฯ กล่าวว่า เวทีครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์นโยบายพืชน้ำมันและพืชยางพาราที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เกษตรกรได้รู้เท่าทันและวางแผนในการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตอย่างไรที่จะเหมาะสมกับสภาพของระบบนิเวศและรักษาความมั่นคงทางอาหารให้ยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งการยังมีการนำเสนองานศึกษาเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนปรังปรุงนโยบายของรัฐ ในการส่งเสริมรักษาความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ภาคใต้และภาคอีสานด้วย |
. |
ทางด้านกำหนดการสัมมนา คณะทำงานก็ได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมลงพื้นที่ศึกษาเป็น ๒ กลุ่ม ในวันที่ 17 ตุลาคม 2551 กลุ่มแรกศึกษาพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน บ้านโคกเจริญ หมู่ 6 ต.ละลาย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ และกลุ่มสอง ลงศึกษาพื้นที่ปลูกยางพารา บ้านนาคำ อ.ตระกาลพืชผล จ.อุบลราชธานี และนำเสนอสิ่งที่ได้พบ ข้อสังเกต รวมทั้งประเด็นแลกเปลี่ยนระดับพื้นที่ ดังนี้ |
. |
นำเสนอผลการลงพื้นที่กรณี ปาล์มน้ำมัน พื้นที่บ้านโคกเจริญ หมู่ 6 ต.ละลาย อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ โดย คุณนาฏพงศ์ พัฒนศิริพันธ์ชัย มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย |
. |
ปาล์ม คือ "ความหวัง" ได้ปลดหนี้สินเสียที...????? |
บ้านโคกเจริญ เป็นชุมชนลาว ที่มีการอพยพ ตั้งถิ่นฐานมาแทนที่ชุมชนเขมรเดิม มีประชากรกว่าพันคน จาก 115 ครอบครัว เกษตรกรที่นี่ถือครองที่ดินไม่เกินคนละ 50 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน สปก. สภาพนิเวศโดยทั่วไปนั้น เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ดินดี มีความอุดมสมบูรณ์มาก น้ำใต้ดินอยู่ตื้น ขุดลงไปเพียง 4-5 เมตรก็เจอน้ำใต้ดินแล้ว ฝนตกเฉลี่ย 7 เดือนในรอบ 1 ปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนพฤศจิกายน |
. |
พัฒนาการระบบการผลิตของชุมชนบ้านโคกเจริญ พืชดั้งเดิมที่เกษตรกรนิยมปลูกคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการปรับเปลี่ยนพันธุ์มาเรื่อย ๆ เพราะเป็นการผลิตเพื่อขายต้องเน้นเรื่องผลผลิตต่อไร่สูง ๆ ทำให้เกิดภาระหนี้สินจากการลงมากมาย ต่อมาก็หันมาผลิตพืชตัวใหม่คือ มันสำปะหลัง หนี้สินก็ยิ่งสะสมมากขึ้น ยุคต่อมาก็มีการนำยางพาราเข้ามาปลูกในพื้นที่ โดยกำนันตำบลละลายเป็นผู้นำเข้ามาส่งเสริม ช่วงนั้นได้ผลดี ราคาก็ดี ทำให้เกษตรกรหลายคนเปลี่ยนพื้นที่มาปลูกยางพารากันมากขึ้น แต่ยังไม่ค่อยมีตลาดรับซื้อ |
. |
มีการปลูกไม้ผลเพื่อการค้าแซมกับสวนยาง แต่ว่าต้นทุนค่อนข้างสูง แล้วราคาไม้ผลก็ไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรต้องเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุที่เกษตรกรไม่ประสบผลสำเร็จจากการปลูกพืชเศรษฐกิจดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดการสรุปบทเรียนร่วมกันของเกษตรกรบ้านโคกเจริญว่า ต้องลองปลูกพืชตัวใหม่ คือ “ปาล์มน้ำมัน” โดยการน้ำเข้ามาของผู้ใหญ่ชาลี สั่งกล้าปาล์มมา ครั้งแรก 7 รถพ่วง ปลูกมา 3 ปี 4 เดือนแล้ว |
. |
แรงจูงใจของเกษตรกรคือคิดว่า "ปาล์ม" ดูแลง่าย ใช้ระยะเวลาน้อยในการให้ผลผลิต เมื่อเทียบกับยางพารา สามารถเก็บผลผลิตได้ทุก ๆ เดือน ราคาดี เห็นเงินหมื่นภายใน 2-3 ปี ได้ผลตอบแทนเร็วกว่ายางพารา เชื่อว่ามีตลาดรับซื้อเพราะรัฐกำลังส่งเสริมเรื่องการปลูกพืชพลังงานเพื่อทดแทนน้ำมัน เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะมีการตั้งโรงงาน เช่นที่จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งเห็นตัวอย่างแกนนำในชุมชน ที่ปลูกได้ผล ทำให้ตอนนี้เกษตรกรที่ปลูกปาล์มเพิ่มจาก 20 รายเป็น 40 รายแล้ว |
. |
กรณีศึกษาแปลงตัวอย่าง คือแปลงนายมานิต ซึ่งมีพื้นที่ปลูก 19 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตได้ เฉลี่ยปีละ 10 เดือน รายได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,800 กก./19 ไร่/รอบ คิดเป็นเงิน (กก. 3 บาท) = 8,700 บาท/ไร่/ปี มีต้นทุน คือ ค่าปุ๋ยเคมี 25 ถุง/ปี (@1,500) = 1,980 บาท/ไร่/ปี ยาฆ่าหญ้า 9 แกลลอน/ปี (@ 850 บาท) = 402 บาท/ไร่/ปี ค่าแรงเก็บปาล์ม ครั้งละ 600 บาท = 631 บาท/ไร่/ปี รวม 3,013 บาท (ไม่รวมค่าขนส่ง ค่าแรงเจ้าของสวน ฯลฯ) สรุปแล้วกำไร 8,700 - 3,013 = 5,687 บาท/ไร่/ปี |
. |
กรณีศึกษาแปลงตัวอย่างที่สอง คือ แปลงนายเสริม พื้นที่ปลูก 10 ไร่ ได้เก็บผลผลิตเฉลี่ยปีละ 10 เดือน เช่นกัน มีรายได้ จากผลผลิตเฉลี่ย 1,188 กก./10 ไร่/รอบ -> 2,376 กก./ไร่/ปี คิดเป็นเงิน (กก. 3 บาท) = 7,128 บาท/ไร่/ปี มีต้นทุน เป็นค่าปุ๋ยเคมี 9 ถุง/ปี (@1,500) = 1,350 บาท/ไร่/ปี ยาฆ่าหญ้า รวมค่าจ้างฉีด = 220 บาท/ไร่/ปี ไม่มีค่าแรงเก็บปาล์ม (เจ้าของสวนทำเอง) รวม 1,570 บาท/ไร่/ปี สรุปกำไร 7,128 - 1,570 = 5,558 บาท/ไร่/ปี ไม่รวมค่าแรงและค่าขนส่ง |
. |
จากข้อสังเกตโดยรวมของทีมศึกษา เห็นว่า ดินแถบนี้มีความสมบูรณ์มาก ระดับความชื้นเหมาะสม แต่เกษตรกรเน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเต็มพื้นที่หลาย ๆ ไร่ และมีการปลูกพืชอื่น ๆ แซมปาล์มและยางเกือบทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพืชเศรษฐกิจผลิตเพื่อขาย |
. |
จากกรณีศึกษาจากแปลงตัวอย่างทั้งสองแปลง ผลที่เกิดขึ้นคือมีผลกำไรต่อไร่ประมาณ 5,500 บาท (ยังไม่คิดค่าแรงและค่าขนส่ง) ถือว่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ดี เกษตรกรมีรายได้ดี ได้จับเงินหมื่น แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะได้เงินก้อนเพื่อปลดหนี้สินได้ เกษตรกรยังมีหนี้สินอยู่ ปาล์มเป็นพืชน้ำมันที่กำลังเข้ามาในภาคอีสาน ทำให้ยังไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนนัก ทว่าเกษตรกรยังเชื่อว่าถ้าปลูกปาล์มพวกเขาจะสามารถใช้เวลาที่เหลือไปทำอาชีพอื่น ๆ ได้อีก แต่ผลกระทบทางด้านความมั่นคงทางด้านอาหารของเกษตรกรนั้น ยังไม่มีใครตอบได้ การผลิตเชิงพาณิชย์เกือบทั้งหมด |
. |
แม้ว่าจะมีศักยภาพการผลิตที่มหาศาล แต่ต้องยึดโยงกับราคาที่ไม่แน่นอนและปัจจัยการผลิตนำเข้า ทำให้ ไม่สามารถสร้างพลังในการต่อรองได้อย่างแท้จริง หรือว่าพื้นที่จะมีความอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็งอกงาม แต่ด้วยวิถีชีวิตที่ยังพึ่งพาปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้จำนวนมาก ทำให้ชีวิตมี "ความเสี่ยง" ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นคำถามร่วมกันว่า "แล้วอีก 10 ปี เกษตรกรที่นี่จะเป็นอย่างไร??? ปาล์ม คือ "ความหวัง" เป็นพืชสุดท้ายที่เกษตรกรจะค้นหาหรือไม่ ปาล์มจะช่วยปลดหนี้สิน...????? ต้องติดตาม |
. |
อีกด้านหนึ่งของพืชน้ำมัน ทีมศึกษาจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ก็ได้ค้นคว้า ติดตามข้อมูล ลงพื้นที่เพื่อสรุปบทเรียน ความเป็นไปได้ ความยั่งยืนของพืชน้ำมันในอีสาน โดยได้ลงเก็บข้อมูล ร่วมกับเกษตรกรที่บ้านนาบอน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย กรณีปาล์มน้ำมัน นำเสนอข้อมูลศึกษาโดย คุณมาลี สุปันตี |
. |
ปาล์ม ความหวังที่ไม่มีใครอยากร่วมรับผิดชอบ? |
กรณีตัวอย่าง แปลงปลูกปาล์มพันธุ์ยังกัมบิมของนายประทับ สืบสาย บ้านนาบอน ต.นาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย ในพื้นที่ 35 ไร่ ต้นทุนที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย ค่าต้นกล้าต้นละ 160 – 169 บาท รวม130,130 บาท ค่าวัสดุทำปุ๋ย 9,000 บาท ค่าจัดการระบบน้ำ 150,000 บาท ค่าปรับพื้นที่ 20,000 บาท ผลผลิตที่ได้รับ 890 กิโลกรัม ขายได้ราคา 2-3 บาท รวมเป็นเงิน 1,986 บาท รวมต้นทุน 309,130 บาท ในระยะเวลา 3 ปีผ่านมาแล้ว นายประทับ มีรายได้สุทธิจำนวน 1,986 บาท ความคุ้มทุนอยู่ตรงไหน ...ค่าสูญเสียโอกาส...ความหวัง...ใครร่วมรับผิดชอบ???? |
. |
จากแปลงดังกล่าว พบว่า มีปัญหาด้านคุณภาพสายพันธุ์ ความเพียงพอของปริมาณน้ำ ปุ๋ย ส่งผลให้ทะลายแห้งฝ่อ ผลไม่สามารถพัฒนาได้ การให้ผลผลิต สัดส่วนดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมีย การตลาด ราคาต่ำ ไม่มีตลาดที่แน่นอน แต่ที่เจ็บช้ำมากกว่านั้น คือ การรุกพื้นที่ของปาล์มน้ำมันในพื้นที่อาหาร ปรากฏในหลายพื้นที่ เช่น พื้นที่ปลูกไม้ผล ที่ อ.เชียงคาน พื้นที่นาข้าว นาที่ลุ่มใน อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ และพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง การสูญเสียพื้นที่อันเคยเป็นแหล่งอาหารทั้งอาหารธรรมชาติ และการปลูกพืชผักอาหาร หากไม่มีมาตรการกำกับที่ชัดเจนและราคาจูงใจ จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวเบียดแย่งพื้นที่ผลิตอาหารได้ |
. |
จากการศึกษามีข้อเสนอแนะเบื้องต้นว่า เกษตรกรรายย่อยที่ยังไม่ตัดสินใจ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเท่าทันข้อมูล ศึกษาอย่างละเอียดบนพื้นฐานความเป็นจริงของที่ดิน แหล่งน้ำ ตลาด และความรอบรู้เกี่ยวกับปาล์มน้ำมันก่อนที่จะตัดสินใจ ใคร่ครวญต่อวิถีการผลิตที่ต้องพึงรักษาพื้นที่อาหาร แหล่งอาหารธรรมชาติ อย่าให้สูญเสียไปกับการผลิตพืชน้ำมัน ส่วนเกษตรกรที่ลงทุนปลูกไปแล้ว รัฐต้องประสานให้มีการรับซื้อ |
. |
สกัดปาล์มน้ำมันเพื่อใช้ในชุมชน และจำเป็นที่ต้องหาข้อสรุปทางวิชาการในการศึกษา วิจัย ค้นคว้าข้อเท็จจริง ให้เกิดข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนทำการส่งเสริมและเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ต่อเกษตรกรและสาธารณะ ทั้งแง่มุมโอกาสและความเสี่ยงที่จะอาจเกิดขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เกษตรกรตัดสินใจบนพื้นฐานการรับรู้ข้อมูลที่เห็นว่าจะได้ น่าจะให้ผลผลิตที่ดี หรือได้รับคำแนะนำจากกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจกล้าปาล์ม และสุดท้ายเกษตรกรก็ต้องเป็นผู้ที่แบกรับความเสี่ยงเพียงลำพัง |
. |
ทางด้าน ดร.อุดม คำชา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จ.หนองคาย มีความเห็นต่อพืชพลังงาน กรณี "ปาล์มน้ำมัน" ว่า ศูนย์วิจัยปาล์มเริ่มคิดค้นเรื่องนี้เมื่อปี 2548 ประมาณ 3 ปีที่แล้ว เมื่อก่อนเป็นศูนย์วิจัยพืชสวน เริ่มต้นโดยการเพาะพันธุ์ปาล์ม นำงานวิจัยต่าง ๆ เข้ามาศึกษาในภาคอีสาน ทางกรมวิชาการเกษตรวิเคราะห์แล้วว่ามีความเหมาะสมคือจังหวัดหนองคายและจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ พื้นที่ปลูก 31,210 ไร่ ในภาคอีสาน |
. |
การศึกษาของศูนย์วิจัยปาล์มกำลังทดลองปาล์มพันธุ์ลูกผสมสุราษฏร์ธานี 1-6 ระยะปลูก 9x9 เมตร (22 ต้น/ไร่) ให้ปุ๋ยตามหลักวิชาการปาล์มน้ำมัน ให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ ปลูกพืชแซมเช่น สับปะรด กล้วย ถือว่าอยู่ในช่วงทดลอง โดยใช้แปลงที่ศูนย์และแปลงของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วย แต่ว่าหลัก ๆ แล้ว ทางศูนย์ยังไม่ได้ส่งเสริมเกษตรกร อยู่ในช่วงทดลองเท่านั้น |
. |
เนื่องจากปาล์มต้องใช้น้ำเยอะ ฉะนั้น ความเหมาะสมของพื้นที่ที่ปลูก ต้องมีการคัดเลือกพอสมควร อีกทั้งเป็นพืชตัวใหม่ในอีสาน แหล่งไหนที่ไม่มีน้ำนั่นคือข้อจำกัดที่สำคัญ |
. |
ทางด้านการตลาดนั้น ดร.อุดม กล่าวว่า มีปัญหา เพราะไม่มีโรงงานรับซื้อ ต้องไปขายไกล ที่จังหวัดชลบุรี แต่ตนคิดว่าน่าจะมีตลาดในระยะต่อไป อยากบอกพี่น้องเกษตรกรว่า ศูนย์วิจัย บทบาทคือวิจัยว่าสามารถทำได้หรือไม่ได้ เป็นช่วงของการทดสอบ ยังไม่ได้ส่งเสริม เรากำลังศึกษาเรื่องการคุ้มทุน และอื่น ๆ แต่ว่าชาวบ้านตื่นตัวก็เริ่มปลูก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเองก็จะให้แง่คิดด้านวิชาการ แต่แง่การตัดสินใจก็ต้องขึ้นอยู่กับเกษตรกรเองเป็นผู้พิจารณา |
. |
ถาวร สร่างเศร้า เกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้ ก็ได้แลกเปลี่ยนเรื่องปาล์ม ในฐานะที่ปลูกมาก่อน และสร้างทางเลือกในสวนปาล์ม อันเป็นแนวทางที่ยั่งยืนทั้งความมั่นคงทางด้านอาหารว่า ต้องผสมผสานระหว่างปาล์มและสวนหลังบ้าน สระน้ำและนาข้าว ที่ผ่านมาก็ปลูกปาล์มด้วยการคัดพันธุ์เอง บำรุงดินโดยการลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนการผลิต ฟื้นฟูระบบนิเวศ |
. |
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้เอง นำขี้เลื่อยมาทำเป็นปุ๋ย การเลี้ยงปลาในสวนปาล์ม เลี้ยงวัว ได้ทั้งปุ๋ย และช่วยกินหญ้าในสวนปาล์ม เกษตรกรบางรายก็เลี้ยงแพะซึ่งจะปล่อยเป็นเวลา การปลูกพืชอาหาร สมุนไพร และไม้ใช้สอยในสวนยาง ซึ่งก็มีบทเรียนร่วมกันระหว่างเกษตรกรว่า ราคาทะลายปาล์ม ราคาต้องอยู่ที่ ๓ บาท ขึ้นไป เกษตรกรถึงจะอยู่ได้ ถ้าราคาต่ำกว่านี้ขาดทุนแน่นอน |
. |
แม้ว่าจะพยายามลดต้นทุนการผลิตแล้วก็ตาม พร้อมกับมีข้อเสนอว่า ไม่อยากให้ทำตามกระแส ต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่ปลูกได้ เกษตรกรต้องหาข้อมูลก่นตัดสินใจปลูก ดูความเหมาะสมหลาย ๆ ด้าน ต้องทำหลายไร่ถ้ามีพื้นที่น้อยไม่ควรปลูก ต้องมีถนนเข้าไปได้สะดวก ที่สำคัญคือแรงงาน อย่างที่ภาคใต้ก็มีปัญหาเรื่องนี้ ลูกหลานไปเรียนหมดแล้วก็ไม่มีใครมาทำสวน ต้องจ้างเขา และไม่มีคนสานงานสวนต่อ เป็นเรื่องที่ต้องคิด |
. |
นำเสนอผลการลงพื้นที่กรณี ยางพารา พื้นที่บ้านนาคำ บ้านห้วยหวาย บ้านโป่งน้อย ต.คอนสาย และบ้านห้วยทีใต้ ต.ถ้ำแข้ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี โดย คุณสมาน วิสัยเกตุ สมาคมป่าชุมชน ภาคอีสาน |
. |
"ปลูกอ้อยกินน้ำตา ปลูกยางพารากินลาบ กินก้อย" ... จริงหรือ ??? |
พื้นที่ป่าดงขุมคำ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 21,837.12 ไร่ ครอบคลุม 5 อำเภอประกอบด้วย อ.โพธิ์ไทร อ.ศรีเมืองใหม่ อ.เขมราฐ อ.กุดข้าวปุ้น และอ.ตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ป่าดงขุมคำมีสภาพเป็นป่าดิบแล้งผสมป่าเบญจพรรณ สภาพดิน เป็นดินทราย ดินมันปู(ดินเหนียวสีเหลืองปนทรายมีน้ำซับตลอด มีรสเปรี้ยวและเกิดราสนิม) ดินร่วนผสมหินลูกรัง ดินร่วนปนทราย ฝนเฉลี่ยประมาณ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม |
. |
เกษตรกรที่นี่ ไม่แตกต่างจากพื้นที่นัก พืชพลังงาน และยางพาราเข้ามาพื้นที่แถบนี้หลังจากที่เกษตรกรๆไม่ประสบผลสำเร็จจากการทำเกษตรกรรมมาหลายยุค ตั้งแต่ ปอ มันสำปะหลัง มะม่วงหิมพานต์ จนมาถึงยุคของพืชน้ำมันและยางพารา โดยเฉพาะยางพารา เพียงไม่กี่ปีพื้นที่ป่าหัวไร่ปลายนากว่าหมื่นไร่ ก็ถูกบุกเบิกขนานใหญ่ ด้วยความหวังว่า "เกษตรกรรายย่อยจะลืมตาอ้าปาก ปลดหนี้ปลดสินได้" |
. |
สาเหตุและแรงจูงใจ ที่ทำให้เกษตรกรหันมาลงทุนกับพืชยางพารา เพราะว่า ยางพารามีราคาสูง |
เกิดกระแสการปลูกยางในประเทศที่ได้ผล รัฐให้การสนับสนุน และชาวบ้านก็มีพื้นที่และทุนที่สามารถปลูกได้ รวมทั้งการที่พวกเขาไม่ประสบผลสำเร็จกับการทำเกษตรกรรมแบบเดิม ส่วนกรณีป่าดงขุมคำนั้น เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านเชื่อว่าการทำประโยชน์ในพื้นที่ที่ตนจับจอง รัฐจะออกเอกสารสิทธิ์ให้ ซึ่งเกษตรกรรายย่อยมีทั้งที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกย. ส่วนหนึ่ง และส่วนหนึ่งหาซื้อพันธุ์ยางตามร้านจำหน่าย บริษัททั่วไป |
. |
ปัญหาที่เกษตรกรพบในสวนยาง คือการเกิดโรค เช่น โรครา และโรคบอด คือกรีดแต่ไม่มีน้ำยาง หยุดไหลไปเฉย ๆ การแห้งตายของต้นยาง ยางออกดอก เมื่อปลูกได้ 2-3 ปี การเจริญเติบโตช้า แคระแกร็น โดยที่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย จึงไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร |
. |
ยิ่งเมื่อต้องเจอกับปัญหาที่ต้นทุนสูง ภาวะหนี้สินที่เพิ่มขึ้นทุกปี ราคายางพารามีความผันผวนสูง ไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับผลผลิตที่ได้ บางสวนขาดแคนแรงงาน รัฐบาลขาดหลักประกันความเสี่ยงทั้งเรื่องราคาและการสงเคราะห์ต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดิน เกิดผลกระทบตามมามากมาย เช่น กระทบกับวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรม เช่น การหาอยู่หากิน |
.. |
ทรัพยากรอาหารลดลง ป่าหัวไร่ปลายนาลดลง สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม เช่น การปนเปื้อนของสารเคมีในดินและแหล่งน้ำ เกิดความขัดแย้งในชุมชน เช่นการปรับสินไหมสูง บางคนถึงขั้นต้องขายวัวทั้งฝูงเพื่อชดใช้ก็มี รวมทั้งกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย |
. |
บทเรียนชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการของ สกย. กรณีแปลงพ่อนพคุณ เรืองสา ปลูกทั้งสิ้น 10 ไร่ เมื่อปี 2549 รับกล้ายางจาก สกย.จำนวน 1,020 ต้น มีต้นทุน ประกอบด้วย ค่าไถแปลง 7,000 บาท |
.. |
ค่าจ้างปลูก 3,000 บาท ค่าปุ๋ยเคมี 2,700 บาท รวม 12,700 บาท (ไม่รวมค่าปุ๋ยคอกและค่าปลูกซ่อม) ผลปรากฏว่าปลูกไปได้ปีกว่า สองปี ยางตายเกือบทั้งหมด เนื่องจากต้นยางมีขนาดเล็ก ไม่สมบูรณ์และอยู่ในช่วงปลายฤดูฝน |
. |
นี่อาจเป็นเพียงประสบการณ์บางส่วนที่ทีมศึกษาได้ลงพื้นที่และพบเจอ อาจจะมีอีกหลายกรณีที่ภาคอีสาน ที่ยังต้องการคำตอบว่า "ใช่หรือไม่ใช่" แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็มีข้อเสนอร่วมกันว่า ควรมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกยางพาราต่อชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของ สกย. และองค์กรเอกชนที่ทำงานในระดับพื้นที่ องค์กรชาวบ้านเองก็ควรมีกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ป่าหัวไร่ปลายนาและสร้างทางเลือกในวิถีที่มั่นคงในสวนยางพารา ไม่ปลูกเพื่อขายอย่างเดียว ควรสร้างกระบวนการในการดำเนินการให้รัฐมีข้อรับประกันความเสี่ยงต่อชาวบ้าน รวมทั้งข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ณ วันนี้ ควรได้รับการเผยแพร่เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป |
. |
ทางด้านภาคอีสานตอนบน การแพร่ขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่ตำบลทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2550 มีพื้นที่สวนยางเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ๕๖,๐๐๐ ไร่ ปี 2551 เพิ่มเป็น 40,000 ไร่ ในอำเภอคอนสาร มีประมาณ 8,000 ไร่ เฉพาะพื้นที่ทุ่งลุยลาย ร้อยละ ๙๕ กลายเป็นสวนยางหมดแล้ว ปัญหาใหญ่ที่พบก็คือการใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้าอย่างรุนแรง ในหน้าฝนทำให้เกิดการชะล้างสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ เพราะพื้นที่อำเภอคอนสาร เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา ลาดเอียง |
. |
ขณะเดียวกัน นายบรรจง ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้ ก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การปลูกยางพาราในภาคใต้ ว่าการปลูกยางพาราในภาคใต้นั้น คืออาชีพที่ตกทอดมาสู่ลูกหลานจากบรรพบุรุษ เป็นวิถีชีวิต เมื่อก่อนชาวบ้านก็ปลูกทั่วไป ปลูกในป่า เป็นพันธุ์พื้นเมือง แต่ช่วงหลัง สกย.ก็เข้ามาส่งเสริม บางแปลงปลูกโดยการเพาะเมล็ด และใช้รูปแบบของการติดตา บางทีก็ต้องสู้กับกระแสเหมือนกัน การเกิดโรคใบ ที่เกิดจากสภาวะฝนที่แปรเปลี่ยนไป การใช้สารเคมีในสวนยางพาราเยอะมาก เกษตรกรสวนยางบางคนขาดทุนมาก แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร |
. |
เพราะต้องอาศัยสวนยาง ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะกินอะไรเหมือนกัน แต่ส่วนหนึ่งที่คิดว่าเป็นจุดแข็ง และโอกาส คือ การเป็นทางเลือกและหลักประกันด้านรายได้ในระยะยาวให้เกษตรกรรายย่อย แต่ว่าตอนนี้หลักประกันก็ยากแล้ว ต้นยางสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ชุมชนบางแห่งต้องพึ่งพิงสิ่งอื่นด้วยนอกจากยาง หรือพืชแซมยาง เช่น ผักต่าง ๆ ไม้ผล ไม่ใช่การปลูกอย่างเดี่ยว ๆ |
. |
ทางด้านจุดอ่อน ข้อจำกัดของชาวสวนยางภาคใต้ ก็ไม่ต่างอะไรจากทางอีสาน เพราะราคายางไม่แน่นอน เกษตรกรไม่สนใจในการปรับปรุงพันธ์ยาง หวังพึ่งพิงบริษัทอย่างเดียว โรคยาง เช่น หน้ายางเสีย ใบร่วง หน้ายางเน่า เกษตรกรก็ยังไม่มีวิธีจัดการ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลต่อปริมาณน้ำยาง เกษตรกรต้องทำงานหนัก เวลาพักน้อย บางคนต้องเริ่มกรีดตั้งแต่ ๔-๕ ทุ่ม กรีดวันหนึ่ง ๓๐ ไร่ คนที่เริ่มกรีดใหม่ ๆ จะมีปัญหาเรื่องไต ตัวเหลือง ทำลายวัฒนธรรมการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน วัฒนธรรม ประเพณีที่มีในตอนเช้าจะไม่สามารถเข้าร่วมได้เลย ห่างหายจากชุมชน |
. |
"ยางพารา ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" |
พรพนา ก็วยเจริญ จาก TERRA ได้พูดถึงกรณีการขยายตัวของยางพาราในภูมิภาคแม่น้ำโขง ว่าการลงทุนต่างประเทศใน สปป.ลาว เพื่อปลูกไม้เป็นสินค้า เพิ่มขึ้นรวดเร็วในช่วงปี 2546-2549 (ต่างชาติลงทุน ๑๐๐ %) โดยเฉพาะการปลูกไม้เพื่อการค้าถูกส่งเสริมในรูปของการสัมปทานที่ดิน ปลายปี 2549 บริษัท จำนวน 109 ได้สัมปทานที่ดินเนื้อที่รวมประมาณ 1 ล้านไร่ ตัวเลขนี้ยังเพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือน เช่น บริษัทสวนป่าโอจิ (ญี่ปุ่น) สัมปทานเนื้อที่ 300,000 ระยะเวลา 49 ปี บริษัทไทยฮั้ว (ไทย) สัมปทานเนื้อที่ 100,000 ระยะเวลา 34 ปี และบริษัทอื่นอีกกว่า 9 บริษัท สัมปทานเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 50,000 ไร่ ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี การสัมปทานที่ดิน ส่วนใหญ่ปลูกยางพารามากที่สุด เนื้อที่รวม ๑๙๐,๐๐๐ ไร่ ของ ๙ บริษัท ปลูกไปแล้วประมาณ ๗๐,๐๐๐ ไร่ ประเด็นสำคัญ ในการสัมปทานที่ดิน ชาวบ้านต้องพบปัญหาคือ การสัมปทานที่ดินปัจจุบันที่ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น |
. |
การจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านก็ยังมีน้อย บางรายไม่ได้เลย เพราะเขาถือว่าไม่มีเอกสารสิทธิ์ ประเภทของที่ดินที่สัมปทาน การเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดิน จากงานวิจัยพบว่า ชาวบ้านสูญเสียที่ดินสูงสุดถึง ร้อยละ 90 จากพื้นที่ของตนเองทั้งหมด ต่ำสูดอยู่ที่ร้อยละ 33 พอเสียที่ดิน ก็ไปทำงานรับจ้างในที่ดินของตัวเอง ได้ค่าแรง ๒๐,๐๐๐ กีบ ประมาณ ๗๐ บาท กินก๋วยเตี๋ยวได้แค่ ๒ ถ้วยเท่านั้น ทั้งปีทำงาน ๑๔๒ วัน บริษัทไม่ได้มีงานให้ทำทุกวัน ชาวบ้านถูกลดค่าแรงงาน ประเด็นที่สองคือเรื่องเศรษฐกิจ-สังคม ผลผลิตของครัวเรือน เศรษฐกิจของครัวเรือน และความมั่นคงทางอาหาร จะเห็นได้จากตัวเลขปริมาณของครอบครัวที่ขาดข้าวกินมีเพิ่มขึ้น |
. |
สกย. อ้าง "นโยบายอยู่เหนือเหตุผล" ชี้เกษตรกร "ทำเกินคำแนะนำ" |
ด้าน นายเสริมศักดิ์ สุขเกษม ตัวแทนสำนักกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดขอนแก่น หน่วยงานที่ถูกอ้างและกล่าวถึง ได้พูดถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของ สกย. ต่อประเด็นยางพาราว่า ยางพาราในอีสานปลูกมาแล้วกว่า ๕๐ ปี เป็นพืชที่ฝืนธรรมชาติพอสมควร (๒๔๘๔) เป็นพืชที่สามารถลดทอนการใช้ปิโตรเลียม พลาสติก ได้ ร้อยละ ๙๐ ใช้ในการผลิตยางรถยนต์ ยางพาราถือว่าพืชที่ช่วยต่อต้านสภาวะแวดล้อมโดยรวมของโลก ยางพาราเป็นตัวดูดกลืนคาร์บอน เก็บคาร์บอนได้สูงกว่าป่าดงดิบ ประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ยางพาราเป็นเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่เทพธิดาหรือซาตาน |
.. |
กองทุนสงเคราะห์สวนยาง ไม่ได้เพิ่มพื้นที่ยางพาราแต่เราส่งเสริมโค่นยางเก่า แล้วปลูกยางใหม่ในพื้นที่เดิม มีเงินสงเคราะห์จ้างตัวเองในช่วงยางยังไม่ได้กรีด เราไม่ได้แนะนำให้ฉีดยาฆ่าแมลง สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะความสะดวกเข้าว่าของเกษตรกร |
. |
ระยะเวลา ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาการปลูกยางที่ภาคใต้ไม่มีการใช้ยาฆ่าหญ้า ในอีสานเป็นการปลูกไร่ยาง ซึ่งกองทุนฯส่งเสริมการปลูกยางผสมผสาน ปลูกพืชอื่นร่วมยาง โดยใช้ทฤษฏี ๔ ด .(ดู ดอก ดง แดก) พืชยางพาราเป็นการออกแบบมาอย่างยืดหยุ่นแล้ว ยางกรีดได้วันเว้นวัน ปัจจุบันจอกใหญ่กว่าต้นยาง ต้นยางทรุดโทรมชาวบ้านต้องฉีดยา ยางต้องกินน้ำให้ครบ ๑๐๐ วัน ถ้าไม่ปลูกพืชแซมก็ต้องปลูกพืชคลุม เพื่อรักษาความชุ่มชื้น พืชที่มียางสีขาวเหมือนกันจะกินอาหารเหมือนกัน มันกินเก่งกว่ายาง ๑๐ เท่า ยางไม่ตายแต่หยุดการเจริญเติบโตประมาณ ๒ ปี |
. |
สิ่งที่เกิดขึ้นในอีสาน ไม่ใช่ความผิดของยางพารา แต่เป็นคนพาไป ถ้าเอาเงินเป็นตัวนำ หลักทางจริยธรรมจะต่ำลง อย่างตัวอย่างที่บ้านนาคำ เป็นดินบ๋า มีความเป็นกรดสูงมาก ไม่เหมาะสมในการปลูกยาง หรือพืชใด ๆ นอกจากว่าจะปรับปรุงดิน ลดความเป็นกรด โดยการใส่ปูนขาวสัก 4 -5 ตัน |
. |
สถานการณ์ตอนนี้ คือ เกษตรกรปลูกยาง "ทำเกินคำแนะนำ" พื้นที่ที่สามารถปลูกยางพาราได้จริง ๆ คือพื้นที่โนน มีโครงการ มาตรา ๒๑ ทวิ ให้ทุนสงเคราะห์ ปี 2546 แจกพันธุ์ยางมาปลูก คนขอปลูกขอให้มีหลักฐานที่ดินอย่างเดียว แจกหมด เป็นโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตร พื้นที่จะเหมาะสมไม่เหมาะสมก็แล้วแต่ แจกหมด บทบาทและหน้าที่ของ สกย.คือ ทำหน้าที่ต่อจากนั้น คือ การแนะนำ ช่วยดูแล ติดตาม กองทุนสงเคราะห์สวนยางไม่ได้จะนำท่านไปสู่ความร่ำรวย พวกเราเรียกว่า "กองทุนดันดาก" มันติดมันขัดอย่างไรก็ช่วยซุกช่วยดันให้ เราไม่นำไม่พา แต่ดันอยู่ข้างหลัง นี่คือบทบาท จะเห็นว่ากองทุนไม่เคยมีการเก็บพันธุ์ยาง หรือกล้ายาง |
. |
ต้นยางพาราในภาคอีสานพิกลพิการเหลือเกิน การปลูกยางในอีสานฝืนธรรมชาติ ธรรมชาติของการปลูกยางอยู่ที่ราบ อุณหภูมิห่างกันกลางวันกลางคืนไม่ควรเกิน ๑๕ องศา ถ้าเกินจะกระตุ้นฮอร์โมนให้เกิดการแตกดอก ฉัตรสั้นลง (สั้นกว่า ๑ ศอก) |
. |
ส่วนการลงทุนที่มากนั้น ตนถือว่า ลงทุนมากเกินกว่าความจำเป็น คำแนะนำบอกว่าให้ใส่แค่ ๑ ช้อนชา หรือ ๑ ขีด แต่ว่าพี่น้องเกษตรกรใส่เป็นกิโลกรัม ไถปีละ ๖ รอบ ค่าจ้างไถไร่ละ ๓๐๐ บาท ยางในพื้นที่จังหวัดอุบลฯ หลายพันไร่ กลายเป็นยางบ้าใบ คือปุ๋ยเยอะ ใบเฝือ ปุ๋ยกิโลกรัมละ ๓๖ บาท ต้นทุนก็เลยสูง |
. |
การปลูกยางน่าจะมีต้นทุนที่ ๐ บาท เกษตรกรหลายคนเลือกที่จะทำเกินพอดี ต้องทำอะไรแต่พอดีพองาม ทำสวนยาง ปลูกกล้วยแซม ปลูกพืช ๔ ด. หรือ ยางที่ปลูกไปแล้ว ๒-๓ ปี ก็ปลูกไม้ใช้สอย ๔ ย. ยูง ยาง ยอม ยม เราปลูกยางเอาเปลือกที่แข็งแรง การสร้างเปลือกที่ดีต้องทำให้สวนชุ่มเย็นตลอดเวลา เกษตรกรทำกิจการหลายอย่างเกินตัว ทุกอย่างที่เกิด เกิดที่คน ไม่ใช่ยางพารา |
. |
สวนยางพารา ตนถือว่าเป็นมิตร ที่เป็นวิถีเกษตรของเกษตรกร แต่อย่าเปลี่ยนเป็นเกษตรชี้นิ้ว หรือเกษตรเมือง สกย. บอกว่าสามารถมีไม้อื่นผสมได้ ไม่เกิน ๑๕ ต้น ไร่หนึ่งต้องมีต้นยางไม่ต่ำว่า ๔๕ ต้น ถือว่าเป็นสวนยาง อย่างในภาคอีสานก็ขอร้องแกมบังคับว่าปลูกยางพาราไม่เกินครอบครัวละ ๑๕ ไร่ การส่งเสริม โครงการ ๑ ล้านไร่ ในจังหวัดอุบลฯ เหมาะสมเพียงแค่ ๕ แสนไร่ เขาจัดสรรให้ ๕๐,๐๐๐ ไร่ ประมาณ ๕,๐๐๐ คน แต่คนที่ส่งชื่อเข้ารับการส่งเสริมมีมาก สกย. ก็เลือกให้เฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสม ผู้ที่ได้รับการอนุมัติชุดแรก ๓,๐๐๐ คนเท่านั้น นโยบายเหนือเหตุผล คนที่ได้ ๔ ไร่ ๑๑,๐๐๐ คน ร้อยละ ๔๐ ล้มเหลว เพราะการเมืองที่ฟ้าผ่า มีคำสั่งออกมา ก็ต้องทำตาม |
. |
ในปี 2550 มีโครงการช่วยเหลือคนที่ไม่ได้รับพันธุ์ยาง อยากได้เท่าไหร่ เอาเลย สกย. ไม่มีความสุขเลย ที่ต้องทำงานตามกระแสนโยบาย เรามีการตั้งกลุ่มเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น การตั้งกลุ่มรถตัดหญ้าเดินตาม คนละ ๒๐๐ บาท และเสียค่าบำรุง ครั้งละ ๒๐ บาท เจอเกษตรกรปีละ ๕ ครั้ง ชี้แจงงาน ๒ ครั้ง บางสวนก็ได้ตัดออกจากเป้าหมายไปแล้ว เช่น ในส่วนของเกษตรกรที่ปลูกยางพาราในนาข้าว แต่ว่าเกษตรกรบางส่วนพลอย เห็นเขาปลูกก็อยากปลูก ทางหน่วยงานก็มีการระงับบางแปลงก็มี แต่ท่านได้พันธุ์ยางมาโดยนโยบาย ไม่ใช่การส่งเสริมของ สกย.นายเสริมศักดิ์ กล่าว |
. |
นักวิชาการ ชี้ "อุตสาหกรรมพลังงานขนาดเล็กระดับท้องถิ่น มีความเป็นไปได้สูง" |
ทางด้านนายสมบัติ เหสกุล ศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติ (Biotec) และนักวิชาการอิสระ ได้พูดถึง นโยบายพืชพลังงานในประเทศไทย ว่ามีการประกาศวาระแห่งปี ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแห่งพลังงาน มีการต่อท่อ แย่งการเป็นศูนย์กลางน้ำมันจากสิงคโปร์ แต่ไทยสะดุดขาตัวเองทั้งเรื่องการผลิต และอื่น ๆ อย่างเช่น ปริมาณการใช้ประโยชน์จากอ้อย ปี 2550-2551 เอากากอ้อยมาผลิตเอทานอล เช่น บริษัทมิตรผล เขาทำเกษตรพันธะสัญญากับเกษตรกร โดยสนับสนุนให้เกษตรกร น้ำตาลเอาส่งออก กากก็เอามาผลิตเป็นเอทานอล เกษตรกรเป็นเพียงคนผลิตเท่านั้น บริษัทได้ประโยชน์มากกว่า ในอนาคตพืชพลังงาน อย่างมันสำปะหลัง อาจจะนำมาผลิตพลาสติกชีวภาพ ต่อไปอาจจะต้องนำมาใช้ |
. |
ซึ่งผลิตจากมันสำปะหลัง เพราะพลาสติกปัจจุบันทำลายยาก อีก ๒ ปีข้างหน้าจะมีผลิตภัณฑ์ไบโอพลาสติก อีก ๗ ปี ต้องมีใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือประเด็นเรื่องของปาล์ม ถ้าเกษตรกรจะหวังรวยนั้น เป็นไปได้ยาก นอกจากว่าจะทำเป็นธุรกิจในชุมชน ขนาดเล็ก ทำเอง ผลิตเอง ใช้เอง ไม่เข้าไปอยู่ในกลไกของตลาด ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงเป็นข้อเสนอเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น แต่ระดับนโยบายการพัฒนาพลังงานควรพิจารณาด้วย ควรพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง ระดับท้องถิ่น ซึ่งตนคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง พัฒนากลุ่มผู้ผลิตและบริโภคระดับชุมชน ไม่พึ่งพิงตลาดรับซื้อพลังงาน นายสมบัติกล่าว |
. |
"พลังชุมชนท้องถิ่น" สร้างสมดุลด้านความมั่นคงทางอาหาร |
ด้านอาจารย์บัญชร แก้วส่อง นักวิชาการอิสระ อีกท่านหนึ่งก็ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อเรื่องนี้อย่างน่าคิดว่า ประธานที่ประชุมองค์การสหประชาชาติ พูดว่า "นโยบายพืชพลังงานของประเทศต่าง ๆ คือการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลก" ตอนนี้มีวิกฤติเรื่องอาหารทั่วโลก นาข้าวถูกทิ้งร้าง แปรเปลี่ยนมาเป็นยางพาราหรือปาล์ม พื้นที่อาหารที่ภาคใต้ลดลงแน่นอนคนทำงานนโยบายต้องช่วยตรวจสอบข้อมูล ว่าจะสามารถเลี้ยงคนได้เท่าไหร่ เกษตรกรบางพื้นที่กำลังปลูกยาง ขายยางเพื่อซื้อข้าวกิน ตอนนี้พื้นที่ปลูกข้าวลดลง ถูกแปลงไปเป็นพื้นที่ปลูกยางพารา นี่คือวิกฤติของสังคมไทย ใครที่ซื้อข้าวกินตอนนี้ คราวหน้าคุณลำบากแน่ เกษตรกรที่ภาคใต้ที่ยังอยู่ได้คือปลูกข้าวด้วย ทำสวนยางด้วย |
. |
ขณะนี้ ป่าถูกรุกจากยางพารา ป่าถูกรุกจากมันสำปะหลัง อาหารที่เคยได้จากป่าต้องซื้อกินแน่ๆ ยูคาฯรุกไปในพื้นที่ป่าทาม ตอนนี้กลายเป็นป่ายูคาหมด อาหารธรรมชาติหายไปหมด เพราะใช้ยาฆ่าหญ้าทำให้อาหารลดลงอย่างทันตา เมื่อทุกอย่างต้องซื้อ ไม่รู้ว่าชีวิตจะอยู่กันอย่างไร |
. |
ความมั่นคงทางการผลิตลดลง วิกฤติการณ์อาหารจะเป็นวิกฤติของครอบครัวไทยในอนาคต |
มีเงินเยอะ กินอาหารที่มีแต่สารพิษ เสียเงินค่ารักษา สมัยก่อน บางพื้นที่ปลูกข้าวไม่ได้เลย ก็มีกระบวนการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เชิงวัฒนธรรม แต่ว่าตอนหลังซื้อขายกันอย่างเดียว ไม่มีเงินอยู่ไม่ได้ เราต้องคิดเรื่องวัฒนธรรมด้วย |
. |
ปัญหาวิกฤติโลกร้อนจะเป็นปัญหาของโลกด้วย วิกฤติพลังงาน เราสามารถใช้พืชพลังงานมาต่อรองได้ เราต้องคิดถึงการพึ่งตนเองเรื่องพลังงาน อย่าคิดว่ารอซื้อจากบริษัทที่ผลิตแล้วมาขายให้เรา เราต้องพึ่งตนเอง กระบวนการภายหน้า ต้องคิดเรื่องการสร้างพลังชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ความสมดุลของอาหาร ข้าว นา น้ำ พลังงาน เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ก็น่ากลัว หุ้นอเมริกาไม่เคยตกแต่ก็ตก สังคมไทยยิ่งแล้วมีการแบ่งแยกก๊กกัน ถ้าเราไม่ตั้งรับที่ชุมชนท้องถิ่นให้ดี เราก็จะวิ่งตามกระแส อย่างพื้นที่ที่ทุ่งลุยลาย เมื่อก่อนมีป่าเยอะ ปลูกข้าวโพด พอราคาตก ก็ไปปลูกมะขาม ยางพารา พอราคาตกก็ปลูกอย่างอื่นต่อ เราต้องคุยในชุมชนให้ชัดว่าเราจะอยู่กับความมั่นคงทางอาหารได้อย่างไร |
. |
ชาวนามองนาตนเองเฉพาะเพียงเงินขายข้าวเท่านั้น แต่ลืมไปว่า มีปลา ปู ผัก ที่เป็นความมั่นคงทางอาหาร เราสามารถพัฒนาเป็นรูปแบบยางอินทรีย์ได้ ปลูกผักเนียงแซม ปลูกมังคุด เป็นยางแบบผสมผสาน เป็นทางเลือก หลากหลาย มีทั้งอาหารมีทั้งรายได้ |
. |
อาจารย์บัญชรยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ไม่อยากให้คิดติดกับดัก กระแสทุนว่าชุมชนไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ทุนเป็นคนทำเป็นคนแปรรูป นโยบายต่าง ๆ ที่ผ่านมาทุกนายกเอื้อนายทุนทั้งนั้น เช่นเรื่องเหล้า ที่ฝรั่งเศสทำเหล้าได้ พอเมืองไทยหรือเกษตรกรรายย่อยทำไม่ได้ ต้องให้บริษัทใหญ่ ๆ ทำ อย่างเรื่องพลังงานอย่าลืมว่า ไบโอดีเซล มาจากปราณบุรี เอามะพร้าวมาทำไบโอดีเซลขาย ระบบทุนเข้ามาทำลายตลอดเวลา แต่ความจริงในชุมชนทำได้ ที่กระบี่ ปาล์มเวลาจะออกลูกต้องฉีดฮอร์โมน เลยคุยว่าค้นหาหน่อยว่าจะมีฮอร์โมนอินทรีย์ที่สามารถทดแทนได้ |
. |
ซึ่งกระบวนการแบบนี้ต้องมีคนไปหนุนช่วย บริษัทไม่เคยร่วมรับความเสี่ยงใด ๆ เลย น่าจะลองทำปั๊มชุมชน ซึ่งทุนอาจจะสูงในช่วงแรก แต่ว่าคุณค่าอื่น ๆ ที่มีต่อชีวิต ที่มีความสัมพันธ์ในครอบครัว ต่อสิ่งแวดล้อม บางทีราคาที่สูงกว่ามันอาจจะคุ้ม ซึ่งตรงนี้ต้องช่วยกัน ถ้าทำได้จะเห็นทิศทาง อย่าติดกับดักว่าเกษตรกรทำไม่ได้ ชุมชนทำไม่ได้ เพราะกระบวนการนี้คือการครอบงำทางปัญญา ครอบงำชีวิต อย่างข้าวก็เหลือแค่ไม่กี่พันธุ์ เราต้องฟื้นกลับมา โดยตัวของพวกเราเอง |
. |
นโยบายและกระบวนการขับเคลื่อนยางพาราภาคประชาชน |
ด้านนายกำราบ พานทอง สถาบันศานติธรรม ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของชาวสวนยางที่เป็นอยู่โดยรวมว่า การผลิตยางพาราในปัจจุบัน นักการเมืองต้องการขยับพื้นที่ปลูกยาง ศักยภาพของอีสานที่เพิ่งเปิดเผย ที่จะเพิ่ม ๓๐ ล้านไร่ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ ไม่ถึง ซึ่งตรงนี้คิดว่าจะมีกระบวนการให้ได้มาซึ่งที่ดิน ชาวบ้านอีสานต้องระวัง ชาวบ้านปลูกยางได้ไม่แพ้รัฐ แต่เรื่องการคิดต้นทุนเรื่องยางพารา อยากให้พี่น้องคิดเอง รัฐมุ่งส่งเสริมผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มมากขึ้นถึง ๒๓๐ กก.ต่อไร่ ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะต้นทุนมันสูง ผลผลิตอาจจะได้เพียง ๑๓๐ ต่อไร่ต่อปีเท่านั้น |
. |
ด้านตลาดก็ยิ่งไม่แน่นอน ตลาดแรกคือตลาดท้องถิ่น ที่ขายยางแผ่นดิบ ถูกตัดราคาประมาณ ๒ บาทจากราคาประกาศ ตลาดที่สอง คือตลาดระดับจังหวัด สมาคมยางพาราไทย ๖๐ กว่าปี ตอนนี้ไม่สามารถส่งออกยางได้ เพราะจีน เจอวิกฤติทางการเงิน ตลาดกลางเปิดขายก็ไม่มีคนมาประมูล ราคาเลยดิ่งลงไปเรื่อย ๆ ราคาตลาดยางขึ้นอยู่กับกลไกตลาดโลก ไทยไม่สามารถควบคุมได้ ตอนนี้ยางล้นตลาด จีนไม่รับซื้อ |
. |
เมื่อราคายางพารามีความเสี่ยงสูง ขึ้นลงวันต่อวัน วิกฤติที่ชาวสวนยางกำลังเผชิญ คือ ต้นทุนก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ผลผลิตยางตกต่ำ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและโรคก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วย บางทีโรคบางโรค สกย.ก็ไม่รู้ว่าโรคอะไร ยางอ่อนแอลง สารเคมีทางการเกษตรปนเปื้อนจำนวนมาก วัฒนธรรมการการพึ่งตนเองถูกบั่นทอน ขณะที่การบริโภคเน้นพึ่งพาภายนอก ชาวสวนยางในภาคใต้กินข้าวกินแกงถุง ความมั่นคงทางด้านอาหารถูกทำลาย การสูญเสียระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ทำนากว่าร้อยละ ๗๐-๘๐ ถูกเปลี่ยนไปเป็นสวนยาง |
. |
ทุนเดิมของชุมชนชาวสวนยางที่ยังอยู่และมีศักยภาพ คือ ภูมิปัญญาด้านอาหารและยา |
ภูมิปัญญาการพึ่งพาคนกับป่า ของชุมชนดั้งเดิม ที่ดินทำกินมีขนาดเล็กและกำลังลดลงไปทุกขณะการออมเงินจากการวมกลุ่มซื้อขายผลผลิตยาง การจัดกระบวนการเรียนรู้ แต่อีกด้านหนึ่งนั้น นโยบายของรัฐ ก็เน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของการผลิตยางเป็น 310 ก.ก.ต่อไร่ ส่งเสริมการปลูกยางในพื้นที่ใหม่ แทนการปลูกยางในพื้นที่เดิม ควบคุมให้ราคายางพารามีเสถียรภาพมากขึ้น โดยการสร้างเครือข่ายตลาดกลางยางพารา จัดตั้งบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ เพิ่มมูลค่าการใช้ยาง พัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราแทนการส่งออกวัตถุดิบให้มากขึ้น |
. |
ผลกระทบจากนโยบายยางต่อชุมชน ก็คือ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านพันธุกรรมพืช อาหารและยาสมุนไพร ทำลายป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ป่าหัวไปลายนาและป่าครอบครัว พื้นที่ทำสวนผลไม้และนาข้าวที่สมบูรณ์หมดไป หนี้สินระยะยาวและการสูญเสียที่ดินทำกินเพราะต้นทุนการทำสวนยางสูงมาก แรงงานหายาก ต้องใช้แรงงานต่างถิ่นและต่างด้าวมากขึ้น เกษตรกรถูกควบคุมและละเมิดสิทธิจาก พรบ.ควบคุมยาง 2542 ขาดการมีส่วนร่วม ในการพัฒนาและวางแผนนโยบายยางแห่งชาติ ขาดแผนงานและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเช่นยุทธศาสตร์ศูนย์กลางยางพาราโลก ขาดกฎหมายและกฎระเบียบที่สนับสนุนและเอื้อต่อการทำเกษตรยั่งยืนในสวนยาง |
. |
ความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมโดยรวม คือ ทุนทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ถูกแย่งชิง |
วัฒนธรรมการพึ่งพาตนเอง ถูกลดคุณค่า เป็นได้แค่ลูกจ้างในที่ของตนเองเท่านั้น สุขภาวะชุมชน เสื่อมถอย เช่น ยาฆ่าหญ้ากรัมมอคโซน ฉีด ๑ ครั้งสะสมในดิน๔๐ปี ความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหารน้อยลง ขาดความมั่นคงในที่ดินทำกิน เช่น นโยบายเอื้ออาทร ทำให้พี่น้องเกษตรกรต้องสูญเสียที่ดิน |
. |
ทิศทางใหม่ของชุมชนชาวสวนยางขนาดเล็ก ก็คือ การสร้างชุมชนชาวสวนยางขนาดเล็ก ในระบบสวนยางยั่งยืน มี พรบ.สงเคราะห์การทำสวนยาง หรือกฎหมาย ที่สนับสนุนเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่สวนยางของระบบนิเวศน์ต่างๆ รวมทั้งเขตป่า มีองค์กรและเครือข่ายชุมชนชาวสวนยางขนาดเล็ก มีการพัฒนาและปรับปรุงปัจจัยการผลิต และเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีฐานอาหาร ฐานรายได้ ฐานสุขภาพ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระดับครอบครัว |
. |
การขับเคลื่อนกระบวนการยางพารา ภาคประชาชน |
จากนั้น นายกำราบ ยังได้กล่าวถึงพัฒนาการในการขับเคลื่อนกระบวนการยางพารา ภาคประชาชน ว่า ได้เริ่มขับเคลื่อนเมื่อปี 2505 - 2537 ที่มีการเดินขบวนต่อรองราคายาง เมื่อราคาตกต่ำมาก ของชาวสวนยางในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอำเภอทุ่งสง ปี 2531- ปัจจุบัน ก็มีการศึกษา "ป่ายาง" โดยโครงการพัฒนาชุมชนสวนยางขนาดเล็ก และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จัดประชุมสัมมนาปีละ2-3 ครั้ง |
. |
ปี 2535-2542 มีการศึกษาวิจัย "พืชร่วมยาง" โดยกลุ่มเกษตรกรรมทางเลือก ร่วมกับศูนย์วิจัยยางสงขลา และ สกย.สงขลา ปี 2538 ได้ทำการศึกษาการพึ่งตนเองในชุมชนสวนยาง พัฒนาเป็นโครงการนำร่องฯ พื้นที่สงขลา-สตูล ปี 2540-2541 ได้จัดเวทีวิเคราะห์ ร่าง พรบ.ควบคุมยาง ปี 2544-2549 - พัฒนาเทคนิคสวนยางอินทรีย์ ในพื้นที่โครงการนำร่องฯประมาณ 2543 ยกร่างแผนแม่บทยางพารา |
. |
โดยเครือข่ายยมนา ปี 2548-2550 จัดเวทีติดตามและวิเคราะห์ ร่าง พรบ.การยางฯ ปี2549-2550 เกิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปลูกยางพารากับเกษตรกรและNGOs ประเทศลาว ปี 2549-2550 ทำการศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง โดยสถาบันศานติธรรม และปี 2549-2551 ก็ได้ศึกษาพืชเศรษฐกิจและพืชพลังงานภาคอีสานและภาคใต้ โดยโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา |
. |
เมื่อเห็นพัฒนาการการขับเคลื่อนแล้ว ได้นำเสนอแนวทางและข้อเสนอการขับเคลื่อนต่อไปของภาคประชาชน ดังนี้ ยกระดับประเด็นยางพารา เป็นวาระร่วม อย่างน้อย 10 ปี พัฒนาโครงการลงทุนร่วมกันของภาคประชาชนใน 3 ด้านคือ การสำรวจ ศึกษา รวบรวม จัดทำฐานข้อมูลพัฒนา และแลกเปลี่ยนกล้าพันธุ์พื้นบ้านทั้งพันธุ์ยางพาราและพืชพื้นบ้าน พัฒนานักวิจัยชาวบ้านอาสาฯ ศึกษาวิจัย สวนยางทางเลือกเพื่อการพึ่งตนเอง ครบวงจร ในแปลงตนเองหรือแปลงชุมชน |
. |
ระยะเวลาศึกษาวิจัย 8-15 ปี ศึกษาผลกระทบนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราทั้งภาคใต้และอีสาน แลกเปลี่ยนเทคนิค ประสบการณ์ องค์ความรู้ระหว่างเครือข่ายชุมชนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่ารวมทั้งผลผลิตที่ไม่ใช่ยางพารา พัฒนานโยบายยางพาราภาคประชาชน โดยมีคณะทำงานศึกษาและพัฒนากระบวนการที่ต่อเนื่องจากเวที จัดตั้งชมรม สมาพันธ์หรือสมาคมชาวสวนยางขนาดเล็ก ร่วมมือกันในพื้นที่ต่างๆ ยกร่างและผลักดัน ร่าง พรบ.การทำสวนยางที่ยั่งยืนและนโยบายยางพาราภาคประชาชน |
. |
ท้ายที่สุดของการสัมมนา ก็ได้มีข้อเสนอร่วมกันของผู้เข้าร่วมว่า เราได้รับทราบสถานการณ์ปัญหา และมองเห็นทางเลือกของเกษตรกรในระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญหลังจากสิ้นสุดการสัมมนา คือการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาจากพื้นที่ต่าง ๆ ทางเลือกของเกษตรกร ข้อเสนอแนะเร่งด่วน คือ เป็นโจทย์ให้คณะศึกษาวิจัยรวมข้อมูลเป็นเล่ม อาจเป็นหนังสือเผยแพร่ หรือเผยแพร่ในช่องทางอื่น ๆ |
. |
โดยร่วมกับสถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยฯ เครือข่ายวิทยุชุมชน ตีแผ่ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อหยุดการหาผลประโยชน์ หลอกลวงเกษตรกร เช่น การหลอกลวงเพื่อขายกล้าพันธุ์ต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นข้อมูลให้กับเกษตรกรรายย่อยที่กำลังสับสน ลังเล หรืออยู่ในช่วงของการตัดสินใจ รวมทั้งศึกษา พัฒนากฎหมายขึ้นมาเพื่อรองรับทางเลือกของเกษตรกร ทำความร่วมมือระหว่างสองภาค สร้างโรงเรียนยางพาราขึ้น ในภาคอีสาน เพื่อให้คำแนะนำ ส่งเสริม ไม่คาดหวังพึ่งหน่วยงานของรัฐเท่านั้น |
. |
รายงานโดย เสียงคนอีสาน www.esaanvoice.net |