เนื้อหาวันที่ : 2006-09-05 17:46:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2002 views

เอกรัฐโซล่าร์ ไปนอก โชว์ศักยภาพ รง.ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์

บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด ผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า และธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย เตรียมรุกตลาดต่างประเทศ เดินสายโรดโชว์เทคโนโลยีและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ยุโรป

บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด (บริษัทย่อย) ผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า และธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย เตรียมรุกตลาดโซล่าร์เซลล์ในต่างประเทศ ประเดิมเดินสายโรดโชว์เทคโนโลยีและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของบริษัทฯ ในงานประชุมเพื่อการพัฒนานโยบายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แห่งสหพันธ์ยุโรป European Photovoltaic Solar Energy Conference and Exhitbition ครั้งที่ 21 ที่จะมีขึ้น ณ เมืองเดรสเด็น ประเทศเยอรมนี หวังสร้างชื่อในหมู่ผู้ประกอบการในธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ในต่างประเทศ

.

ดร. วิวัฒน์ แสงเทียน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด เปิดเผยถึงรายละเอียดในการเป็นผู้ประกอบการไทยรายเดียวในการร่วมงานดังกล่าวว่า เอกรัฐโซล่าร์ได้รับการติดต่อจากกลุ่มสหพันธ์ยุโรปเพื่อการพัฒนานโยบายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้ร่วมงานประชุมดังกล่าว เพื่อร่วมแสดงผลงานและเทคโนโลยีของเอกรัฐโซล่าร์ ในฐานะผู้ประกอบการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ซึ่งมีโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ที่จะแล้วเสร็จในปี 2550 ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แห่งแรกในภูมิภาค ซึ่งบริษัทฯ ได้ตอบตกลงในการร่วมงานดังกล่าว ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 8 กันยายน 2549 ณ เมืองเดรสเด็น ประเทศเยอรมัน ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อันดับหนึ่งของโลก

.

การเข้าร่วมงานประชุมดังกล่าว ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเอกรัฐโซล่าร์ ในการสร้างชื่อเสียงของบริษัทฯ ให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ เพราะในงานดังกล่าวจะมีตัวแทนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จากทั่วโลกเข้าร่วมงาน จึงถือว่านอกจากจะเป็นเกียรติในฐานะบริษัทฯคนไทยรายแรกที่ได้ร่วมงานดังกล่าวแล้ว ยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการประกาศศักยภาพของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ดร.วิวัฒน์ กล่าว

.

นอกจากนี้ การเข้าร่วมงานประชุมดังกล่าว ยังถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในแผนรุกตลาดต่างประเทศของธุรกิจผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ของบริษัทฯอย่างชัดเจน เนื่องจากประเทศเยอรมัน ถือเป็นศูนย์กลางของธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ของยุโรป และที่ผ่านมาในกลุ่มประเทศยุโรปมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ที่สูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อีกทั้งเอกรัฐ   โซล่าร์มีการจำหน่ายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มประเทศยุโรปเป็นสัดส่วนที่สูงมาก โดยเฉพาะในประเทศเยอรมันมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเยอรมันที่มีอย่างจริงจัง

.

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตและสภาพอุตสาหกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในตลาดโลกมีการขยายตัวสูงถึงกว่า 38 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อันเนื่องมาจากนโยบายการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกระแสความตื่นตัวอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมดังกล่าวมีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้น และจากการคาดการณ์ของ Credit Lyonnais Security Asia (CLSA) ได้ประมาณการว่ามูลค่าอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์จะขยายตัวจาก 290,000 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 1,250,000 ล้านบาท (25 พันล้านยูโร) ในปี 2553 โดยคาดว่าจะมีจำนวนเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผลิตและจำหน่ายถึง 5.3 กิกะวัตต์

.

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยเริ่มมีการเติบโตที่ชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงและเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ อาทิ มาตรการกำหนดสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน (Renewable Portfolio Standard : RPS) และ โครงการโซล่าร์โฮม อีกทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น เหล่านี้จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการทางด้านพลังงาน พร้อมที่จะหันมาใช้พลังงานทดแทนรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ถือว่าเอกรัฐวิศวกรรมเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ได้เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ดังกล่าว และทันทีที่มาตรการนี้ประกาศใช้อย่างชัดเจน เชื่อว่า ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์จะมีการเติบโตในทิศทางที่ดีกว่าที่กำลังการผลิตจะสนองความต้องการของตลาดได้

.

นอกจากนี้ ดร.วิวัฒน์ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ว่า ขณะโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ของบริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ โดยจะมีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทำการติดตั้งในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อจะแล้วเสร็จและเริ่มการผลิตได้ในต้นปี 2550 แน่นอน

.

โรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เอกรัฐโซล่าร์ที่จะแล้วเสร็จในต้นปี 2550 นั้น ได้วางแผนสำหรับกำลังการผลิตในระยะแรกที่ 25 เมกะวัตต์ต่อปี และจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไปจนถึง 50 เมกะวัตต์ โดยมีการตั้งเป้าการผลิตในระยะแรกไว้ที่ 12 เมกะวัตต์ โดย 6 เมกะวัตต์แรกจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการอยู่ และอีก 6 เมกะวัตต์จะส่งออกไปขายในประเทศจีน อินเดีย ไต้หวัน และยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง นอกจากนั้นจากการประเมินราคาเซลล์ในปัจจุบัน คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มจากการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในปีแรกที่เริ่มดำเนินการกว่า 1,400 ล้านบาท ดร.วิวัฒน์ กล่าว