เนื้อหาวันที่ : 2008-10-01 19:55:06 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2784 views

ม.ศรีปทุม เตรียมก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านไอทีของไทย

มหาวิทยาลัยศรีปทุม หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย จับมือกับบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย นำโซลูชั่นด้านสถาปัตยกรรมเอสโอเอ มาเสริมประสิทธิภาพโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐาน ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านไอทีของไทย

มหาวิทยาลัยศรีปทุม หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย จับมือกับบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย นำโซลูชั่นด้านสถาปัตยกรรมเอสโอเอ (Service Oriented Architecture -SOA) มาเสริมประสิทธิภาพโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐาน ภายในมหาวิทยาลัย เพื่อก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านไอทีของไทย รวมทั้งยังนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนแก่นักศึกษาอีกด้วย

.

.

.

ด้วยความมุ่งมั่นดังกล่าว มหาวิทยาลัยฯ ได้กำหนดแผนที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐาน ให้สามารถรองรับการเติบโต และการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหลังจากที่ได้พิจารณาโซลูชั่นต่าง ๆ กับความต้องการของมหาวิทยาลัย แล้ว ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ตัดสินใจเลือกใช้โซลูชั่นเอสโอเอของไอบีเอ็มในการพัฒนาปรับปรุงระบบไอทีพื้นฐานภายในของมหาวิทยาลัย

.

เอสโอเอเป็นสถาปัตยกรรมเพื่อการบริการ ที่เกิดจากวิวัฒนาการทางด้านซอฟต์แวร์ เอสโอเอ เป็นแนวคิดการออกแบบระบบซอฟต์แวร์ขั้นสูง ที่เข้ามาช่วยสร้างระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศให้อยู่ในรูปแบบของการให้บริการ (Services) ด้วยเอสโอเอ เราจะมีความยืดหยุ่นในการสร้างซอฟต์แวร์โซลูชั่นใหม่ ๆ สนองตอบยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยได้ โดยซอฟต์แวร์โซลูชั่นใหม่ เหล่านี้อาจเป็นระบบซอฟต์แวร์ที่จะจัดทำขึ้นใหม่ หรือประกอบจากระบบซอฟต์แวร์ที่ใช้งานอยู่บางส่วนที่ปรับปรุงใหม่ หรืออาจจัดหามาจากภายนอก ระบบซอฟต์แวร์เหล่านี้สามารถทำงานแบบบูรณาการได้ เพื่อตอบโจทย์เชิงนโยบายขององค์กร ที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เพื่อความเหมาะสมของสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย

.

ขั้นตอนการก้าวเข้าสู่เอสโอเอ (SOA Entry Point) ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างขององค์กร เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแนวใหม่ที่กล่าว ซี่งมีอย่างน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ วัฒนธรรมการทำงานของบุคลากร (People working culture) ขั้นตอน (Process) ข้อมูล (Information) ความสามารถในการเชื่อมต่อ (Connectivity) และทักษะการสร้าง Reused asset ที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ในส่วนของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้เริ่มปรับปรุงระบบสถาปัตยกรรมเพื่อการบริการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการแก้ไขปัญหาใน 2 จุดสำคัญหลัก นั่นคือ ในระดับขั้นตอน และข้อมูล เป็นอันดับแรก

.

ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ จนถึงปัจจุบัน ด้วยวิสัยทัศน์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของคนรุ่นใหม่ และเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านไอทีของประเทศ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้วางแผนยกระดับการบริหารงานภายในรวมทั้งการเรียนการสอน เราได้เริ่มปรับปรุงส่วนภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถสื่อสาร เชื่อมต่อ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ต่างๆ ได้ในทุกที่ และทุกเวลา"

.

จากนี้ไป ระบบงานซอฟต์แวร์ของเราจะต้องสามารถรองรับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยได้ ระบบซอฟต์แวร์จะต้องมีความยื่นหยุ่นในการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการทำงาน และการให้บริการ ทั้งแก่นักศึกษา คณาจารย์ และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยเห็นว่าเอสโอเอสามารถตอบโจทย์ให้เราได้ โครงการนำร่อง ที่ถือว่าเป็นโครงการค่อนข้างใหญ่ที่มหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการไปแล้วคือ ระบบการจัดการเอกสาร (Document Management)

.

ซึ่งรวมถึงระบบหนังสือเวียนภายใน การนำส่งเข้ามาของเอกสารจากภายนอก การส่งออกของเอกสารจากมหาวิทยาลัย รวมถึงระบบงานสารบรรณ โดยคุณสมบัติของเอสโอเอ เราสามารถเชื่อมโยงเอกสารจากระบบการบริหารเอกสาร เข้ากับระบบงาน Back office ได้ ซึ่งจะทำให้ระบบการจัดการเอกสาร กับระบบบริการนักศึกษา ระบบการเงินการคลัง และระบบหลังบ้านอื่น ๆ สามารถทำงานแบบบูรณาการในที่สุด

.

ดร. มนู อรดีดลเชษฐ์ ประธานกรรมการนโยบายไอซีที มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า "ยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้าน ICT ของมหาวิทยาลัยศรีปทุม คือการปรับเปลี่ยนสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ ของมหาวิทยาลัยเป็น SOA เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์หลักของมหาวิทยาลัย ที่จะทำให้มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีความยืดหยุ่นสูงในการบริการนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง SOA เอื้อให้เรารักษาระบบซอฟต์แวร์บางระบบที่ยังใช้งานได้ดี ในขณะที่สร้างซอฟต์แวร์ส่วนใหม่ ที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการทำงานตามยุทธศาสตร์ใหม่ "

.

แล้วบูรณาการระบบซอฟต์แวร์ของทั้งมหาวิทยลัยเข้าด้วยกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน การเปลี่ยนโครงสร้างของระบบซอฟต์แวร์ของทั้งมหาวิทยาลัยให้เป็น SOA เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะเป็นงานที่มากกว่าจะจัดหา หรือพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ มันเป็นเรื่องของการปรับกระบวนการทำงานให้เหมาะสมกับยุทธศาสตร์ใหม่ของมหาวิทยาลัย เป็นการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ของการใช้ ICT ในองค์กร ซึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับคนทุกลุ่ม ทั้งคนภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังต้องมีการสร้างทีมงานสนับสนุนทางเทคนิคที่มีศักยภาพสูง และมีทักษะของเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ๆ ด้วย

.

มหาวิทยาลัยฯ ยังได้นำเทคโนโลยีเว็บ 2.0 มาใช้ เพื่อเป็นแนวทางใหม่ของการสื่อสารกันภายใน และการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน ขั้นตอนต่อไป จะเป็นการบูรณาการระหว่างระบบสื่อสารภายใน เข้ากับระบบงานการจัดการเอกสาร และระบบ Back office อื่น ๆ เป้าหมายที่สำคัญของการลงทุนครั้งนี้ คือการทำให้ระบบการทำงาน และการบริการการศึกษาของมหาวิทยาลัยได้พัฒนาไปสู่การบริการด้านการศึกษา และสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพยิ่ง ๆ ขึ้น

.

นอกจาก นี้ มหาวิทยาลัยยังได้บรรจุคอร์สอบรมทางด้านเอสโอเอให้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนของนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวมทั้งมีนโยบายผลิตอาจารย์ที่มีความรู้ทางด้านเอสโอเอ เพื่อเสริมความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าทางด้านไอทีของไทยอย่างแท้จริง

.

ในส่วนของการพัฒนาโซลูชั่นเอสโอเอให้กับมหาวิทยาลัยฯ ระยะที่หนึ่ง ไอบีเอ็มได้ร่วมมือกับบริษัท สตรีม ไอที คอนซัลติ้ง จำกัด และบริษัท กูรู เซอร์วิส จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและวางระบบไอทีชั้นนำของไทย จัดการออกแบบและติดตั้งระบบงาน ดีบีทู คอนเทนท์ แมเนจเมนท์ (DB2 Content Management) ซึ่งเป็นระบบงานบริหารจัดการข้อมูลเอกสาร รวมทั้งติดตั้งระบบซอฟต์แวร์เว็บสเฟียร์ โปรเซส เซิร์ฟเวอร์ (WebSphere Process Server) เพื่อการจัดการเอกสารและการไหลเวียนของเอกสาร

.

โดยมีระบบจัดเก็บข้อมูล ไอบีเอ็ม สตอเรจ ดีเอส 4700 (IBM Storage DS 4700) เป็นระบบฐานข้อมูลหลัก นอกจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยฯ ยังได้ร่วมมือกับบริษัท ซีนิธคอมพ์ จำกัด ในการผนวกซอฟต์แวร์โลตัส โน้ตส์และโดมิโน ซึ่งใช้สนับสนุนระบบอีเมล์ การทำงานร่วมกันและปรับปรุงอินเตอร์เฟซของระบบ รวมทั้งซอฟต์แวร์เว็บสเฟียร์ พอร์ทัลซึ่งใช้ในการพัฒนาเว็บ แอ๊พพลิเคชั่น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโซลูชั่นทางด้านเอสโอเอของมหาวิทยาลัยฯ อีกด้วย

.

นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย มีความภาคภูมิใจในความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีปทุมทางด้านเอสโอเอในครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นก้าวย่างสำคัญในการวางรากฐานสถาปัตยกรรมเอสโอเอใหักับสถาบันการศึกษา รวมทั้งเป็นตัวอย่างในการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภายใน และพัฒนายกระดับมาตรฐานโดยรวมของมหาวิทยาลัยในประเทศให้ดียิ่งขึ้น"

.

นายชัยรัตน์ ถนอมวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สตรีม ไอที คอนซัลติ้ง พันธมิตรของไอบีเอ็มที่ช่วยสนับสนุนด้านการออกแบบและติดตั้งระบบเอสโอเอให้กับมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า "ด้วยความได้เปรียบของเทคโนโลยีไอบีเอ็มผนวกกับความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการวางระบบไอที ทางเราเชื่อมั่นว่าการนำ เอสโอเอของไอบีเอ็มมาพัฒนาระบบไอทีของมหาวิทยาลัยศรีปทุมในครั้งนี้ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้มหาวิทยาลัยฯ ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านไอทีของไทยอย่างเต็มภาคภูมิ"

.

นอกเหนือจากมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่ได้เลือกใช้เทคโนโลยีเอสโอเอของไอบีเอ็มในระบบงานภายในแล้ว ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งในการนำโซลูชั่นทางด้านเอสโอเอไปใช้กับระบบการจัดการภายในสถาบัน ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย บอลล์ สเตท ( Ball State University )แห่งมลรัฐอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา ที่ได้ใช้สถาปัตยกรรมเพื่อการบริการหรือเอสโอเอของไอบีเอ็มมาจัดการระบบทะเบียนประวัตินักศึกษากว่า 20,000 คน ที่มีข้อมูลกระจัดกระจายอยู่กว่า 40 ระบบภายในให้มีมาตรฐานเดียวกัน

.

การนำเอสโอเอมาใช้ในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลงทะเบียนแก่นักศึกษาโดยเฉพาะการลงทะเบียนสำหรับชั้นเรียนการศึกษาทางไกล (Distance Learning Class) ได้เป็นอย่างดี และบริการที่พัฒนาขึ้นนี้ มหาวิทยาลัยยังได้รับประโยชน์โดยสามารถนำบริการดังกล่าวกลับไปใช้ (Reuse) ในด้านการลงทะเบียนนักศึกษาในส่วนอื่นๆได้อีกด้วย