เนื้อหาวันที่ : 2006-09-11 09:28:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1700 views

โลจิสติกส์ไทยเตรียมตั้งรับ ข้อตกลงการค้าเสรี อาเซียน - จีน

ฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สนับสนุนทุนวิจัยเตรียมความพร้อมโลจิสติกส์ของไทย รองรับสถานการณ์เขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน ปี 2010 เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเส้นทางเชื่อมต่อออกทะเล ระบบการขนส่งต่อเนื่อง รองรับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในอนาคต

เร่งทำวิจัยโลจิสติกส์รองรับสถานการณ์ FTA อาเซียน-จีน ปี 2010 เพื่อประโยชน์หลายด้าน เช่น พยากรณ์ประมาณการซื้อขายสินค้าชายแดน สินค้าผ่านแดนระหว่างไทย-จีน และรวบรวมหาแนวทางพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเส้นทางเชื่อมต่อออกทะเล ระบบการขนส่งต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอแนวปฏิบัติการจัดการข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ กฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมนี้รองรับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในอนาคต

.

 .

โลจิสติกส์ (Logistics) เป็นการจัดลำเลียงสินค้าเพื่อให้เกิดค่าใช้จ่ายโดยรวมในการกระจายสินค้าต่ำที่สุด โลจิสติกส์เกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบและไปสิ้นสุด ณ จุดที่มีการบริโภคสินค้านั้น หรือในอีกความหมายหนึ่งโลจิสติกส์เป็นกระบวนการในการจัดการวางแผน จัดสายงานและควบคุมกิจกรรมทั้งในส่วนที่มีการเคลื่อนย้ายและไม่มีการเคลื่อนย้ายในการอำนวยความสะดวกของกระบวนการไหลของสินค้า ตั้งแต่จุดเริ่มจัดหาวัตถุดิบไปถึงจุดที่มีการบริโภค ซึ่งเห็นได้ว่าโลจิสติกส์มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก

.

ฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยด้านนี้เพื่อเตรียมความพร้อมระบบโลจิสติกส์ของไทย ตอบรับสถานการณ์ FTA อาเซียนจีนในปี2010  โดยที่ผ่านมาทีมวิจัยได้เดินทางศึกษาดูงาน ณ มณฑลคุณ หมิง ประเทศจีน และพบว่าในประเทศจีนได้เตรียมความพร้อมตอบรับสถานการณ์นี้โดยได้ศึกษาเส้นทางและต้นทุนการขนส่งจากเมืองต่าง ๆ ของจีนสู่แหลมฉบังประเทศไทยและศึกษาทุก ๆ เส้นทาง โดยพิจารณาต้นทุนขนส่ง ระยะเวลาขนส่ง พร้อมทั้งประเมินต้นทุนและระยะเวลาหากเส้นทางทางด่วนคุนหมิง กรุงเทพ (จีน ลาว ไทย)เสร็จในปี 2007 แนวทางเตรียมความพร้อมและตระหนักเห็นปัญหาโลจิสติกส์เพื่อตอบรับสถานการณ์ จึงได้เริ่มขึ้นด้วยการระดมสมองจากฝ่ายต่าง ๆ ทั้งนักวิชาการ ภาครัฐและภาคเอกชน

.

หนึ่งในโครงการเตรียมความพร้อมนี้ได้แก่ โครงการการศึกษาระบบโลจิสติกส์ของการค้าไทย-จีน เพื่อรองรับข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน นำทีมวิจัยโดย รศ.ดร. รุธิร์ พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและทำการพยากรณ์ประมาณการซื้อขายสินค้าชายแดนและสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศไทยและจีนตอนใต้ เพื่อที่จะรวบรวมประเมินและนำเสนอแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของวิธีเส้นทางเชื่อมต่อออกทะเล และระบบการขนส่งต่อเนื่อง นำเสนอแนวปฏิบัติของการจัดการข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ กฎระเบียบและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

.

รศ.ดร.รุธิร์ กล่าวว่า จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนประเทศไทยในภาคเหนือตอนบนจากด่านศุลกากร อำเภอเชียงแสน เชียงของและแม่สายนั้นพบว่าการส่งสินค้าไปยังประเทศจีนส่วนใหญ่ส่งออกผ่านทางด่านอำเภอเชียงแสน โดยใช้เส้นทางทางน้ำมากที่สุด มีสินค้าส่งออกไปยังจีนที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดได้แก่ ลำไย รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยความต้องการลำไยอบแห้งมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นด้วยอัตราส่วนที่ลดลงอาจจะไม่เพิ่มสูงขึ้นไปมากกว่านี้โดยในปี 2549คาดว่ามูลค่าการส่งออกลำไยอบแห้งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,400ล้านบาท และในส่วนของเส้นทางการส่งออกไปจีนที่สำคัญยังคงเป็นเส้นทางที่ผ่านด่านอำเภอเชียงแสน เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ใช้สำหรับการส่งออกมานานและเป็นเส้นทางที่มีความพร้อมเหมาะสม

.

หากจะสรุปเส้นทางที่ผู้ประกอบการส่งออกลำไยไทยเลือกใช้ในการส่งออกสินค้าลำไยอบแห้งมายังประเทศจีน ร้อยละ 70 ส่งออกทางท่าเรือเชียงแสนและร้อยละ 30 ส่งออกทางท่าเรือคลองเตย โดยมีปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจที่สำคัญคือจุดหมายปลายทางที่เป็นแหล่งตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์ยางพาราคาดว่าประมาณ 3-5 ปีต่อไปนี้จะมีการสร้างโรงงานยางพาราในภาคเหนือเนื่องจากประเมินสถานการณ์ในอนาคตว่าราคายางพาราจะสูงขึ้น และเป็นสินค้าที่ส่งออกได้ตลอดทั้งปี ต่างจากลำไยที่ต้องส่งออกตามฤดูกาล อีกทั้งปัญหาเรื่องคุณภาพ การจัดเก็บและกฎระเบียบน้อยกว่าลำไยเพราะไม่ใช่สินค้าบริโภค

.

โดยสามารถขนส่งเข้าประเทศจีน 2 เส้นทางได้แก่ ทางน้ำโดยผ่านท่าเรือ เมืองมอม ท่าเรือเชียงกก ซึ่งเป็นทางเรือของลาว และท่าเรือจีน 4 ท่าคือสบหลวย กวนเหลย เชียงรุ้ง และซือเหมา เมื่อเรือแล่นผ่านท่าเรือเมืองมอมมายังท่าเรือสบหลวยจะมีการถ่ายสินค้าลงเรือและเปลี่ยนเป็นขึ้นรถบรรทุกแทน ซึ่งเป็นรถบรรทุกของประเทศจีน สามารถขนส่งได้มากกว่าไทยถึง 10 ตัน ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการนำเข้าเพราะถ้านำเข้าทางเรือจะเสียภาษีมากกว่า และประเทศไทยมีชายแดนติดประเทศจีนคือพม่าจะเสียภาษีที่ถูกกว่าไทยมาก

.

นอกจากนี้งานวิจัยดังกล่าวยังได้มีการสำรวจและรวบรวมโครงสร้างข้อมูลพื้นฐานและโครงข่ายการขนส่งสินค้าในปัจจุบันของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดนและสินค้าผ่านแดน โดยได้ศึกษาศักยภาพของโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายการขนส่งสินค้าในปัจจุบันของประเทศ รวมทั้งค่าใช้จ่าย ระยะทาง และระยะเวลาของแต่ละเส้นทางที่มีการขนส่ง โดยศึกษาจากเอกสาร ข้อมูลทางอินเตอร์เนต และจากการสำรวจ อาทิ 

.

ปัญหาของเส้นทางการขนส่งทางน้ำส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาเรื่องแม่น้ำโขงตื้นเขินในบางฤดูและปัญหานโยบายการปล่อยน้ำจากประเทศจีน รวมทั้งเส้นทางการขนส่งทางบกปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างสะพาน การสร้างและพัฒนาถนน รวมถึงการบริการจัดเก็บสินค้า ซึ่งปัจจุบันมีเพียงนโยบายการก่อสร้างแต่ยังไม่มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางเชื่อมทางบกระหว่างไทย-ลาว ที่อำเภอเชียงของ และปัญหาเรื่องการเก็บข้อมูลสำหรับนักวิจัยคือ แต่ละด่านยังไม่มีการเก็บข้อมูลการนำเข้าส่งออกอย่างละเอียดเพียงพอ ซึ่งเหล่านี้ยังต้องอาศัยการทำงานอย่างหนักของทีมวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อระบบลอจิสติกส์ของไทยต่อไป