เนื้อหาวันที่ : 2008-09-22 13:53:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1144 views

สศค.ชี้ไทยควรมีมาตรการรองรับวิกฤตการเงินสหรัฐ เชื่อปัญหายืดเยื้อยาวนาน

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ระบุกรณีที่บริษัท เลห์แมนบราเธอร์ส วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประสบภาวะล้มละลายแม้จะเกิดผลกระทบทางตรงกับระบบเศรษฐกิจของไทยไม่มากนัก แต่ในทางอ้อมย่อมมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวนั้นอาจทำให้การส่งออกชะลอตัวลง

.

.

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ระบุกรณีที่บริษัท เลห์แมนบราเธอร์ส วาณิชธนกิจอันดับ 4 ของโลกประสบภาวะล้มละลายแม้จะเกิดผลกระทบทางตรงกับระบบเศรษฐกิจของไทยไม่มากนัก แต่ในทางอ้อมย่อมมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทยในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวนั้นอาจทำให้การส่งออกชะลอตัวลง

.

"ในระยะสั้นส่งผลกระทบทางตรงไม่มากนัก เนื่องจากสถาบันการเงินไทยและธุรกิจไทยมีธุรกรรมและความเสี่ยงกับเลห์แมนฯ น้อย...ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมพบว่ามีผลสู่ตลาดเงินตลาดทุนไทยมากในระยะสั้น โดยทำให้ตลาดหลักทรัพย์ผันผวน สภาพคล่องในประเทศอาจเริ่มตึงตัวขึ้นตามตลาดโลก รวมทั้งค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น ขณะที่ในระยะยาวเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบในวงกว้างทำให้การส่งออกของไทยลดลง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

.

กรณีดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อสภาวะสภาพคล่องในประเทศให้ตึงตัวในอนาคต เนื่องจากบริษัทที่กู้เงินจากบริษัท เลห์แมนฯ ต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ในประเทศมาทดแทน

.

สศค.วิเคราะห์ว่า วิกฤตดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากสภาวะสภาพคล่องล้นโลก(Excessive Global Liquidity) ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่ภาวะวิกฤต Sub-Prime และลุกลามจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าความผันผวนดังกล่าวจะยังไม่จบในระยะสั้น ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องความมีมาตรการระยะสั้นเพื่อรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ 1.หน่วยงานภาครัฐควรดูแลสภาพคล่องภายในประเทศให้เพียงพอหากเศรษฐกิจไทยขาดสภาพคล่องตามตลาดโลก 2.ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อป้องกันความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

.

ส่วนมาตรการระยะปานกลางและยาว ได้แก่ 1.เร่งการใช้จ่ายในประเทศโดยเน้นการลงทุนให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันเศรษฐกิจชะลอตัวในระยะต่อไป จากปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศที่ทำให้การส่งออกลดลง 2.นโยบายการเงินอาจจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ในขณะนี้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจหดตัว(Recession)

.

3.นโยบายการค้าจะต้องเร่งกระจายตลาดการส่งออก และ 4.ควรเน้นควรมีการเพิ่มความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค โดยอาจใช้เวที ASEAN SUMMIT ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือน ธ.ค.51 เป็นเวทีขับเคลื่อนความร่วมมือทางการเงินให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น