งานประเพณีแห่เทียนอุบลราชธานี จัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเทศกาลเทียนพรรษา บ่งบอกถึงความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาของชาวอุบลฯ เป็นเมืองต้นรากการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของภาคอีสาน
. |
ในอดีตชาวเมืองอุบลไม่มีการหล่อเทียน แห่เทียนเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านมักจะฟั่นทำเทียนแบบโบราณ ความยาวรอบศีรษะแล้วน้ำไปถวายพระสงฆ์เพื่อจุดบูชาช่วงเวลาจำพรรษา บ้างก็หาน้ำมันไปถวายพระสงฆ์ และหาเครื่องไทยทาน ตลอดจนผ้าอาบน้ำฝนไปถวายพระสงฆ์ |
. |
ครั้นในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการที่เมือง อุบล ชาวบ้านได้ร่วมใจกันนำเทียนมาบริจาคแล้วจึงได้นำเทียนเหล่านั้นมาติดกับลำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้และตามรอยต่อก็นำกระดาษสีเงินและสีทองที่ตัดเป็นรอยฟันปลาติดปิดรอยต่อ เสร็จแล้วนำต้นเทียนไปมัดติดกับปี๊บน้ำมันก๊าดเป็นฐาน เสร็จแล้วมีการแห่นำไปถวายวัด ซึ่งพาหนะที่ใช้ นิยมใช้เกวียนหรือล้อเลื่อนที่ใช้วัวหรือคนลากจูง ถ้าเป็นวัวก็มักจะมีการตกแต่งรอบเขา คอ ข้อเท้า ด้วยกระดาษสี เกราะ หรือกระพรวน ส่วนการแห่แหนของชาวบ้าน ก็จะมีฆ้อง กลอง กรับ และการฟ้อนรำด้วยความสนุกสนาน |
. |
ต่อๆ มาการทำต้นเทียนได้พัฒนาขึ้นถึงขั้นใช้การหล่อดอกจากผ้าพิมพ์ที่เป็นลายง่ายๆ เช่น ประจำยาม กระจังตาอ้อย บัวคว่ำ บัวหงาย ก้ามปู กรุยเชิง หน้าขบ ฯลฯ แล้วนำไปติดที่ลำต้นเทียน |
. |
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ประชาชนเริ่มให้ความสนใจและเห็นความสำคัญในการทำและแห่เทียนพรรษามากขึ้น เมื่อจังหวัดได้ส่งเสริมให้งานเข้าพรรษาเป็นงานประเพณีประจำปี ต่อมางานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดจึงมีการจัดประกวดต้นเทียนเพิ่มเป็น ๓ ประเภท คือ |
. |
(๑) ประเภทติดพิมพ์ |
(๒) ประเภทแกะสลัก |
(๓) ประเภทมัดรวมติดลาย |
. |
. |
งาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา ได้รับการส่งเสริมจากทางจังหวัดมากขึ้นตามลำดับ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เป็นงานประเพณีระดับชาติ โดยประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาชมตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน |
. |
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรจัดกิจกรรมพิเศษขึ้นเพิ่มเติมในช่วงงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการขยายวันพักค้างคืนของนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นประเพณีที่สำคัญทางศาสนามีเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักกันเพิ่มมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ การแกะสลักเทียนยังเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งเยาวชน ประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่ชาวต่างประเทศสามารถมีส่วนร่วมกิจกรรมได้ |
. |
ดังนั้น ททท. ได้กำหนดจัดโครงการแสดงประติมากรรมเทียนนานาชาติขึ้น ในช่วงงานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดงานศิลปะแกะสลักเทียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยกำหนดจัดงานขึ้นตลอดทั้งเดือนกรกฎาคมของทุกปี เพื่อสร้างการรับรู้กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวและสร้างแรงจูงใจสำหรับนักท่องเที่ยวในการเดินทางเที่ยวชมประเพณีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการสร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวในช่วงหน้าฝน ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในระดับนานาชาติ |
. |
งานประเพณีแห่เทียนอุบลราชธานี ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเทศกาลเทียนพรรษานั้น นอกจากจะเป็นงานที่บ่งบอกถึงความศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาของชาวอุบลฯ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองต้นรากในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของภาคอีสานแล้ว ยังเป็นงานที่แสดงออกถึงความรุ่งเรืองในด้านศิลปกรรมของสกุลช่างศิลป์เมืองอุบลฯ ที่มีการสั่งสมและสืบสานอย่างไม่ขาดสายอีกด้วย ช่างศิลป์เมืองอุบลฯ ที่มีมากมายหลายแขนง จะใช้โอกาสในงานบุญขึ้นยิ่งใหญ่นี้ ทดสอบ ทดลอง และประลองฝีมือเชิงช่างผ่านต้นเทียนพรรษาอันวิจิตรงดงาม |
. |
งานประเพณีแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ประจำปี ๒๕๕๐ จะเป็นโอกาสอันดีของผู้ไปเยือนที่จะได้อิ่มบุญ ในเมืองศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งภาคอีสาน และอิ่มเอิบกับงานศิลปกรรมสกุลช่างเมืองอุบลฯ หลากหลายรูปแบบตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม |
. |
ช่างกำลังเทเทียนที่ต้มแล้ว วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) |
. |
ช่างแกะสลักเทียนวัดทุ่งศรีเมือง |
. |
ต้นเทียนวัดหนองปลาปาก |
. |
วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) |
. |
ช่างแกะสลักเทียน วัดบูรพา |
. |
. |
. |
. |
แหล่งข้อมูล : ภาพประกอบและเนื้อหา |
http://thai.tourismthailand.org http://www.thailandwaxcarving.com |