เนื้อหาวันที่ : 2008-10-16 16:58:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2764 views

ปวดศีรษะ ซ้ำซากกับคนบ้างาน

ปวดศีรษะยังจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความวิตกกังวล มีความเครียด หรือ ผู้ที่ต้องทำงานหนักแข่งกับเวลา และวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบในปัจจุบัน



 
ปวดศีรษะ (headache) เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง นอกจากจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นกันบ่อยๆ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่แล้ว ปวดศีรษะยังจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความวิตกกังวล มีความเครียด หรือ ผู้ที่ต้องทำงานหนักแข่งกับเวลา และวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบในปัจจุบัน
 
นอกจากนี้ปวดศีรษะยังมักจะเป็นอาการอย่างหนึ่งเสมอๆ ของโรคทางกายต่างๆ เพราะผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคทางกายต่างๆ ก็มักจะมีความวิตกกังวลและมีความเครียด ความกลัวว่าโรคที่เป็นอยู่จะทำให้เกิดความรุนแรงต่อตนเอง ซึ่งจะนำมาสู่ความปวดศีรษะด้วยเสมอๆ
 
อาการปวดศีรษะอาจมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้ผู้ที่มีอาการปวดเดือดร้อนแต่ประการใด จนถึงมีอาการปวดมากที่สุดจนทุรนทุราย แต่ในบางครั้งอาการปวดศีรษะไม่ว่าจะมีอาการปวดรุนแรงมากน้อยเพียงใดก็ตาม อาจเป็นสาเหตุที่รุนแรงและมีอันตรายได้
 
อาการปวดศีรษะในผู้สูงอายุ
ส่วนน้อยที่จะเกิดจากปัญหาเส้นเลือด การหดตัวของกล้ามเนื้อและไมเกรน ส่วนใหญ่จะมีเรื่องของอาการมึนงง ซึ่งบางครั้งอาจจะให้ประวัติสับสนกับอาการปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ในผู้สูงอายุมีสาเหตุมากมาย เช่น เรื่องของความดันเลือดต่ำขณะเปลี่ยนอิริยาบถ การทรงตัวไม่ดีเนื่องจากโรคของหู ตา หรือประสาทรับความรู้สึกเสียไป นอกจากนี้ผู้สูงอายุอาจมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมของกระดูกบริเวณต้นคอเพิ่มขึ้น
 
อาการปวดศีรษะในผู้หญิง
จะพบได้ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะไมเกรนซึ่งมักเกิดร่วมกับการมีประจำเดือนหรือการหมดประจำเดือนได้ ส่วนรายที่ตั้งครรภ์อาการปวดศีรษะเพราะไมเกรนดีขึ้นเมื่อตั้งครรภ์เกิน 3 เดือนไปแล้ว อย่างไรก็ตามหญิงตั้งครรภ์ ที่มีอาการปวดศีรษะควรพบแพทย์เพราะมีโรคทำให้ปวดศีรษะกำเริบขึ้นเมื่อตั้งครรภ์
 
อาการปวดศีรษะในเด็ก
ถ้าอาการปวดศีรษะเป็นเรื้อรังและเป็นเรื่อยๆ ส่วนมากจะมาจากความ ผิดปกติของเนื้อสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื้องอกต่างๆ ส่วนเด็กที่ ปวดศีรษะเป็นๆ หายๆ อาจเกิดจากไมเกรนได้
 
ทฤษฎีปวดศีรษะที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทสมอง
นักวิจัยกำลังมุ่งความสนใจไปที่วิถีของเส้นประสาทคู่ที่ 5 หรือที่เรียกว่าไทรเจมินัล และสารเคมีในสมองชื่อซีโรโตนิน ที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง การปวดศีรษะอาจเป็นผลมาจากการเสียสมดุลของสารเคมีในสมอง กล่าวคือเมื่อปวดศีรษะ ระดับซีโรโตนินในสมองจะลดต่ำลง ทำให้เกิดการกระตุ้นผ่านเส้นประสาทไทรเจมินัลไปยังหลอดเลือดที่เยื่อหุ้มสมองด้านนอก ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวจนบวมและอักเสบ
 
ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว
เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในชีวิตประจำวัน เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น อดนอน เครียด ใช้สมองหรือสายตาติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ฯลฯ การปวดมีลักษณะตึงๆ ตื้อๆ บางคนอาจปวดจี๊ดๆ ร่วมด้วย ร้าวจากขมับไปกลางศีรษะ จนถึงท้ายทอย อาจปวดข้างเดียว หรือสองข้างก็ได้


ส่วนใหญ่อาการปวดมักจะเริ่มตอนสายๆ หรือบ่าย แล้วมักจะปวดต่อไปทั้งวัน เวลาหายก็มักหายไม่สนิทเป็นปลิดทิ้ง คือจะยังตื้อๆ อยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งต่างจากไมเกรนที่ปวดรุนแรง แต่เวลาไม่ปวดก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง
 
ปวดศีรษะไมเกรน
ปัจจุบันพบว่า ion-transport gene เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค ไมเกรน โดยระบบประสาทของผู้ที่เป็นไมเกรนไวต่อการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นไมเกรน เมื่อระบบประสาทมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด และเส้นประสาทรอบๆ สมอง นอกจากนี้ยังพบความผิดปกติที่ระดับสารเคมีในสมอง การสื่อกระแสในสมอง หรือการทำงานที่ผิดปกติไปของหลอดเลือดสมองอีกด้วย
 
แนวทางการวินิจฉัยหาสาเหตุ
ลักษณะของอาการปวดศีรษะเป็นอย่างไร
ปวดที่ตรงไหน ปวดบ่อยแค่ไหน
ปวดครั้งสุดท้ายเมื่อไร ปวดครั้งแรกเมื่อไร
ปวดแต่ละครั้งนานแค่ไหน
มีการเปลี่ยนแปลงอาการปวดศีรษะหรือไม่ อย่างไร
มีอาการอื่นร่วมหรือไม่ เช่น อาเจียน มึนงง บ้านหมุน
การนอนหลับ
ปัจจัยที่กระตุ้นให้ปวดศีรษะ
ประวัติการเจ็บป่วย ประวัติการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ 
 
ลักษณะเฉพาะบางประการ
          1. ระยะเวลาที่มีอาการเจ็บปวด เช่น มีอาการชั่วประเดี๋ยวเดียวก็หาย หรือมีอาการปวดศีรษะอย่างเดียว และเมื่อเข้านอนแล้วก็หายไป ถ้าเป็นเช่นนี้ มักจะไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่ร้ายแรง แต่หากมีอาการปวดศีรษะมากกว่า 24 ชั่วโมง หรือเป็นบ่อยๆ เช่น 2-3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาต่อไป 
          2. ในกรณีที่มีประวัติได้รับอันตรายที่ศีรษะจากอุบัติเหตุ หรือมีอาการง่วงซึม อาเจียน แขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการตาพร่า อาจเกิดจากภาวะเลือดออกในกระโหลกศีรษะ 
          3. หากมีไขัร่วมกับปวดศีรษะ ควรนึกถึงสาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อ อาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือปาราสิต ที่สำคัญต้องคิดถึงโรคติดเชื้อในระบบประสาทด้วยเสมอ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไข้สมองอักเสบ เป็นต้น 
          4. อาการผิดปกติทางสายตา เช่น ตาพร่ามัว แสงสว่างที่ทำให้ปวดเบ้าตา 
          5. ความเครียดหรือความวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ ทั้งการงาน ครอบครัว และเรื่องส่วนตัวต่างๆ ที่ยังจัดการไม่เรียบร้อย ก็มีผลทำให้เกิดความปวดศีรษะได้เสมอๆ  


การตรวจเพิ่มเติม
หลังจากได้ประวัติลักษณะอาการแล้ว ส่วนใหญ่แพทย์จะสามารถให้การวินิจฉัยได้ บางรายอาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจภาพรังสี ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ตามข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนและเหมาะสม
 
การรักษา
หลักสำคัญคือพิจารณาให้การรักษาตามสาเหตุ โดยติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิด


ผู้เขียน : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ /ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ  
ที่มา : http://www.bangkokhealth.com