ปัญหาหนักอก คิดไม่ตกของมนุษย์เงินเดือน ที่บางคนมีเงินเดือนมาก แต่ว่าพอใกล้สิ้นเดือนทีไร มักจะบอกว่าเงินเดือนไม่ค่อยพอใช้ ทางออกอยู่ตรงไหนที่นี้มีคำตอบ
. |
คำถาม.. มีคนรู้จักบางคนที่มีเงินเดือนมาก แต่ว่าพอใกล้สิ้นเดือนทีไร มักจะบอกว่าเงินเดือนไม่ค่อยพอใช้ ขอความเมตตาจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อแนะนำวิธีการใช้เงิน ที่เป็นประโยชน์และถูกต้อง |
. |
คำตอบ.. ปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ เงินเดือนมากก็ยังไม่พอใช้ ถ้าไม่รู้จักใช้ เท่าไรมันก็ไม่พอ อย่าว่าแต่ทำเงินเดือนใช้เลย ยกโรงกษาปณ์ มาให้เราพิมพ์แบงก์ ปั๊มแบงก์เอง พิมพ์เหรียญ ปั๊มเหรียญเอง ถ้าไม่รู้จักใช้ละก็ โรงกษาปณ์ก็ยังเจ๊งเลย |
. |
ปู่ย่าตาทวดเคยสอนเอาไว้ในเรื่องการของใช้เงิน เรื่องหาเงินไม่ต้องพูดกันละ เพราะว่ายังไงๆ ถ้ามันได้น้อยละก็ โอกาสจะไม่พอใช้ มันก็เป็นไปได้อยู่แล้ว ปู่ย่าตาทวดสอนไว้ว่า จะกินจะใช้อะไรนั้น ประการแรก ท่านว่าเอาไว้ จะกินจะใช้อะไร ท่านก็บอกว่าให้กินตอนหิว อย่าไปกินตอนอยาก เพราะว่าถ้าจะไปกินตอนอยากละก็ มันก็อยากอยู่เรื่อย ถ้าไปกินตอนหิวละก็ มันจำเป็น มันจะต้องกิน |
. |
พูดง่ายๆ หลักการตรงนี้ก็คือต้องแยกให้ออกนะลูกนะ need กับ want คือ ความอยากกับความจำเป็นนี่ต้องแยกให้ออก ความอยากไม่ใช่ความจำเป็น ความจำเป็นไม่ใช่ความอยาก แต่ว่าคนส่วนมากพออยากได้อะไรขึ้นมา อยากกินอะไรขึ้นมา เกิดความรู้สึกว่านี่คือจำเป็น ตรงนี้แหละที่ทำให้ได้เท่าไรก็ไม่พอใช้ ก็พิจารณาตัวเองให้ดี นี่ข้อแรก คนที่จะบริหารเงินได้ดีละก็ แยกให้ออกนะ need กับ want นี่เป็นประการแรกถ้าแยกตรงนี้ออกชนะไปตั้งครึ่งค่อนแล้ว |
. |
ประการที่ ๒. ในการบริหารเงิน ปู่ย่าตาทวด ก็พูดชัดดี โยมแม่ของหลวงพ่อเคยสอนหลวงพ่อเอาไว้ ท่านบอกว่าเงินทองได้มาอย่าไปบริหารด้วยรายรับรายจ่าย แต่ให้บริหารด้วยรายเหลือ คือ คนส่วนมากคิดว่าได้มากมันควรจะเหลือมาก ได้น้อย มันก็เหลือน้อย หรือไม่พอใช้ นี่มองเรื่องนี้ว่าเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ ต้องอย่างนี้ |
. |
โยมแม่ของหลวงพ่อท่านเคยอุปมาเอาไว้ ท่านบอกว่าเข่งใบใหญ่ๆ ชะลอมใบโตๆ เวลาจ้วงตักน้ำลงไป เมื่อเข่งหรือชะลอมยังอยู่ในน้ำ น้ำก็เต็มเข่งเต็มชะลอม แต่พอยกขึ้นมาแล้วมันเหลือแต่เข่งเหลือแต่ชะลอม ไม่ติดน้ำหรอก หรือติดมา ๒-๓ หยด แต่กะลาใบเล็กๆ ขันใบเล็กๆ จ้วงลงไป มันก็ไม่เท่าไรหรอก แต่ว่ายกมามันก็ยังเต็มขัน เต็มกะลา |
. |
เพราะฉะนั้น เวลาจะบริหารเงิน จะใช้เงิน โยมแม่ก็เลยบอกหลวงพ่อว่า (ตอนนั้นยังไม่ได้บวช) ได้เท่าไรไม่สำคัญ สำคัญว่าเหลือเท่าไรเพราะฉะนั้นก่อนจะใช้เงิน รีบถามตัวเองว่าเดือนนี้อยากจะให้เหลือเท่าไร ก็ตัดเอาตัวนั้นออกมาเสียเลย เก็บเสียเลย จะเก็บธนาคาร หรือจะเก็บในรูปไหนก็ตามที เก็บมันไว้ เหลือนอกนั้นอาจจะไปใช้อะไรก็ไม่ว่า อย่างนี้คือบริหารด้วยรายเหลือ ถ้าลูกมองออกว่า need กับ want มันต่างกันตรงไหน แล้วใช้เฉพาะ need ใช้เพราะว่ามันจำเป็น ไม่ใช่ว่าใช้เพราะอยากใช้ ไม่ใช่จ่ายเพราะอยากจ่าย |
. |
ส่วนการบริหารด้วยรายเหลือ ไม่ใช่บริหารด้วยรายรับ รายจ่าย เราต้องรู้ประมาณว่าควรจะเหลือเอาไว้ เผื่อเจ็บ เผื่อป่วย เผื่อไข้ บริหารให้ ลงตัวตรงนี้ แล้วก็ไม่ตามใจปากตามใจท้อง จนเกินไป เดี๋ยวเราก็บริหารได้ลงตัวเอง แต่ที่แน่ๆ ก็จำไว้ก็แล้วกัน |
. |
การเก็บหรือการเหลือเอาไว้ มีอยู่ ๒ อย่าง คือ เก็บส่วนหยาบกับเก็บส่วนละเอียด เก็บส่วนหยาบก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ คือเอาส่วนเหลือไปฝากไว้ในธนาคาร คราวป่วย คราวไข้ ก็จะได้มีใช้ แต่เก็บอีกอย่างคือ เก็บละเอียด เปลี่ยนทรัพย์นั้นให้เป็นบุญ รู้จักฝากธนาคารบุญ นำไปทำบุญทำทาน วัดวาอาราม สาธารณกุศลต่างๆ เปลี่ยนทรัพย์หยาบ ให้เป็นละเอียด ทรัพย์ละเอียดนี้จะติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติได้ โจรก็ปล้นไม่ได้ ใครก็โกงไม่ได้ ไฟก็ไม่ไหม้ น้ำก็ไม่ท่วม ดูวิธีเก็บทรัพย์ตรงนี้นะ บริหารทรัพย์ด้วยรายเหลือเก็บทรัพย์ทั้งหยาบทั้งละเอียดเอาไว้จากรายเหลือนั้น แล้วก็พิจารณาว่ามัน need หรือมัน want แล้วค่อยใช้เงิน ทำอย่างนี้ได้ ต่อไปอย่างไรก็รวย |
. |
http://www.kalyanamitra.org |