ปัจจุบันการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดำรงชีวิตของคนเรา ต้องเผชิญกับ "ภาวะโลกร้อน" ซึ่งปรากฏให้เห็นในรูปของภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาที่เป็นสัญญาณเตือนให้ตระหนักถึงผลกระทบจาก ภาวะโลกร้อน มากขึ้น ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างตื่นตัวที่จะหาทางบรรเทาปัญหา
ผู้วิเคราะห์ : นางสาวชัชดากร ธีนสุจิ
ฝ่ายวิจัยธุรกิจ สายงานบริหารความเสี่ยงและบรรษัทภิบาล บมจ.กรุงไทย
ปัจจุบันการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดำรงชีวิตของคนเรา ต้องเผชิญกับ "ภาวะโลกร้อน" ซึ่งปรากฏให้เห็นในรูปของภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาที่เป็นสัญญาณเตือนให้ตระหนักถึงผลกระทบจาก "ภาวะโลกร้อน" มากขึ้น
ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างตื่นตัวที่จะหาทางบรรเทาปัญหาดังกล่าว เช่น รณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสภาพแวดล้อมด้วยวิธีการต่างๆ อย่างไรก็ดี การลดปัญหา "ภาวะโลกร้อน" อย่างจริงจังและยั่งยืนนั้น ทุกฝ่ายในสังคมต้องถือเป็นภาระความรับผิดชอบร่วมกัน และเพื่อให้ดำเนินการได้ผล จะต้องให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ทุกคนด้วย
พฤติกรรมมนุษย์ ปัจจัยสำคัญต่ออนาคตโลก
ภาวะโลกร้อน (Global warming) หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เกิดจากกระบวนการผลิตหรือกระบวนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดก๊าซหลายชนิด ขึ้นไปสะสมในชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง และโดยที่ก๊าซเหล่านี้มีอายุของการอยู่ในชั้นบรรยากาศยาวนานมาก จึงเกิดเป็นชั้นก๊าซหนาเก็บกักพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องมายังพื้นโลก และไม่สามารถสะท้อนกลับออกไปนอกชั้นบรรยากาศได้ จนกระทั่งกลายเป็นการสะสมความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศของโลก หรือเรียกว่าภาวะเรือนกระจก (Greenhouse) ซึ่งทำให้อุณหภูมิของโลกสูงเป็นลำดับ
ก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น ก๊าซคาร์บอกไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน โอโซน ก๊าซไนตรัสอกไซด์ ก๊าซกลุ่มฮาโลคาร์บอน และก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟูลออไรด์ เป็นต้น ก๊าซเหล่านี้สามารถเกิดได้ทั้งโดยธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์
แต่ในปัจจุบันพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น กระบวนการผลิตและดำเนินกิจกรรมในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์จะยิ่งเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Pal on Climate Change : IPCC) ที่ได้นำเสนอในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 โดยระบุว่า
"การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น มีความเป็นไปได้อย่างน้อยร้อยละ 90 เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์" อย่างไรก็ดี แม้ว่ามนุษย์เราจะตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังละเลยที่จะดำรงชีวิตในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การให้ความรู้รวมถึงกระตุ้นให้มีการร่วมกับปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ลดภาวะโลกร้อนได้
สำหรับในประเทศไทยจากการศึกษา พบว่า กิจกรรมจากกระบวนการดผาผลาญพลังงาน ซึ่งเป็นผลจากระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ดีพอ ทำให้มีการใช้รถยนต์มากขึ้นนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดรองลงมาคือ รูปแบบการใช้ที่ดินและป่าไม้ทางการเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไป และกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม ตามลำดับ แต่โดยที่ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนในประเทศไทยยังไม่ปรากฏชัดเจนหรือรุนแรงมาก ดังจะเห็นได้จากการพยากรณ์จำนวนวันที่อากาศร้อนขึ้นของไทย ที่ต้องใช้เวลาถึง 80 ปี จึงเห็นผล
ชาวไทยส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญที่จะร่วมลดภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับผลการศึกษาอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของประชาชนในเมืองใหญ่ ซึ่งปรากฏว่าอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยของกรุงเทพมหานครมีระดับถึง 7.3 ตัน/คน/ปี ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าเมืองใหญ่อื่นๆ เช่น นิวยอร์ค (7.1) ลอนดอน (5.9) และโตเกียว (5.7) มาก
นอกจากนี้ในการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคปี 2550 ของบริษัท นีลเส็นใน 47 ประเทศ ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศไทย พบด้วยว่า พฤติกรรมในการซื้อสินค้า ผู้บริโภคพิจารณาถึง "ความคุ้มค่าของเงินที่จ่าย" เป็นปัจจัยแรก
ส่วนสถานที่ในการจับจ่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทีการพิจารณาเป็นปัจจัยสุดท้าย ซึ่งแวดวงให้เห็นว่า แม้ผู้บริโภคที่ต้องการให้ร้านค้าดำเนินธุรกิจในลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ด้วยความที่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญที่จะร่วมกันลดภาวะโลกร้อน ทำให้การเลือกสถานที่เพื่อซื้อสินค้า ผู้บริโภคจึงพิจารณาความคุ้มค่าของเงินเป็นหลัก
กิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
นอกจากกระบวนการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจเพื่อการอุปโภคและบริโภคของมนุษย์จะก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว กิจกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ก็ยังก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน โดยเริ่มตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน และแม้ในขณะนอนหลับมนุษย์ยังสามารถก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก สาเหตุของภาวะเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมประจำวันของมนุษย์ มีดังนี้
ด้านที่พักอาศัย ในปัจจุบันมนุษย์เราใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นจำนวนมากเพื่อความสะดวกสบาย แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดไม่ว่าจะใช้พลังงานไฟฟ้ามากหรือน้อยก็ตาม ต่างสามารถก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นได้ เนื่องจากกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าบางส่วนต้องใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเมื่อปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจะก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกขึ้น
นอกจากนี้ในการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด เช่น เครื่องปรับอากาศ ยังมีการระบายความร้อนที่เกิดจากการทำงานออกมาภายนอก ซึ่งเป็นการเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้สูงขึ้น และยิ่งใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นเท่าใด ปริมาณกาซคาร์บอนไดออกไซด์และความร้อนที่ถูกปล่อยออกมาก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
การบริโภค เนื่องจากในกระบวนการผลิตอาหารหรือเครื่องดื่มต่างต้องใช้พลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ทั้งนี้ในการผลิตเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาประมาณ 3-4 กิโลกรัม และในการเลี้ยงสัตว์บางชนิด เช่น โค กระบือ กระบวนการย่อยสลายอาหารของสัตว์จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทนขึ้น หรือการเพาะปลูกพืชบางชนิด เช่น ข้าว จะเกิดก๊าซมีเทนขึ้นจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ในนาข้าว
การศึกษาหาความรู้หรือทำงาน ส่วนใหญ่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการส่องสว่าง นอกจากนี้อุปกรณ์เครื่องเขียน เช่น กระดาษและดินสอ ซึ่งในการผลิตกระดาษ 1 ตัน จะต้องใช้ต้นไม้ประมาณ 17 ต้น และในการผลิตดินสอ ต้นไม้ที่ใช้จะต้องอายุ 9 ปีขึ้นไป และสามารถใช้ได้เฉพาะแกนกลางของลำต้นเท่านั้น
ทั้งนี้ ต้นไม้ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นแหล่งดูดซับกาซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ ดังที่มีการกล่าวว่าตลอดอายุของต้นไม้ 1 ต้น จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1 ตัน เมื่อมีการใช้ประโยชน์จากกระดาษหรือดินสอมากขึ้น ก็เป็นผลให้มีการตัดต้นไม้มากขึ้นตาม และทำให้แหล่งดูดซับกาซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกลดลง
การเดินทาง ทั้งระบบขนส่งมวลชนหรือรถยนต์ส่วนบุคคล ก็สามารถก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกได้ จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ซึ่งจะปล่อยเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และความร้อนออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ
กิจกรรมประจำวันดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคหรือบริโภคต่างๆ ก็ตาม สามารถก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันยังมีบรรจุภัณฑ์บางชนิดของสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้จากขบวนการย่อยสลายอีกด้วย เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งในกระบวนการผลิตนอกจากจะเกิดก๊าซเรือนกระจกแล้ว
การกำจัดทำลายต้องใช้เวลายาวนานและใช้พลังงานสูงขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ การที่ประชาชนซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาภาวะโลกร้อน จะเสมือนกับยอมรับการดำเนินงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาภาวะโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้น
การดำรงชีวิตและดำเนินงานท่ามกลางภาวะโลกร้อน
โดยที่การอุปโภคเพื่อดำรงชีวิตประจำวันตามปกติของมนุษย์สามารถก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ และคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซที่เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะดังกล่าวได้ คือ ปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจกรรม และใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด สำหรับกิจกรมที่ดำเนินการแล้วจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ มีดังนี้
ปลูกต้นไม้ เนื่องจากต้นไม้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ และยังช่วยให้ระบบนิเวศวิทยาที่สูญเสียไปดีขึ้นด้วย เช่น ช่วยลดการชะล้างหน้าดิน เป็นแหล่งต้นน้ำ ผลิตออกซิเจน และเพิ่มความร่มเย็นให้กับพื้นที่ปลูก ซึ่งจะช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศลงด้วย
ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยศึกษาคู่มือการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าให้เข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำ ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานได้ รวมถึงปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งหลังใช้งาน เนื่องจากการเสียบปลั๊กไว้แม้ไม่ใช้งาน เครื่องใช้ไฟฟ้านั้นก็จะยังคงใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ควรเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยความร้อนจากการใช้งานลงด้วย
ซื้อหรือบริโภคเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันการผลิตออกมามากเกินความต้องการจนทำให้เกิดของเหลือใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหมายถึงปริมาณก๊าซที่จะถูกปล่อยออกมาจำนวนมากด้วย ทั้งจากขั้นตอนการผลิต การขนส่ง และย่อยสลาย การคำนึงถึงความจำเป็นของสินค้าก่อนซื้อ นอกจากจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้ทรัพยากรเกินควรแล้ว ขณะเดียวกันยังช่วยลดรายจ่ายได้ด้วย
หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก โดยใช้พลาสติกอื่นที่ย่อยสลายได้ด้วยตัวเอง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยและถุงผ้า รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการย่อยสลาย
ใช้ระบบขนส่งมวลชนหรือวางแผนก่อนเดินทาง รวมถึงการใช้รถร่วมกันเมื่อต้องเดินทางไปในเส้นทางเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยกาซคาร์บอนไดออดกไซด์จากกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงได้ ขณะเดียวกันต้องดูแลสภาพเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดี เพื่อลดการเผาผลาญน้ำมันโดยไม่จำเป็น ใช้งานให้เหมาะกับประเภทรถยนต์และใช้ความเร็วที่พอเหมาะ
ท่องเที่ยวอย่างอนุรักษ์ เพื่อรักษาระบบนิเวศไม่ให้ถูกทำลายจากการท่องเที่ยว ลดปริมาณก๊าซที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น ขณะเดียวกัน กิจกรรมที่จัดขึ้นจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกระตุ้นเตือนให้มีการสำนึกถึงประโยชน์ของสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรณรงค์ให้มีการดูแลรักษาให้มีสภาพดี
สนับสนุนผู้ประกอบการที่ดำเนินงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงจุดยืนของผู้บริโภคที่ต้องการช่วยลดภาวะโลกร้อนและเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินงานในแนวทางดังกล่าว ซึ่งจะทำให้มีผู้ประกอบการหันมาผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และในระยะยาวผลกระทบจากการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกจะลดลง
การดำเนินกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังส่งผลดีต่อผู้ปฏิบัติเองโดยการลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าพลังงาน และค่าไฟฟ้าลง ซึ่งเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บทส่งท้าย : มนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดภาวะโลกร้อน
ปัจจุบันผลกระทบของภาวะโลกร้อนปรากฏชัดเจนในทุกพื้นที่ของโลก ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นตามการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น มนุษย์เราทุกคนจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปในแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน การดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงนอกจากจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้แล้ว ยังส่งผลดีต่อประชาชนเองด้วย โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบันที่ค่าครองชีพปรับสูงขึ้นทุกด้าน ทั้งค่าพลังงาน อาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ
เอกสรอ้างอิง
ดวงกมล วงศ์วรจรรย์ (2551) สงครามถุงพลาสติก คัดย่อจาก www.newsweek.com ประชาชาติธุรกิจ
รายสัปดาห์ 21 มีนาคม 2551
ธวัชชัย สุขลอย ภาวะโลกร้อนกับการดำเนินชีวิต แหล่งที่มา URL://www.biotec.or.th/biotechnology-th/newsdetail.asp?id=2150 (8 เมษายน 2551)
นฐปัทม์ จิตพิทักษ์ (2542) มาตารการป้องกันเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก, วารสารสิ่งแวดล้อม ปีที่ 2 ฉบับที่ 11
เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2542
บัณฑิต คงอินทร์ (2548) ไลฟ์&เทค หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 21 มีนาคม 2548
ลลิตา ผลผลา (ผู้แปล) (2550) ชีพจรโลกท่ามกลางวิกฤตโลกร้อน เขียนโดย ทอมัส เฮย์เดน
สิรินทรเทพ เต้าประยูร (2550) ก๊าซมีเทนในนาข้าว เรื่องเล็กของโลกร้อน แนะลดโลกร้อนควรเริ่มที่ภาค
พลังงานเป็นหลัก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (29 กรกฎาคม 2550)
ศุภกร ชิณวรรโณ 2550 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคต : ผลสรุปจากการจำลอง
สถานการณ์อนาคตโดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ Conformal Cubic Atmospheric Model ZCCAM) ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯธุรกิจ (2551) ผู้บริโภคชาวไทยห่วงใยสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด (18 มีนาคม 2551)
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ (2551) โลกร้อน...เพราะเราเป็นเพียงกาฝากเกาะกินโลก? (26 มีนาคม 2551)
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แหล่งที่มา
URL://http://wwwonep.go.th/CDM/cmc_gas_what.html (9 มิถุนายน 2551)
สำนักอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่า แหล่งที่มา
URL://http://www.http://eco-town.dpim.go.th/news/detail.php?d=90 (17 มิถุนายน 2551)
Wikipedia.URL://http://th.wikipedia.org (3 เมษายน 2551)