เนื้อหาวันที่ : 2008-10-16 13:40:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1166 views

นายกฯ ย้ำไทยต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน-สมดุลศก.รับมือวิกฤติการเงินโลก

นายกป้ายแดง เร่งสางปัญหาผลกระทบจากภาวะวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ที่ทำเอาเศรษฐกิจเดี้ยงไปไม่เป็นท่า เสียโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจไปมาก การลงทุนหยุดชะงัก การท่องเที่ยวก็ชะงักงันไป การสร้างสมดุลให้มีภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่

.

นายกป้ายแดง ยอมรับปัญหาภาวะวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจและสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจของไทย

 .

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยอมรับว่าจากปัญหาภาวะวิกฤติการเงินสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยนั้นทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านเศรษฐกิจและสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจของไทย เพราะไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบที่เลวร้ายกว่าที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 40     

 .

"เรื่องเศรษฐกิจ เราเสียโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจไปมาก การลงทุนหยุดชะงัก การท่องเที่ยวก็ชะงักงันไป การสร้างสมดุลให้มีภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าไม่มีการเตรียมการ อาจจะเกิดผลกระทบร้ายแรงกว่าเศรษฐกิจเมื่อปี 40 ด้วยซ้ำไป" นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลและแนวทางการจัดทำการบริหารราชการแผ่นดิน 

 .

นายสมชาย เห็นว่า จำเป็นต้องดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะจะได้ช่วยสนับสนุนการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจ และเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจไว้แล้ว 4 ชุด รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการเพิ่มอีก 1 ชุด คือ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งจะมีการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการกินดีอยู่ดี โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินการ  

 .

ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติอนุมัติตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลงานด้านเศรษฐกิจทั้งหมด 4 ชุด โดยมอบหมายให้นายโอฬาร ไชยประวัติเป็นประธาน ประกอบด้วย คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ, คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้, คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน และคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล  

 .

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ปัญหาการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข โดยหนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลมองว่าจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหานี้ได้คือ การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.3) ซึ่งเป็นความร่วมมือจากทุกพรรคการเมือง และมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็จะเป็นทางออกให้แก่ประเทศได้