เนื้อหาวันที่ : 2008-10-16 15:55:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3429 views

มาสร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะในบ้านกันเถอะ

เคยได้แอบสังเกตเด็กเล็ก ๆ หลายคน ที่มีหน้าตาสดชื่น ไร้เดียงสา พร้อมด้วยเสียงหัวเราะอย่างเบิกบานแจ่มใส เมื่อเห็นพ่อยิ้มให้ แม่

ผู้เขียน : พิมพ์ทอง  เจ๊กจันทึก /โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
 
"บทพิสูจน์ พ่อยุคใหม่"
เคยได้แอบสังเกตเด็กเล็ก ๆ หลายคน ที่มีหน้าตาสดชื่น ไร้เดียงสา พร้อมด้วยเสียงหัวเราะอย่างเบิกบานแจ่มใส และเมื่อเห็นพ่อ แม่ ของเด็กเหล่านั้นจะได้คำตอบทันทีว่าที่มาของความสดใส ร่าเริงของเด็กเหล่านั้นก็เพราะมีพ่อแม่ที่มีหน้าตายิ้มแย้ม มีเสียงพูดที่อ่อนโยน มีเสียงหัวเราะอยู่เสมอ
 
เมื่อให้ผู้ป่วยที่มารับบริการเขียนเติมข้อความลงในประโยคที่ไม่สมบูรณ์ อาทิเช่น ฉันต้องการ ...... ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักเติมข้อความที่เกี่ยวกับพ่อ แม่ เช่น ฉันต้องการให้พ่อมีรอยยิ้มเหมือนสมัยฉันยังเด็ก หรือฉันต้องการให้พ่ออารมณ์ดีไม่ดุด่าฉัน หรือสิ่งที่ฉันต้องการ คือ อยากให้พ่อใจเย็น ไม่เอาแต่ใจตนเอง ฟังเหตุผลของฉันบ้าง เพราะเหตุนี้กระมังการรักษาผู้ป่วยทางจิตนั้น
 
จึงต้องมุ่งทำความเข้าใจกับพ่อแม่ ที่มีต่อการป่วยของลูกเพื่อช่วยให้อาการทางจิตดีขึ้น ส่วนหนึ่งเราต้องยอมรับว่าบรรยากาศในบ้าน มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการคลี่คลายใบหน้าให้เป็นคนยิ้มเสมอ และในทางตรงข้ามใบหน้าของพ่อแม่ เคร่งเครียด บูดบึ้ง แล้วใบหน้าของลูกก็บูดบึ้งหรือยิ้มยากไปด้วยอย่างแน่นอน
 
ในอดีต คือ สยามเมืองยิ้ม ปัจจุบัน รอยยิ้มหายไปไหน? 
        - มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า รอยยิ้มในบ้าน เริ่มหาดูได้ยากขึ้นทุกที หากครอบครัวคุณเป็นหนึ่งในจำนวนที่ “ยิ้มยาก” ลองสำรวจดูว่าเพราะอะไร 
        - เพราะชีวิตที่เร่งรีบแข่งกับนาฬิกา ในบ้านแย่งกันเข้าห้องน้ำ นอกบ้านแย่งกันขึ้นรถให้ได้ไปก่อน แย่งกันลงเรือ (จนโป๊ะล่ม) แย่งกันเรียนให้ได้ที่ 1 แย่งกันทุกอย่าง แม้กระทั่งแย่งกันเป็นรัฐมนตรี 
        - ตั้งหน้าตั้งตาสร้างฐานะ (ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ) จึงบอกตนเองว่า ขอยกยอดไปยิ้มวันหน้า 
        - สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ รถติด ควันดำ น้ำเน่า ขยะเต็มเนือง ถนนเป็นหลุม บ่อ บางคนขับรถตกท่อทำให้หงุดหงิดรวมไปถึงคุมอารมณ์ไม่ได้ บางรายลงไปต่อยปากเขา เพราะบีบแตรเสียงดัง 
        - บางคนทุ่มเทไปยิ้มนอกบ้าน กว่าจะกลับบ้านเหงือกแห้ง และเมื่อยหน้าจึงบอกว่า “เห็นกันทุกวัน จะยิ้มทำไมเสียเวลา” 
        - ตกเย็น อ่อนระโหยกลับบ้าน เพราะเหนื่อยล้า พ่อบางคนกลับบ้านดึก และตอนเช้าลูกไปโรงเรียนแล้ว ในหนึ่งปีจะได้ยิ้มและมองหน้าลูกสัก 10 ครั้ง

ทำไมพ่อจึงไม่ค่อยยิ้ม หรือหัวเราะ? 
หรือพ่อคิดว่า ตนคือหัวหน้าครอบครัวที่เหนื่อยกว่าทุกๆ คน พ่อบางคนคิดว่า ตนคือผู้ที่ออกคำสั่ง แม่และลูกคือผู้ที่คอยรับคำสั่งอย่างเดียว พ่อบางคนมีมาดวางท่าทางให้ลูกเกรงกลัว เช่น ขรึม ไม่พูดคุยหยอกล้อสื่อสารใดๆ จนลูกบางคนได้ยินเสียงพ่อ เมื่อเวลาพ่อดุลูกเท่านั้น พ่อบางคนพูดเสียง ก้อง ครั้งเวลาดุลูกจึงเหมือนเสียงฟ้าผ่า
 
เราพบว่า อายุของผู้ที่มารับบริการที่ฝ่ายผู้ป่วยนอกนั้นเริ่มตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เพราะเด็กมีพัฒนาการด้านภาษาช้างบ้าง เด็กบางคนอยู่ไม่สุข ไม่มีสมาธิบ้าง ทั้งๆ ที่เชาว์ปัญญาปกติหรือค่อนข้างฉลาด ท้ายสุดจึงรู้ว่าเด็กมีพ่อที่ท่าทางใจร้อน ไม่อดทน น่ากลัว อารมณ์หงุดหงิด บางรายเจ้าระเบียบมาก เมื่อลูกเล่นของเล่นหรือค้นหาริ้นของ พ่อจะบอกว่า หยุดอย่าทำคงจะไม่สาย ถ้าพ่อกอดรูปแบบเก่าๆ ทิ้งไป มาเริ่มต้นใหม่ด้วยการสร้างรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะด้วยวิธีง่ายๆ
 
10 วิธี สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในบ้าน 
           1. พ่อคุยเรื่องตลกของพ่อในวันเก่าก่อน พร้อมทำท่าตลกประกอบ หรือความเชยของตน หรือของแม่ให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกได้ปรับเปลี่ยนอารมณ์มาเป็นผู้เหนือกว่าบ้าง (เพราะที่ผ่านมาพ่อเป็นผู้ถูกเสมอ)
           2. เล่นหยอกล้อ เล่นเกมส์ด้วยกันหรือเป็นม้าให้ลูกขี่ก่อนที่ลูกจะโตและจากเราไป ไม่มีโอกาสได้เล่น กว่าพ่อจะนึกได้ก็สายเกินไป
           3. ดูการ์ตูน ได้หัวเราะพร้อมๆ กับลูก ได้คุยเรื่องการ์ตูน ได้ตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นการสร้างจินตนาการแก่ลูกหรือเล่นนิทานให้ลูกฟัง
           4. ทำกิจกรรมด้วยกัน เช่น รดน้ำต้นไม้ ซ่อมจักรยาน เล่นกีฬาด้วยกัน ถ้าลูกโตพ่ออาจจะต้องใช้คำพูดที่ใช้ความสำคัญแก่ลูก เช่น "ช่วยพ่อคิดหน่อยซิว่า เราจะซ่อมรั้วดีไหมลูก" , "จะทำอย่างนี้ ... ดีไหม ... ลูกคิดอย่างไร"
           5. ร้องเพลงด้วยกัน พยายามร้องเพลง เพื่อให้เกิดการวิจารณ์ หรือถกเถียงกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง
           6. ช่วยกันซักผ้าสักวัน หรือซักด้วยเครื่อง แต่ช่วยกันล้างด้วยมือ ทำให้มีโอกาสได้ปิดผ้าซึ่งช่วยฝึกกล้ามเนื้อและเพิ่มความใกล้ชิดสนิทสนม
           7. เปลี่ยนเวรทำงานในบ้านกันบ้าง แม่อาจเปลี่ยนจากงานจำเจในครัวที่เคยทำมาทำงานพ่อ เช่น ล้างรถ ตัดแต่งต้นไม้ พ่อเปลี่ยนไปจ่ายกับข้าวที่ตลาด ทำอาหาร ล้างจาน ให้ลูกทำบัญชีค่าใช้จ่าย ควบคุมการเงินในบ้านเรียกว่า แลก
           8. เปลี่ยนสลับที่นั่ง เพื่อได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิดให้เข้าใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
           9. ชวนกันไปจ่ายตลาด สอนให้ลูกรู้จักเลือกผักสด ผลไม้ ปลา หมู ไก่ ให้ลูกเลือกซื้ออาหาร (ที่ไมใช่ขนมหวานหรือชวนลูกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ ไปตกปลา หรือไปวัดนอกเมือง) 
         10. วันหยุด พ่ออาสารับเหมาทำงานบ้าน ดูแลลูกๆ เพื่อให้แม่ไปทำผม นวดหน้า เยี่ยมเพื่อน ตัดเสื้อผ้า แม่จะยิ้มหน้าบานไปตลอดเดือนแน่ๆ


ต้องไม่ลืมคำว่า "ขอโทษ" "ไม่เป็นไรจ้ะ" "ใจเย็นๆ ลูก พ่อเอาใจช่วย" "แม่ใส่ชุดสีแบบนี้ ดูสดใสขึ้น" รวมทั้งไม่ห่วงศักดิ์ศรีว่าพ่อจะเสียหน้า และที่สำคัญก็คือ แม่ลูกจะเป็นสุข เมื่อพ่อได้ให้โอกาสเขาแสดงความคิดเห็นแสดงเหตุผลส่วนตัวบ้าง 

รอยยิ้ม คือความสุขที่ส่งผลต่อทุกๆ ชีวิต ทั้งในวันนี้และวันหนึ่งที่ยาวนานตลอดกาล เมื่อรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเลือนหายไป นั่นคือสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบแก้ไขก่อนที่รอยยิ้มจะหายไปอย่างถาวร และเรียกคืนไม่ได้อีกแล้วในหนึ่งปีมี 1,400 นาที พ่อลองยิ้มให้คนในบ้านเพียงวันละ 10 นาที พ่อคิดว่าน่าจะเกิดอะไรขึ้น