เนื้อหาวันที่ : 2008-10-16 16:26:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2402 views

อยู่อาคารสูงอย่างไรให้ ปลอดไฟ?

หากย้อนหลังกลับไปดูเกือบทุกครั้งที่ผ่านมา เหตุไฟไหม้อาคารสูงส่วนใหญ่นอกจากจะสูญเสียทรัพย์สินแล้ว ยังจะต้องมีตัวเลขของผู้เสียชีวิตตามมาอย่างน่าสลดใจ

เชื่อว่าหลายท่านคงจะจำเหตุการณ์ไฟไหม้อาคารสูงใหญ่แห่งหนึ่งบนถนนรัชดาภิเษกเมื่อต้นเดือนมกราคม 2551 ที่ผ่านไปกันได้ ซึ่งถึงแม้ว่าเหตุการณ์ครั้งดังกล่าวจะไม่รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต แต่! หากย้อนหลังกลับไปดูเกือบทุกครั้งที่ผ่านมา เหตุไฟไหม้อาคารสูงส่วนใหญ่นอกจากจะสูญเสียทรัพย์สินแล้ว ยังจะต้องมีตัวเลขของผู้เสียชีวิตตามมาอย่างน่าสลดใจ

.

 

ในเมื่อทุกวันนี้ชีวิตของคนกรุงส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่บนอาคารสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงานหรือที่พักอาศัยทั้งแบบถาวรหรือชั่วคราวก็ตาม แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตบนอาคารสูง เชื่อว่าข้อมูลต่อไปนี้แม้ว่าจะเป็นเชิงเทคนิคไม่น้อย แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจาก "ความไม่รู้" หรือ "นึกว่ารู้แต่เป็นความรู้ที่ผิดๆ" ของผู้ออกแบบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันเพลิงไหม้ ซึ่งน่าจะเป็นความรู้ที่ช่วยให้คุณใช้ชีวิตอยู่บนอาคารสูงได้อย่าง "ปลอดภัย" และ "ปลอดไฟ" ยิ่งขึ้น

.

1.อะลูมิเนียมคอมโพสิต ไม่ใช่วัสดุไม่ติดไฟเสมอไป

ด้วยความเชื่อว่าอะลูมิเนียมเป็นวัสดุไม่ติดไฟ ทำให้เราเข้าใจผิดว่า แผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิต ซึ่งเป็นวัสดุยอดนิยมในการทำผนังสำเร็จภายนอกอาคารเป็นวัสดุไม่ติดไฟไปด้วย ทั้งที่จริงแล้วการนำไปใช้ของผู้ออกแบบจำเป็นต้องระบุรายละเอียดว่า ไส้กลางของแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิตจะต้องเป็นแบบใด มิฉะนั้นหากไส้กลางเป็น พีอี ซึ่งมีราคาถูกจะติดไฟง่าย ดังนั้นต้องระบุเสมอไปว่า แผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิตต้องใช้ไส้กลางไม่ติดไฟหรือไส้แบบเอฟอาร์เท่านั้นจึงจะปลอดภัย

.

2.กระจกเสริมลวดมิใช่กระจกกันไฟ

ด้วยความไม่รู้ของผู้ออกแบบ ทำให้เรามักจะเห็นช่องกระจกเล็กบริเวณประตูบันไดหนีไฟเป็นกระจกเสริมลวด อันเกิดจากความรู้ผิด ๆ ว่ากระจกเสริมลวดเป็นกระจกกันไฟ ซึ่งตามกฎหมายนั้นกำหนดให้ประตูหนีไฟต้องทนไฟได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง แต่ว่า "กระจกเสริมลวด" ย่อมไม่สามารถทนไฟได้เป็นชั่วโมงอย่างแน่นอน ดังนั้นหากอาคารสูงที่ต้องการทำช่องกระจกบนประตูกันไฟนั้น จำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนว่า กระจกนั้นต้องเป็น "กระจกกันไฟ" ที่ผ่านการรับรองจากสถาบันที่น่าเชื่อถือเท่านั้น

.

3.การอุดช่องว่างระหว่างท่อต้องมีผู้รับผิดชอบ

การอุดช่องว่างระหว่างท่องานระบบเพื่อป้องกันการลามของไฟนั้น มักจะเป็นข้อถกเถียงกันเสมอว่าเป็นหน้าที่ของใคร เกี่ยงกันตั้งแต่ผู้ออกแบบที่เป็นสถาปนิก วิศวกรโครงสร้าง เจ้าหน้าที่งานระบบ จนถึงผู้รับเหมาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาหลัก ผู้รับเหมางานไฟฟ้า ผู้รับเหมางานปรับอากาศ จนพาลไม่มีใครปิดรูช่องว่างเหล่านั้น เพราะงานเหล่านี้เป็นงานที่ต้องใช้เวลานานแต่ได้เงินน้อยจึงมักหาเจ้าภาพไม่ค่อยได้ ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อการลุกลามมากกว่าที่ควรจะเป็นหากเกิดไฟไหม้ ดังนั้นเจ้าของอาคารจำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มทำงานช่วงออกแบบว่า ใครจะเป็นผู้ปิดช่องเหล่านี้ให้เรียบร้อย

.

4.ผนังม่านกระจกไม่อุดช่องว่างด้วยวัสดุกันไฟและควัน

ระบบผนังม่านกระจกหรือ Curtain Wall นั้นจะมีช่องว่างระหว่างโครงสร้างกับโครงของส่วนผนังกระจก ซึ่งผู้ออกแบบมักลืมที่จะกำหนดให้มีการอุดช่องในช่องว่างดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงและก่อให้เกิดปัญหาของการลามไฟและควันเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ดังนั้นในรายการประกอบจะต้องไม่ลืมที่จะมีรายละเอียดส่วนนี้ให้ชัดเจน

.

ซึ่งข้อมูลข้างต้นเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเรื่องของความปลอดภัยของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนอาคารสูง ที่เราทุกคนต้องช่วยกันผลักดันให้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการออกแบบโครงสร้างอาคารนั่นเอง