ปัสสาวะบ่อยครั้ง โดยเฉพาะตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะนั้นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายของคุณมีปัญหาบางประการ
บำรุงรักษาไต ก่อนจะอ่อนแอ
โดยปกติคนเราจะปัสสาวะตอนกลางวันประมาณ 3-5 ครั้งตอนเย็นถึงก่อนนอนอีกประมาณ 1-2 ครั้ง และสำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรงจะนอนได้นาน 8 ชั่วโมงโดยไม่ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะ ทั้งนี้เนื่องจากตามปกติกระเพาะปัสสาวะของเราจะเก็บน้ำปัสสาวะไว้ได้ประมาณ 150 ซีซี จึงจะรู้สึกปวดปัสสาวะ
แต่ในขณะหลับก็จะเก็บน้ำปัสสาวะได้มากขึ้นพร้อมทั้งไตก็จะกลั่นปัสสาวะได้น้อยลงด้วยหากท่านใดมีการปัสสาวะบ่อยครั้งกว่านี้ โดยเฉพาะตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะนั้นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายของคุณมีปัญหาบางประการ
สาเหตุปัสสาวะบ่อยในทัศนะการแพทย์จีน
การแพทย์ตะวันตกและการแพทย์จีนมีทัศนะที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับมูลเหตุและพยาธิสภาพของอาการปัสสาวะบ่อยครั้ง สำหรับการแพทย์จีน สาเหตุปัสสาวะบ่อยครั้งโดยเฉพาะตอนกลางคืนต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะเกิดจาก ภาวะไตอ่อนแอ
หลายๆ ท่านอาจเพิ่งเคยได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรก แต่จริงๆ แล้วคำว่า ภาวะไตอ่อนแอ ได้มีการบันทึกในตำราการแพทย์จีนมาแล้วนับพันปีภาวะไตอ่อนแอไม่ใช่โรคไตในความหมายของการแพทย์ตะวันตก หากหมายถึงสภาพไตกำลังเสื่อมลง ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ทำให้ความสามารถในการขับน้ำและของเสียออกจากร่างกายของไตด้อยลง
และเกิดผลกระทบต่อดุลยภาพของอิเล็กโทรไลต์และความเป็นกรดด่างในร่างกายรวมทั้งเกิดภาวะพร่องฮอร์โมนสำคัญหลายชนิดที่สร้างขึ้นจากไตและต่อมหมวกไต การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จะนำไปสู่อาการผิดปกติของอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย รวมทั้งอาการปัสสาวะบ่อยด้วย หากไม่มีการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะแก่ก่อนวัยและพัฒนาเป็นโรคร้ายต่างๆ หรืออาจเป็นโรคไตอักเสบหรือโรคไตวายได้ในที่สุด
สาเหตุใดทำให้ไตเสื่อมเร็วกว่าปกติ
ไตจะเสื่อมลงตามวัยตั้งแต่อายุ 30 ปี ซึ่งเป็นความเสื่อมของร่างกายและไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่มีปัจจัยหลายอย่างทำให้ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็วและก่อนวัยอันควร อาทิ:
1. กรรมพันธุ์
2. การมีเพศสัมพันธ์มากเกินควร
3. ประสบอุบัติเหตุ
4. ทำงานหนัก
5. พักผ่อนไม่เพียงพอ
6. ผลกระทบจากโรคเรื้อรังต่างๆ
7. ปัจจัยเสี่ยงในชีวิตประจำวัน ผลข้างเคียงจาการใช้ยาเคมีเช่น ยาแก้ปวด ยารักษาสิว ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ ยาลดความดัน ยาลดความอ้วน ยาฮอร์โมน เป็นต้น ความเครียด มลภาวะเป็นพิษ ยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในผักผลไม้ สารฮอร์โมนที่สะสมในเนื้อสัตว์อาหารทะเลที่แช่ฟอร์มาลิน สารโซเดียมที่ผสมอยู่ตามอาหาร ขนมขบเคี้ยวและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เช่น ผงชูรส ผงฟู เป็นต้น อาหารรสจัด รสเค็ม อาหารและเครื่องดื่มที่ผสมสี ฯลฯ
ปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของไต ไตจึงเสื่อมลงอย่างรวดเร็วและก่อนวัยอันควร
ปัสสาวะบ่อยครั้งกับไตอ่อนแอเกี่ยวข้องกันอย่างไร
หนึ่งในหน้าที่ของไตคือควบคุมความสมดุลของน้ำในร่างกายโดยอาศัยพลังไฟมิ่งเหมิน จากไตในการระเหยน้ำให้กลายเป็นไอแล้วส่งไปยังปอด ปอดก็จะส่งกระจายต่อไปทั่วร่างกายส่วนน้ำส่วนเกินก็จะถูกขับไปยังกระเพาะปัสสาวะ ไตจะทำหน้าที่ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะเหมือนประตูกั้นน้ำ เมื่อประตูเปิดน้ำปัสสาวะก็จะไหลออกมา พอประตูปิด กระเพาะปัสสาวะก็จะเก็บน้ำปัสสาวะเอาไว้
เมื่อไตอ่อนแอลง น้ำก็ไหลล้นไปอยู่ในช่องท้องและใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ในขณะเดียวกันระบบควบคุมการเปิดปิดกระเพาะปัสสาวะของไตก็ผิดปกติไปด้วยจึงเกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะรดที่นอน ปัสสาวะบ่อยครั้งหรือปัสสาวะกะปริดกะปรอยพร้อมทั้งมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรังนอนไม่หลับ สะดุ้งตื่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ขี้หนาว สมาธิไม่ดีหรือกระวนกระวายร่วมด้วย
ปัสสาวะบ่อยเกิดจากการดื่มน้ำมาก...จริงหรือไม่
ส่วนความคิดที่ปัสสาวะบ่อยน่าจะมาจากการดื่มน้ำมากนั้นจริงๆ แล้วการดื่มน้ำมากทำให้ไตขับน้ำปัสสาวะออกมามากจนต้องปัสสาวะบ่อยนั้นอาจเกิดขึ้นชั่วคราว แต่จะต้องไม่มีอาการอ่อนเพลียนอนไม่หลับ สะดุ้งตื่น ปวดเมื่อยตามร่างกาย ขี้หนาวหรือภูมิแพ้ร่วมด้วยแต่อย่างใด
หากท่านใดมีอาการปัสสาวะบ่อยเป็นประจำร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้สันนิษฐานได้เลยว่าไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำมากเกินไปหรือภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน แต่มีสาเหตุจากภาวะไตอ่อนแอต่างหาก
ภาวะไตอ่อนแอจะแสดงอาการอื่นๆ อย่างไรบ้าง
ภาวะไตอ่อนแอ นอกจากแสดงอาการปัสสาวะบ่อยครั้งแล้วยังสามารถแสดงอาการหลากหลายตามส่วนต่างๆ ของร่างกายและอาจแสดงอาการใดอาการหนึ่งหรือหลายๆ อาการพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสื่อมโทรมของไต อายุและระยะเวลาที่เรื้อรัง
1. ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ปวดหลังปวดเอว แขนขาอ่อนแรง เป็นตะคริวบ่อย หนาวปลายมือปลายเท้า ปวดข้อ กระดูกพรุน โรคเกาต์ ฯลฯ
2. ระบบภูมิต้านทาน โรคภูมิแพ้ จามหรือคัดจมูกเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง มีเสมหะ เป็นหวัดบ่อยหรือเป็นหวัดง่าย เป็นลมพิษ ฯลฯ
3. ระบบประสาท นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ ฝันบ่อย สะดุ้งตื่น ขี้หลงขี้ลืม ขาดสมาธิ วิงเวียนศีรษะ กระวนกระวาย ซึมเศร้า วิตกกังวล อ่อนเพลียเรื้อรัง ฯลฯ
4. ระบบทางเดินอาหาร เบื่ออาหาร ลำไส้แปรปรวน อุจจาระร่วงเป็นประจำ ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ฯลฯ
5. ระบบทางเดินหายใจ ระคายคอบ่อย ไอเรื้อรัง หอบหืด ฯลฯ
6. ระบบสืบพันธุ์ หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ความต้องการทางเพศลดลง หลั่งเร็ว มีบุตรยากหรือแท้งบุตร ช่องคลอดไม่กระชับ เข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควร ฯลฯ
7. สภาพร่างกายภายนอก ผิวหน้าหมองคล้ำ หยาบกร้าน ไม่มีเลือดฝาด มีฝ้าบนใบหน้า ใต้ตาหมองคล้ำ หน้าอกหย่อนยาน ผมร่วง ผมหงอกก่อนวัย น้ำหนักขึ้นหรือลงอย่างฮวบฮาบ ฯลฯ
8. หู-ตา หูอื้อ ตาพร่า น้ำในหูไม่เท่ากัน ฯลฯ
วิธีการบำบัดรักษาของการแพทย์จีน
สำหรับอาการปัสสาวะบ่อยและอาการอื่นๆ ที่เกิดจากภาวะไตอ่อนแอ การแพทย์จีนแนะนำควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันให้ถูกสุขลักษณะและควรรักษาแต่เนิ่นๆ เนื่องจากอาการของภาวะไตอ่อนแอมักจะเรื้อรังอย่างช้าๆ จนเราคุ้นเคยกับความผิดปกติของร่างกายถึงขนาดลืมไปแล้วว่าตอนปกติจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร
นอกจานี้ ผลการตรวจการทำงานของไตตามหลักการแพทย์ตะวันตกที่ต้องรอให้ไตเสียไปมากกว่า 70% ถึงจะแสดงค่า BUN และ Creatinine ที่สูงขึ้นนั้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าถ้าผลการตรวจยังปกติอยู่ก็แสดงว่าไตแข็งแรง ทั้งๆ ที่ไตอาจเสื่อมไปมากแล้วก็ตาม วิธีการรักษาของการแพทย์จีนจะเน้นวิธีการบำรุงรักษาไตเป็นหลักเพื่อบำบัดหลายๆ อาการของภาวะไตอ่อนแอไปพร้อมๆ กัน ทั้งๆ ที่แต่ละอาการดูเหมือนจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันในมุมมองของการแพทย์ตะวันตกก็ตาม
เมื่อไตแข็งแรงขึ้น อาการปัสสาวะบ่อยและอาการอื่นๆ ของภาวะไตอ่อนแอก็จะค่อยๆ ทุเลาลงหรืออาจหายไปในที่สุด
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน