เนื้อหาวันที่ : 2008-10-14 16:54:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5063 views

ฝังเข็ม รักษาโรค

ปัจจุบันการรักษาโรคภัยไข้เจ็บมีหลายทางเลือก การฝังเข็มก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งนับวันจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากขั้นตอนการรักษาจะไม่ยุ่งยากแล้ว ยังให้ผลการรักษาที่ดีในระดับหนึ่งด้วย

ปัจจุบันการรักษาโรคภัยไข้เจ็บมีหลายทางเลือก การฝังเข็มก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งนับวันจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากขั้นตอนการรักษาจะไม่ยุ่งยากแล้ว ยังให้ผลการรักษาที่ดีในระดับหนึ่งด้วย
 
การฝังเข็ม…เป็นศาสตร์การรักษาโรคที่มีมานานแล้ว โดยกำเนิดมาจากการแพทย์แผนโบราณของจีน และปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในวงการแพทย์กว่า 140 ประเทศทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศรับรองผลการรักษาโรคด้วยวิธีนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540 สถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐฯ (NIH) ก็ยอมรับว่า การฝังเข็มเป็น "ทางเลือกที่สมเหตุผล" ในการรักษาโรคได้หลายโรค
 
สำหรับโรคต่างๆ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศรับรองว่า สามารถรักษาด้วยการฝังเข็มได้ผลจริงมีจำนวนทั้งสิ้น 64 โรค ได้แก่ อัมพาตครึ่งซีก, อัมพาตใบหน้า, เวียนศีรษะ, ปวดไมเกรน, ปวดไหล่, ปวดหลัง, ปวดเอว, ปวดศอก, ปวดประสาทใบหน้า, โพรงไซนัสจมูกอักเสบ, เยื่อบุจมูกอักเสบ, หอบหืด, การติดบุหรี่ สุรา ฯลฯ นอกจากนี้ การฝังเข็มยังช่วยรักษาโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย อาทิ โรคภูมิแพ้, อัมพาตครึ่งท่อน, เหน็บชาปลายมือปลายเท้า, หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม, ประสาทตาเสื่อม, ผมร่วง เป็นต้น
 
"การฝังเข็มมีความปลอดภัยเพียงใด?" แพทย์มักจะถูกตั้งคำถามเช่นนี้ จนแทบจะเรียกได้ว่าคำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตเลยทีเดียว ความสงสัยหรือไม่แน่ใจในเรื่องของความปลอดภัยเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยไม่กล้าที่จะฝังเข็ม โดยเฉพาะความรู้สึกหวั่นเกรงโรคติดเชื้อบางโรค ความจริงแล้วการฝังเข็มที่ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแทบจะไม่มีอันตรายอะไรเลย
 
เข็มที่ใช้ในการรักษาก็เป็นเข็มใหม่ที่ผ่านการฆ่าเชื้อก่อนทุกครั้ง เป็นเข็มแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่มีการใช้เข็มของผู้ป่วยปะปนกันอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ส่วนใครที่กังวลว่าการฝังเข็มจะมีผลข้างเคียงใดๆ ต่อโรคที่เป็นอยู่ก็เลิกกังวลใจได้ เพราะนอกจากจะไม่มีผลข้างเคียงแล้ว ยังสามารถใช้การฝังเข็มรักษาควบคู่ไปกับการใช้ยารักษาโรคทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ นอกจากนั้น ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารได้ทุกชนิดตามปกติโดยไม่จำเป็นต้องงดของแสลงใดๆ เลย
 
สำหรับผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาโดยการฝังเข็มควรเตรียมตัวให้พร้อมด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมสามารถพับแขนเสื้อหรือขากางเกงได้ง่าย เพื่อสะดวกในการปักเข็ม ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารแต่อย่างใด ซึ่งแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารมาพออิ่มก่อนรักษาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างหรืออิ่มเกินไป
 
เมื่อผู้ป่วยเตรียมตัวพร้อมแล้ว แพทย์จะใช้เข็มที่มีขนาดเล็กปักลงบนตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย แล้วกระตุ้นโดยใช้นิ้วมือหมุนปั่น หรือใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นระบบประสาท ฮอร์โมน และภูมิคุ้มกันภายในร่างกายทำให้อวัยวะต่างๆ สามารถทำงานได้สมดุลตามปกติเพื่อช่วยรักษาโรคต่างๆ โดยทั่วไปแพทย์จะปักเข็มคาไว้ประมาณ 20-30 นาที แล้วจึงถอนเข็มออกโดยที่ผู้ป่วยแทบจะไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย ซึ่งภายหลังการรักษาผู้ป่วยสามารถอาบน้ำ รับประทานอาหารหรือเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
 
สิ่งที่อยากกล่าวถึงเพิ่มเติมในที่นี้ก็คือ การนำวิธีการฝังเข็มมาใช้รักษาโรคอัมพาตและอัมพฤกษ์ ซึ่งเป็นโรคที่พบกันมากโดยเฉพาะกับผู้ป่วยสูงอายุ, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง มีผลการศึกษาจำนวนมากยืนยันได้ว่า นอกจากการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของแขนขาที่พิการในผู้ป่วยอัมพาตอัมพฤกษ์แล้ว การใช้วิธีการฝังเข็มสามารถช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยได้ดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา
 
จุดเด่นของการฝังเข็มรักษาโรคอัมพาตอัมพฤกษ์ที่ต่างจากการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน คือ การฝังเข็มจะช่วยกระตุ้นให้ระบบประสาทและสมองมีการฟื้นตัวขึ้นมาได้โดยตรงและสามารถรักษาความพิการบางอย่างที่การแพทย์แผนปัจจุบันยังรักษาไม่ได้ผลเท่าการฝังเข็ม อาทิเช่น การพูดไม่เข้าใจภาษา, ลิ้นแข็ง, กลืนอาหารสำลัก, อาการสั่นกระตุก เป็นต้น
 
สำหรับวิธีการฝังเข็มนั้นแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กปักตามจุดต่างๆ บนแขน ขาและหนังศีรษะ เพื่อกระตุ้นให้เซลล์สมองฟื้นตัวทำให้การไหลเวียนเลือดในสมองดีขึ้น กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัวจะได้ไม่ลีบฝ่อและช่วยฟื้นฟูกำลังให้กับแขนขาได้เป็นอย่างดี

โดยทั่วไปผู้ป่วยอัมพาตอัมพฤกษ์ควรมารับการรักษาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งติดต่อกันประมาณ 10 ครั้ง แล้วหยุดพักการรักษา 1 สัปดาห์ เพื่อให้ระบบประสาทมีการปรับตัว แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรทำการรักษาเพิ่มต่ออีกประมาณ 10-20 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายว่าป่วยมานานและรุนแรงเพียงใด
 
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ผลการรักษาอัมพาตอัมพฤกษ์ได้ผลดี ผู้ป่วยควรมารับการฝังเข็มให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเซลล์สมอง เส้นประสาท และกล้ามเนื้อยังไม่เสียหายจนเกินไป ถ้าสามารถรักษาภายใน 1 เดือนแรกหลังเกิดอัมพาตจะได้ผลดีมาก ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเองถึง 90% ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมานานก็สามารถรักษาได้เช่นกันเพียงแต่อาจจะไม่ได้ผลเท่าแต่ก็ช่วยบรรเทาความพิการที่หลงเหลืออยู่ให้น้อยลงได้
 
ปัจจุบัน มีสถานบริการหลายแห่งที่ให้บริการเกี่ยวกับการฝังเข็ม ซึ่งผู้ป่วยควรเลือกโดยใช้วิจารณญาณ โดยเฉพาะหากไม่อยากเสี่ยงในเรื่องของความสะอาดและปลอดภัยแล้ว ควรเลือกรักษาในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง ซึ่งมั่นใจได้ว่า มีความรู้ความชำนาญอย่างแท้จริงเพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปตามต้องการ
 
ที่มา :
http://www.yanhee.co.th