เนื้อหาวันที่ : 2008-10-21 09:50:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1317 views

อุตฯ ปิโตรเคมี สวนกระแสเศรษฐกิจโลก ทุ่ม 17,000 ล้าน ดูแลสิ่งแวดล้อม

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระบุผู้ประกอบการปิโตรเคมียุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทุ่มเงิน 17,000 ล้าน เพื่อป้องกันและจัดการสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตชุมชน เน้นใช้เทคโนโลยีใหม่ ลดมลภาวะทางอากาศ

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระบุผู้ประกอบการปิโตรเคมียุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทุ่มเงิน 17,000 ล้าน เพื่อป้องกันและจัดการสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตชุมชนเน้นใช้เทคโนโลยีใหม่ลดมลภาวะทางอากาศใช้นโยบายชุมชนกับอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย                                  

.

นายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของมวลมนุษยชาติมากขึ้นทุกขณะ

.

แต่อีกมุมหนึ่งก็ถูกมองว่าได้สร้างปัญหามลภาวะทางอากาศให้กับชุมชนใกล้เคียงโรงงานนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีรายใหญ่ๆ และรายใหม่ๆ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้ตระหนักในเรื่องนี้มาโดยตลอด ต่างมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ที่ต้องทำ

.

แต่เป็นสิ่งที่ควรทำ กลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจึงรวมตัวกันลงทุนในเรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม  สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นจำนวนเงินสูงถึง 17,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้จัดการสิ่งแวดล้อม

.

"นับจากต้นปี 50 ที่มีการอนุมัติเริ่มโครงการ ไปจนถึงปี 2554 คาดว่าจะมีเม็ดเงินเกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างน้อยๆ 3 แสนล้านบาท ในเงินจำนวนนี้มีการนำไปใช้เพื่อการป้องกันและการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นประมาณ 17,000 ล้านบาท ถ้ามองเป็นเปอร์เซ็นต์อาจจะน้อย"

.

"เพราะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนสูง แต่เมื่อเทียบกับในอดีตแล้ว การลงเงินในเรื่องของสิ่งแวดล้อมจำนวนขนาดนี้ถือว่าค่อนข้างสูง ซึ่งสำหรับผมคิดว่านี่คือวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมไทย ที่ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการลงทุนเพื่อการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม"

.

โดยหลังจากที่ได้เริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาจัดการกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2550 ทำให้คนในชุมชนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับ 25 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ประเทศเราเริ่มมีโรงงานปิโตรเคมีเป็นครั้งแรก

.

นอกจากนี้ทัศนคติของผู้ประกอบการในวันนี้เปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับอดีต ถ้าเราย้อนไปดูที่สมุทรปราการเมื่อประมาณ 40-50 ปีก่อน ณ เวลานั้น จะเห็นว่าเงินที่มาลงในลักษณะของการดูแลสิ่งแวดล้อมมีน้อยมาก แค่บำบัดน้ำที่ทิ้งยังไม่มี เมื่อเทียบกับมาบตาพุด ณ เวลานี้ ต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เป็นนิมิตหมายที่ดีของการพัฒนาอุตสาหกรรม 

.

นอกจากทัศนคติของผู้ประกอบการที่เปลี่ยนไปแล้ว ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการจัดการที่ดีขึ้นด้วย  ในอดีตเทคโนโลยีอาจจะไม่พอที่จะตอบโจทย์ในเรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีการลงทุนที่สูง แต่แม้จะใช้เงินลงทุนสูง ผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบเขาก็พร้อมที่จะลงทุนตรงนี้ เพื่อความถูกต้องต่อกฎระเบียบกติกาบ้านเมือง และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

.

อย่างไรก็ตาม ดังที่ทราบกันว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลง ในอุตสาหกรรมอื่นๆ งบประมาณในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและชุมชน มักจะถูกตัดงบลงไปด้วย แต่สำหรับประเทศไทยนั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเราที่กำลังขยายตัวไปตามปริมาณประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงต้องสามารถตั้งอยู่ได้โดยต้องได้รับการยอมรับ และได้รับความไว้วางใจจากชุมชน

.

เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้เตรียมพร้อมสำหรับงบประมาณ 17,000 ล้านบาทนี้ ไว้เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมให้ชุมชนกับอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้ต่อไป เช่นเดียวกับ การออกกฎระเบียบหรือข้อปฏิบัติภายในองค์กร

.

การกำหนดให้มีนโยบายด้านความปลอดภัย หรือแผนงานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการปฏิบัติตามกรอบข้อบังคับของทางราชการ เหล่านี้ถือเป็นมาตรการการจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้การดำเนินกิจการของกลุ่มอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม