เข้าแนวทางลดโลกร้อนกับเขาบ้างซักหน่อยแม้ว่าจะดูช้าไปซักนิดก็คงไม่ว่ากันกับการ ประหยัดไฟฟ้า ใช้ถุงผ้า
เข้าแนวทางลดโลกร้อนกับเขาบ้างซักหน่อยแม้ว่าจะดูช้าไปซักนิดก็คงไม่ว่ากันกับการ ประหยัดไฟฟ้า ใช้ถุงผ้าหรือว่าเวลากินกาแฟก็ใช้ถ้วยพลาสติกเดิมหรือ เอาแก้วโลหะเก็บความร้อนไปใส่ก็ลดโลกร้อน ผ่อนการใช้พลาสติกลงไปได้มากโขอยู่ ที่เอาเรื่องนี้มาพูดคุยเสนอแนะกระจายความคิด สะกิดต่อมนักอนุรักษ์กันก็เพราะว่า แนวทางการออกแบบสินค้าหลายชิ้นมีทิศทางการผลิตสินค้าตามกระแสโลกด้านนี้นั้นเอง ใครที่ยังไม่รู้ว่า Eco design คืออะไรเดี๋ยวจะบอกกล่าวคราวๆ ให้เข้าใจพอสังเขปกันสักนิด
ขอยกตัวอย่างเรื่องของ Eco design ซักสองสามตัวอย่าง Eco design แปลแบบเข้าใจง่ายคือ การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Economic & Ecological design) หรือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและนานาประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสนใจ โดยมีขบวนการที่ผนวกแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์และด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในขั้นตอนการออกแบบโดยพิจารณาตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน ออกแบบ การผลิต การนำไปใช้งานตลอดจนถึง การกำจัดหลังการใช้งาน ถ้ารวมทั้งขบวนการแล้วก็พอจะยกเป็นหัวข้อจำง่ายๆ คือ การลด(Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และ การซ่อมบำรุง (Repair)
โดยส่วนใหญ่แล้วรูปแบบของขบวนการดังกล่าวนี้จะมีผลมากเมื่อกระทำในสายการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสินค้าที่ต้องมีการนำกลับมารีไซเคิลใหม่และต้องไม่เกิดมลพิษหรือถ้ามีก็ให้อยู่ในขอบเขตที่ถูกต้องตามหลักของการกำจัดของเสียที่ไม่ก่อให้เกิดสารพิษรั่วไหลออกไปได้ แต่ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างใกล้ๆ กับผู้อ่านเผื่อว่า เราจะช่วยกันได้
ก็คือส่วนของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่ว่าเก้าอี้ โคมไฟ หรือแม้แต่วัสดุเครื่องใช้ในสำนักงาน ถ้าเอามาแปลงเอามาดัด แปลงให้ใช้งานตามที่เราต้องการโดยไม่ต้องไปซื้อไปหามาก็ถือเป็น Eco design อีกแบบหนึ่ง นั้นคือ การรีไซเคิลนำของที่หมดประโยชน์ไปแล้วมาใช้อีกรูปแบบหนึ่งของประโยชน์เดิมๆ ถ้าพูดอย่างนี้คงจะไม่เห็นภาพ ยกตัวอย่างเช่น เอากล่องใส่กระดาษ AA มาใช้ทำช่องคั้นหนังสือเป็นชุดก็น่าสนใจ ส่วนกระดาษห่อของขวัญที่ได้เมื่อคราวปีใหม่ก็สามารถเอามาพันกับลวดหรือโครงทำเป็นโคมไฟใส่หลอด LED หลากสีเท่านี้ก็ได้โคมไฟประดับที่น่ารักไปอีกแบบหนึ่ง เท่าที่ยกตัวอย่างมานี้ก็ทำให้ผู้อ่านพอเห็นภาพที่เรียกว่า Eco design ได้บ้าง
แต่ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้หลักการด้านนี้นั้นยิ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะเมื่อสินค้าได้ออกจำหน่ายหรือถึงมือผู้บริโภคแล้ว เมื่อถึงคราที่ไม่สามารถใช้งานได้หรือชำรุด ขบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการออกแบบนี้จะเป็นตัวช่วยอย่างมากในการเข้าสู่ขบวนการรีไซเคิลวัสดุต่างๆ ที่ประกอบขึ้นรูปมาเป็นผลิตภัณฑ์นั้นๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญนั้นก็คือ บริษัทผู้ผลิตบางเจ้าต้องรับผิดชอบต่อการนำกลับมารีไซเคิลอีกด้วย
ซึ่งสินค้าด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอีก 2-3 ปี ข้างหน้าก็ได้มีข้อกำหนดแนวนี้ออกมาบังคับใช้แล้วบ้างเพื่อให้เกิดการตระหนักถึงการนำกลับมาใช้ใหม่หรือการรีไซเคิล เพื่อให้ทั้งผู้ใช้และผู้ผลิตคำนึงถึงเหตุผลของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปด้วยทั้งขบวนการ ส่วนสินค้าแนวไหนที่เป็นรูปแบบ Eco design บ้างแล้วนั้นเอาไว้วันหน้าจะได้นำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นกันเยอะๆ ส่วนตอนนี้ก็เอาเป็นน้ำจิ้มกันไปพร่างๆ ก่อนก็แล้วกัน