เนื้อหาวันที่ : 2008-09-23 13:00:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1645 views

โนเกีย ผงาดผู้นำอันดับหนึ่งผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว

โนเกีย ผงาดกลับขึ้นมาเป็นผู้นำผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวอีกครั้งจากการที่โนเกียได้ปฏิบัตินโยบายด้านความรับผิดชอบของผู้ผลิตโดยเพิ่มจุดเก็บรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตนคืนเพื่อรีไซเคิลในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศอินเดีย

.

โนเกีย ผงาดกลับขึ้นมาเป็นผู้นำผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวอีกครั้งจากการที่โนเกียได้ปฏิบัตินโยบายด้านความรับผิดชอบของผู้ผลิตโดยเพิ่มจุดเก็บรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตนคืนเพื่อรีไซเคิลในหลายประเทศโดยเฉพาะในประเทศอินเดีย ระบุ 5 แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมดีขึ้นมาก

 .

"ผู้ผลิตเกือบทุกรายตอบสนองต่อการจัดอับดับผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวของกรีนพีซที่พิจารณาจากหลักเกณฑ์ด้านสารพิษในผลิตภัณฑ์ ด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์ และล่าสุดด้านพลังงาน โดยในประเด็นด้านพลังงานนั้น ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลมีจุดเด่นด้านการประหยัดพลังงาน ตามด้วยโนเกีย โซนี-อิริคสัน และซัมซุง ขณะที่โตชิบาเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ผลิตที่มีการพัฒนานโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก" อิซา ครูซซิซากา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซสากลกล่าว

 .

คอมพิวเตอร์ของฟูจิสึ-ซีเมนส์ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 3 จากอันดับที่ 15 ด้วยคะแนน 5.5 เต็ม 10 คะแนน โดยได้ประกาศว่าจะยกเลิกการใช้พลาสติก PVC และสารหน่วงไฟโบรมีน (BFRs) ภายในปี 2553 ในทุกผลิตภัณฑ์ ขณะที่โซนี-อิริคสันและโซนีตามมาเป็นอันดับ 4 ด้วยคะแนน 5.3 คะแนน  

 .

ยังไม่มีผู้ผลิตใดที่มีผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ที่ปลอดจาก BFRs และ PVC ร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามเริ่มมีคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ที่ได้ลดและจำกัดปริมาณ BFRs และ PVC ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์แล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสตีฟ จ๊อบส์ ประธานผู้อำนวยการบริหารของแอปเปิลได้ประกาศว่า ไอพ็อดรุ่นใหม่ ปลอดจาก BFRs และ PVC และสารปรอท ตามจากโนเกียและโซนี-อิริคสันที่ได้ประกาศเลิกใช้ก่อนหน้านี้ในโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าแบตเตอรี่ของไอพ็อดรุ่นใหม่ยังเป็นแบบติดกับเครื่องซึ่งจะเปลี่ยนไม่ได้ จึงเป็นการออกแบบที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานจำกัด

 .

"เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลายยี่ห้อเริ่มตอบรับตามข้อเสนอของกรีนพีซเพื่อความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ โดยมีการพัฒนาปรับปรุงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สิ่งนี้ส่งผลดีต่อประเทศไทยเช่นกัน เนื่องจากเราเป็นหนึ่งในตลาดผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกำลังประสบปัญหาเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีจำนวนมากขึ้น" นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

 .

ฟิลลิปส์เป็นผู้ผลิตหลักที่พบว่ามีนโยบายปฏิบัติด้านขยะอิเล็กทรอนิกส์และการรีไซเคิลแย่ที่สุด จึงจัดอยู่ที่อันดับที่ 11 ด้วยคะแนน 4.3 คะแนน และถูกหักคะแนน(4)จากการที่พยายามผลักดันไม่ให้มีกฏหมายความรับผิดชอบของผู้ผลิตในสหภาพยุโรป(5) ส่วนกลุ่มผู้ผลิตท้ายตารางยังเป็นชาร์ปที่ได้ 3.1 คะแนน ไมโครซอร์ป 2.2 คะแนน และแย่สุดคือนินเทนโดที่ได้เพียง 0.8 คะแนน

 .

นอกจากการเปลี่ยนแปลงของผู้ผลิตต่างๆ ข้างต้นแล้ว ล่าสุดอินเทลได้ประกาศว่าชิ้นส่วนประมวลผล xeon 5400 ได้เปลี่ยนทรานซิสเตอร์ที่ทำจากฮาฟเนี่ยม (Hafnium) เป็นสารหน่วงไฟแทนฮาโลเจนและโบรมีน ซึ่งได้พิสูจน์ว่าการจัดอันดับผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวโดยกรีนพีซกำลังประสบความสำเร็จในการผลักดันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

 
หมายเหตุ

(1) คู่มือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว สามารถค้นหาได้ที่ http://www.greenpeace.org/greenerelectronics

(2) โนเกียเคยอยู่อันดับที่หนึ่งในการจัดอันดับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวฉบับที่ 7 เดือนกันยายน 2550

(3) จากรายงานของกรีนพีซอินเดีย Take-Back Blues: An Assessment of E-waste Take-back in เมื่อเดือนกรกฏาคม โนเกียมีนโยบายการรับผิดชอบในการรับซากผลิตภัณฑ์คืนเพื่อนำไปรีไซเคิลดีที่สุดในแบรนด์สากลที่ขายในอินเดียรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่http://www.greenpeace.org/india/press/reports/take-back-blues

(4) การตัดคะแนนครั้งนี้มาจากการโกหก และการดำเนินสองมาตรฐานในการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ

(5) ฟิลิปส์ ชาร์ปและซันโย เคยเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตทีวีของสหรัฐที่พยายามผลักดันภาระค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลไปยังผู้บริโภค อย่างไรก็ตามกลุ่มดังกล่าวสลายไปเมื่อเดือนสิงหาคม หลังจากที่ซัมซุง โซนี แอลจีอิเล็คทริค โตชิบา และพานาโซนิก ออกจากกลุ่มเนื่องจากไม่เห็นด้วยและถูกหักคะแนนในการจัดอันดับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สีเขียวที่ผ่านมา จากการเป็นสมาชิกของกลุ่มที่มีนโยบายผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค