เนื้อหาวันที่ : 2008-10-20 10:23:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1576 views

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ ตลาดหุ้นลดลงมีผลกระทบต่อการบริโภคของภาคเอกชน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าดัชนีหุ้นไทยในระยะถัดๆ ไป ยังมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนจากประเด็นการเมืองในประเทศ และความเสี่ยงศก.อาจมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย การชะลอตัวลงของการบริโภคยังขึ้นกับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาลงทุนในตลาดหุ้น หากเป็นเงินที่กู้ยืม จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคได้เร็ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าดัชนีหุ้นไทยในระยะถัดๆ ไป ยังมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนจากประเด็นการเมืองในประเทศ และความเสี่ยงศก.อาจมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย และการปรับตัวร่วงลงของดัชนีหุ้น ย่อมมีผลต่อความมั่งคั่ง (Wealth) ซึ่งมูลค่าหุ้นในตลาด (Market Capitalization) ที่ลดลงมาแล้ว 41% และอาจนำไปสู่การบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลงได้ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย พร้อมคาดว่า จะเห็นการกลับเข้ามาซื้อลงทุนของนักลงทุนอีกในช่วงปลายไตรมาส 4/51-ไตรมาส 1/52 และช่วงครึ่งหลังของปี 52 

.

การเคลื่อนไหวของดัชนี SET ในช่วงสัปดาห์ก่อนได้รับผลกระทบจากปัญหา ศก.สหรัฐฯ และปัจจัยการเมืองในประเทศที่กลับมากดดันตลาดอีกครั้ง และภายใต้สถานการณ์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนทั้งจากประเด็นการเมืองในประเทศ และความเสี่ยงศก.อาจมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้นการปรับตัวของดัชนีหุ้นในระยะถัดๆ ไป อาจยังมีทิศทางที่ไม่ชัดเจน โดยน่าจะยังคงถูกผลักดันจากกระแสข่าวทั้งดีและร้ายในตลาดเงินและตลาดทุนโลก

.

ดังนั้นในภาวะที่หุ้นอยู่ในช่วงขาลงเช่นนี้ กลยุทธ์การลงทุนมีความสำคัญมาก โดยหากต้องการลงทุนในระยะสั้นเพื่อหวังกำไร จังหวะการลงทุนที่เหมาะสมถือเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากถ้ากะจังหวะผิดก็จะต้องรับความเสี่ยงที่จะมีโอกาสขาดทุน และต้องขายตัดขาดทุน (cut loss) บางส่วน หรือลดพอร์ตการลงทุนไปถือสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า

.

แต่หากต้องการซื้อหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีและถือในระยะยาว เพื่อรอเงินปันผล ก็ต้องเป็นนักลงทุนที่มีสภาพคล่องดีพอสมควร เนื่องจากโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดียังมี แต่อาจต้องอยู่ในตลาดนาน ดังนั้น ในช่วงที่ตลาดยังมีแนวโน้มแกว่งตัวผันผวน นักลงทุนยังคงต้องติดตามกระแสข่าวตลาดเงินตลาดทุน สถาบันการเงิน และตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศหลัก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดต่อไป  โดยคาดว่าจังหวะที่นักลงทุนน่าจะกลับมาซื้อสะสมหุ้นได้อีก คือ ช่วงปลาย Q4/51-Q1/52 และช่วง H2/52

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่าการร่วงลงของดัชนีหุ้น ย่อมมีผลต่อความมั่งคั่ง (Wealth) ซึ่งมูลค่าหุ้นในตลาด (Market Capitalization) ที่ลดลงมาแล้ว 41% และอาจนำไปสู่การบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลงได้ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย

.

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวลงของการบริโภคยังขึ้นกับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาลงทุนในตลาดหุ้น หากเป็นเงินที่กู้ยืม จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคได้เร็ว แต่หากเป็นเงินออมจะมีผลต่อการบริโภคช้ากว่า นอกจากนี้ การบริโภคก็ยังขึ้นกับรายได้เป็นปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งขึ้นกับการเติบโตทางศก. ที่หากมีแนวโน้มเติบโตในทางบวก ย่อมจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีความโน้มเอียงที่จะใช้จ่ายเพื่อการบริโภคมากขึ้นตามไปด้วย

.

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ศึกษาข้อมูลช่วงที่ผ่านมา ยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงของดัชนี SET และการบริโภคภาคเอกชนมีความสัมพันธ์กันสูงถึง 92% และดัชนี SET ยังมีอิทธิพลต่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในระยะ 9 เดือนข้างหน้าที่ ระดับความเชื่อมั่น 95%

.

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า การตกต่ำของตลาดหุ้นและการบริโภคที่ชะลอตัว ทางการได้มีการวางแผน/เตรียมการรับมือไว้บ้างแล้ว เห็นได้จากการออก 6 มาตรการ ด้านตลาดทุน เพื่อรับมือกับวิกฤตการเงินโลก ซึ่งแม้ว่า อาจต้องรอเวลาสำหรับการพิสูจน์ผล แต่น่าเป็นข่าวดีต่อตลาดหุ้นไทยได้บ้าง