นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เผยว่า การประชุม กพช. มีมติอนุมัติแผนปฏิบัติการด้านพลังงานของประเทศเป็นแผนปฏิบัติการที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เปิดเผยว่า การประชุม กพช. วันที่ 4 กันยายน 2549 มีมติอนุมัติแผนปฏิบัติการด้านพลังงานของประเทศซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการที่สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาด้านพลังงานในส่วนที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนน้ำมัน ประกอบด้วย การส่งเสริมการใช้ NGV น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และไบโอดีเซล โดยแผนดังกล่าวจะมีการระบุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานตามแผนและรับผิดชอบตามหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดตั้ง คณะอนุกรรมการขึ้นมาเป็นหน่วยงานคอยติดตาม วิเคราะห์ และปรับแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างทันท่วงที |
. |
สำหรับแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กพช. มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อผลักดันพลังงานไฟฟ้าให้ได้ตามเป้าหมายจากร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 6 ในปี 2554 ประกอบด้วย การเห็นชอบให้มีการขยายระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (VSPP) จากเดิมรายละไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ เป็นไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการที่มีศักยภาพเข้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมทั้งการขยายจำนวนผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากให้ครอบคลุมถึงผู้ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน (Cogeneration หรือ Combined Heat and Power : CHP) |
. |
นอกจากนี้ กพช. ยังได้เห็นชอบให้ใช้มาตรการจูงใจทางด้านราคา เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ผ่านระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) โดยกำหนดส่วนเพิ่มในอัตรารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากราคารับซื้อไฟฟ้าให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าตามประเภทเชื้อเพลิงและเทคโนโลยี ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะเป็นผู้รับไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดด้านราคาและนำเสนอขอความเห็นชอบต่อไป |
.. |
ส่วนแนวทางการเปิดประมูลผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ในปี 2550 กพช. เห็นชอบให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขจากเดิมที่ผู้เข้าประมูลต้องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยนั้น เป็นการให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหม่ใช้วิธีประมูลโดยแยกโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนออกจากเงื่อนไขประมูล และให้ใช้วิธีจ่ายเงินผ่านกองทุนตามที่รัฐกำหนดเพื่อใช้ในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแทน ซึ่งจะทำให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สะดวก และรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ กพช. มีมติมอบหมายให้ สนพ. รับไปศึกษาความเหมาะสมในการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ด้วยระบบการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) อีกครั้ง ทั้งในเรื่องราคา ประสิทธิภาพ และด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า |