ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วงชี้ส่งออกไทยเดือนส.ค.51 ขยายตัว 14.9% และเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงกว่าที่คาดนั้น ทำให้แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้น่ากังวลมากขึ้น หลังจากเดือนก.ย.51 มีปัจจัยลบหลายด้านที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ
. |
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนส.ค.51 ที่ขยายตัว 14.9% และเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงกว่าที่คาดนั้น ทำให้แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้น่ากังวลมากขึ้น เพราะหลังจากเดือนก.ย.51 มีปัจจัยลบหลายด้านที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ |
. |
โดยปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมีผลทำให้การส่งออกสินค้าบางส่วนมีความล่าช้า รวมทั้งคู่ค้าชาวต่างชาติที่มีแผนการเข้ามาติดต่อทางการค้าในประเทศไทยอาจเลื่อนแผนเจรจาธุรกิจออกไป แต่ผลกระทบของปัจจัยทางการเมืองอาจมีไม่มากเท่ากับปัจจัยในต่างประเทศ ทั้งปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินของสหรัฐฯ และสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยในประเทศญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆทั่วโลก |
. |
"ปัจจัยดังกล่าวอาจกระทบต่อการส่งออกช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่การส่งออกมักจะมีระดับที่สูงขึ้นตามคำสั่งซื้อสินค้าเพื่อที่จะวางขายในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แม้ว่าผู้ส่งออกส่วนหนึ่งจะส่งออกตามคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่ได้รับมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่สภาวะตลาดภายในประเทศผู้นำเข้าหลักที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงรุนแรง อาจมีผลกระทบบางส่วนต่อการส่งออกของไทย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ |
. |
สำหรับการส่งออกในเดือน ส.ค.51 ที่ชะลอตัวลงมีผลมาจากการชะลอตัวของสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า, เหล็ก เหล็กกล้า,ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก, อิเล็กทรอนิกส์, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะปัญหาการแข่งขันในตลาดโลกสูงมีการต่อรองราคามาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยเฉพาะปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ ที่ทำให้ความต้องการใช้สินค้าลดลง ขณะที่เศรษฐกิจสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นอ่อนแรงลง |
. |
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ถ้าเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ยังมีทิศทางชะลอตัวรุนแรงดังที่ปรากฏสัญญาณในปัจจุบันอาจส่งผลให้การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้เพียง 10-15% ขณะที่ถ้าเศรษฐกิจทั่วโลกซบเซาลงอย่างหนักและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวลดลง อาจเห็นตัวเลขส่งออกที่เป็นตัวเลขหลักเดียวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี |
. |
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวสูงของการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ จะช่วยให้การส่งออกตลอดทั้งปี 51 นี้ ยังมีระดับใกล้เคียงระดับ 20% ซึ่งสูงกว่าในปี 50 ที่ขยายตัว 17.3% และแม้ปีนี้จะยังรักษาอัตราการส่งออกไว้ได้ในระดับสูง แต่ความท้าทายของการส่งออกจะอยู่ที่ปี 52 ซึ่งการส่งออกมีโอกาสเผชิญกับการชะลอตัวจากทั้งด้านปริมาณและราคา |
. |
"หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคหลักต่างๆ จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในปีหน้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ก็คงจะไม่ปรับเพิ่มมากเหมือนปี 51 โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการอาจหดตัวลงได้ ดังนั้นภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงควรหาแนวทางรับมือกับแนวโน้มการส่งออกที่อาจชะลอตัวลงอย่างมากในปีข้างหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ |