เนื้อหาวันที่ : 2008-09-29 10:42:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1248 views

ญี่ปุ่น ร้องผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อดันไทยเป็นศูนย์กลาง ROHs ในอาเซียน

บีโอไอสวมบทเจ้าภาพการประชุมเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น ระดม 25 หน่วยงานรัฐ หารือกับหน่วยงานชั้นนำด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภูมิภาค หรือ ROHs เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน

.

บีโอไอสวมบทเจ้าภาพการประชุมเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น ระดม 25 หน่วยงานรัฐ หารือกับหน่วยงานชั้นนำด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น อาทิ เจโทร เจซีซี และเมติ  ญี่ปุ่นร้องให้ผ่อนคลายกฎระเบียบและขั้นตอนการลงทุน โดยเฉพาะการตั้งศูนย์ปฏิบัติการภูมิภาค หรือ ROHs เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน

.
นายสาธิต  ชาญเชาวน์กุล  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการร่วม (ไทย-ญี่ปุ่น) ว่าด้วยการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจหรือเจเทปปา  (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) โดยมีผู้แทนจากหน่วยราชการไทยเข้าร่วมทั้งสิ้น 25 หน่วยงาน ในขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นนำโดย Mr. M. Shiota รองอธิบดีกรมนโยบายการค้า (Trade Policy Bureau)
.

กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) และ Mr. J. Yamada อัครราชทูตด้านเศรษฐกิจ   สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากหน่วยราชการญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนเจโทรกรุงเทพฯ และผู้แทนหอการค้าญี่ปุ่นกรุงเทพฯเข้าร่วมด้วย รวมทั้งสิ้น 23 คน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในด้านการลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการลงทุนต่อไป

.

การหารือในครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ชี้แจงถึงนโยบายการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐบาล มีการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการลงทุน เช่น E-customs ศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน ให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้รับทราบขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นแจ้งว่า ประเทศไทยมีความสำคัญต่อการลงทุนของญี่ปุ่น และต้องการให้ไทยเป็นผู้นำของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ โดยเข้าร่วมในการทำข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องการให้ฝ่ายไทยผ่อนปรนกฎระเบียบการลงทุน และดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการลงทุนมากขึ้น

.

ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้ขอให้ไทยผ่อนปรนหลักเกณฑ์ภายใต้ พระราชัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ลดเงื่อนไขการออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงานแก่คนต่างชาติ ปรับปรุงขั้นตอนด้านการนำเข้าและส่งออก และกระบวนการทางด้านภาษีอากร รวมทั้งยังได้ยกประเด็นปัญหาในเรื่องที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็ก ตลอดจนการปรับปรุงสาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกในด้าน  โลจิสติกส์ เป็นต้น

.

"ขณะนี้ นักธุรกิจญี่ปุ่นกำลังตัดสินใจเลือกประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียน เป็นศูนย์กลางในการตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ ROHs เพื่อรองรับการเปิดเสรีของอาเซียนในปี 2010 ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีบริษัทจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมาก และเหมาะกับการเป็นศูนย์กลาง ROHs ของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ แต่มีอุปสรรคในเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ซึ่งหากไม่มีการปรับปรุง จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสดังกล่าวไป" นายสาธิตกล่าว

.

นอกเหนือจากการประชุมในครั้งนี้แล้ว  ฝ่ายไทยได้อำนวยความสะดวกในระดับการปฏิบัติการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยได้จัดตั้งสำนักงานประสานงานสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น (Liaison Office) ขึ้นที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2537-8111 ต่อ 1101 หรือผ่านทาง e—mail ได้ที่ head@boi.go.th  ส่วนญี่ปุ่นก็ได้จัดตั้งสำนักงานประสานงานสำหรับนักลงทุนไทยเช่นกัน ณ กระทรวงการต่างประเทศ   ประเทศญี่ปุ่น

.

สำหรับประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด โดยโครงการอนุมัติให้การส่งเสริมจากญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 ถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านบาท โดยมีจำนวนโครงการรวมกันกว่า 5,000 โครงการ และการลงทุนของญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมหลายประเภทในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า   รวมถึงอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ส่วนการลงทุนจากไทยไปญี่ปุ่นแม้ยังมีจำนวนน้อยมาก แต่การลงทุนในด้านบริการ เช่น ร้านอาหารไทยในญี่ปุ่น ธุรกิจสปา   ก็มีโอกาสที่จะขยายตัวในญี่ปุ่นในอนาคต

.

ทั้งนี้ หลังจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจหรือเจเทปปา  (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2551 มีมูลค่าประมาณ 28,961 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550