เนื้อหาวันที่ : 2008-09-25 09:14:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1323 views

รฟม.ปล่อยเอกชนลงทุน 2.2 หมื่นลบ.ทำระบบสัญญาณ-ขบวนรถส่วนต่อขยายสีน้ำเงิน

รฟม.เปิดเอกชนเข้ามาลงทุนจัดหาระบบอาณัติสัญญาณ-ขบวนรถไฟฟ้าเส้นทางส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งจ้างทำหน้าที่ให้บริการเดินรถ เชื่อเอกชนจัดซื้อได้ในราคาต่ำกว่าภาครัฐ

คณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เห็นชอบให้ให้ใช้รูปแบบ PPP GROSS COST ในการจัดหาเอกชนเข้ามาลงทุนจัดหาระบบอาณัติสัญญาณ-ขบวนรถไฟฟ้าเส้นทางส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งจ้างทำหน้าที่ให้บริการเดินรถ เชื่อเอกชนจัดซื้อได้ในราคาต่ำกว่าภาครัฐ

.

นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ในฐานะประธานกรรมการ รฟม. กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณารูปแบบการเดินรถในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทางรวม 27 กม. โดยอนุมัติให้ใช้รูปแบบ PPP GROSS COST เช่นเดียวกับการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยเอกชนต้องจัดหาเงินเพื่อลงทุนระบบอาณัติสัญญาณและจัดหาขบวนรถไฟฟ้า ซึ่ง รฟม.จะชำระคืนภายหลัง พร้อมว่าจ้างเอกชนทำหน้าที่ให้บริการเดินรถ

.

โดยรูปแบบดังกล่าวจะมีข้อดีคือเอกชนสามารถจัดซื้อระบบรถไฟฟ้าได้ในราคาต่ำกว่าภาครัฐ เพราะมีอำนาจต่อรองมากกว่า ขณะที่ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เพื่อจูงใจให้ประชาชนใช้บริการได้ เพราะรายได้ค่าโดยสารทั้งหมดจะเป็นของภาครัฐ ต่างจากรูปแบบการให้สัมปทานเอกชน ซึ่งต้องปรับอัตราค่าโดยสารตามเงื่อนไขสัญญา

.

ส่วนวิธีการชำระคืนเงินลงทุน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยนั้น เอกชนจะต้องเสนอมาให้ รฟม.พิจารณาเพื่อเลือกข้อเสนอที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์มากที่สุด โดยหลังจากนี้ รฟม.จะเสนอรายละเอียดไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อรอเสนอ ครม.ชุดใหม่พิจารณาอนุมัติต่อไป ขณะเดียวกันจะทำเรื่องสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาว่ารูปแบบการลงทุนดังกล่าวจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานและดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือไม่ โดยในเบื้องต้นฝ่ายกฎหมายเห็นว่าไม่เข้าข่าย เพราะเอกชนไม่ต้องร่วมรับผลกำไรหรือขาดทุนจากการเดินรถ แต่เพื่อความรอบคอบจึงต้องสอบถามเพื่อให้เกิดความมั่นใจ

.

"เบื้องต้นคาดระบบอาณัติสัญญาณและระบบรถไฟฟ้าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ส่วนค่างานโยธานั้น บอร์ด รฟม.ได้อนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มขึ้นเป็น 52,956 ล้านบาท จากเดิม 48,821 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน รฟม.มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาคำนวณค่าก่อสร้างเพื่อใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบราคาในการประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมา" นายสุพจน์ กล่าว

.

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ รฟม.คนใหม่ โดยมีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)เป็นประธาน หลังจากนี้คณะกรรมการสรรหาฯ จะประชุมเพื่อกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร โดยคาดว่าจะรู้ผลการคัดเลือกภายใน 3 เดือน ซึ่งคณะกรรมการ รฟม.ต้องการได้นักบริหารมืออาชีพ มีความรู้ด้านการบริหารจัดการโครงการ และการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มรายได้องค์กร ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านงานวิศวกรรม